รีเซต

นักวิทย์ศาสตร์หัวใส! สร้างพลาสติกแบบย่อยสลายได้จาก ‘ไม้’

นักวิทย์ศาสตร์หัวใส! สร้างพลาสติกแบบย่อยสลายได้จาก ‘ไม้’
TNN ช่อง16
27 มีนาคม 2564 ( 16:37 )
87
นักวิทย์ศาสตร์หัวใส! สร้างพลาสติกแบบย่อยสลายได้จาก ‘ไม้’

พลาสติกทั่วไปนั้นใช้เวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลายทางชีวภาพ มันจึงกลายเป็นวัสดุที่ก่อมลพิษที่ใหญ่ที่สุดในโลก ดังนั้นจึงได้มีนักวิทยาศาสตร์ที่ทำการค้นหาว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ด้วยการใช้วัสดุธรรมชาติเช่น ‘ไม้’ มาผลิตเป็นพลาสติกเสียเลย!

ทีมนักวิทยาศาสตร์จาก Yale School of the Environment (YSE) และ University of Maryland ได้พัฒนาพลาสติกคุณภาพสูงที่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพและนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งทำมาจากเนื้อไม้ โดยพวกเขาหวังว่าจะเป็นพลาสติกแบบใหม่ที่สามารถใช้หมุนเวียนและย่อยสลายได้ง่ายขึ้น ซึ่งในการทำให้ไม้กลายมาเป็นพลาสติก ทีมวิจัยได้ค้นพบวิธีการแยกโครงสร้างของเมทริกซ์ที่มีรูพรุนของไม้ธรรมชาติ ให้กลายเป็นสารละลาย (Slurry) ที่มีลักษณะเป็นของแข็งที่หนาแน่นกว่าน้ำ


ในการสร้างส่วนผสมของสารละลายนี้ ทีมวิจัยได้นำผงไม้และใช้วิธีทำละลายจนได้มาซึ่งผลลัพธ์เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงสูง ห่อหุ้มของเหลวได้ดี และทนต่อแสง UV นอกจากนี้ยังสามารถย่อยสลายทางชีวภาพและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดอายุการใช้งานต่ำกว่าพลาสติกที่ทำจากปิโตรเลียมอีกด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วตัววัสดุนี้ก็สามารถนำมาหล่อและรีดเป็นถุงพลาสติกได้ง่ายโดยไม่แตกตัวออก เนื่องจากมีความแข็งและหนืดมากพอนั่นเอง


หลังจากได้ตัวถุงพลาสติกมาแล้ว ทีมวิจัยก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น พวกเขาได้เปรียบเทียบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของพลาสติกชีวภาพกับพลาสติกทั่วไป โดยการฝังแผ่นพลาสติกชีวภาพลงในดิน หลังจากผ่านไปสองสัปดาห์พบว่าพลาสติกชีวภาพตัวใหม่มีการแตกออก และหลังจากนั้นภายในสามเดือนก็สลายไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งสั้นกว่าเวลาย่อยสลายของพลาสติกทั่วไปที่ใช้เวลาสองสามร้อยปีมากทีเดียว

ความพิเศษยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะพลาสติกชีวภาพตัวใหม่นี้สามารถนำชิ้นส่วนของมันมาแยกย่อยกลับลงในสารละลายเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย


แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากการใช้พลาสติกชีวภาพนี้ก็คืออาจจะทำให้ต้องใช้ทรัพยากรป่าไม้เพิ่มมากขึ้นในการผลิตพลาสติกชีวภาพตัวใหม่นี้ในจำนวนมาก ดังนั้นในตอนนี้ทีมวิจัยจึงได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมนักนิเวศวิทยาป่าไม้ เพื่อสร้างแบบจำลองป่าไม้ เพื่อศึกษาและเชื่อมโยงวงจรการเติบโตของป่าไม้กับกระบวนการผลิตที่จะเกิดขึ้น

ซึ่งถ้าทีมหาทางออกที่ปลอดภัยให้กับกระบวนการผลิตนี้ได้ ไม่แน่ว่าเราอาจจะมีทางเลือกใหม่ ๆ ที่จะช่วยดูแลโลกให้ดีกว่าเดิม เพราะพลาสติกชีวภาพนี้จะช่วยลดมลพิษจากพลาสติกแบบทั่วไปได้อย่างมากเลยทีเดียว


ขอบคุณข้อมูลจาก

interestingengineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง