เปิดเครื่อง!!ฟื้นฟู การบินไทย เร่งทำรายได้ใช้คืนเจ้าหนี้!
ติดตามกันมานานกับกรณี การบินไทย สายการบินแห่งชาติของไทยที่ประสบกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง จากผลกระทบหลายด้านจนต้องออกมาเปิดเผยว่า " ขาดสภาพคล่อง" และแก้ปัญหาโดยการ "ปลดพนักงาน" นับหมื่นคน หรือแม้แต่การยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราว ในที่สุดต้อง "ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ"
ทำให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย โดยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการจะดำเนินการทั้งศาลล้มละลายไทยและศาลล้มละลายสหรัฐ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ศาลได้นัดไต่สวนในคดีหมายเลขดำ ฟฟ10/2563 กรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีกลุ่มเจ้าหนี้เป็นผู้ยื่นคัดค้าน ซึ่งศาลได้มีการไต่สวนไปทั้งหมด 3 นัดด้วยกัน ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางนัดอ่านคำสั่งพิจารณาคดีเมื่อวานนี้ (14 ก.ย.63) โดยที่ผลการตัดสินมีคำสั่งให้ "การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ" และให้มีผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการตามที่เสนอ
เหตุใดศาลล้มละลายกลางจึงตัดสินให้ "การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ"
ในการพิจารณาของศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณางบแสดงฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มี.ค. และวันที่ 30 มิ.ย. ลูกหนี้มีหนี้สินทางการเงินมากกว่าสินทรัพย์และส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ นอกจากนี้ปัจจุบันลูกหนี้มีหนี้สินที่ถึงกำหนดชำระ โดยลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ที่ถึงกำหนดได้ ซึ่งในเรื่องนี้เจ้าหนี้ผู้คัดค้านในคดีก็ไม่ได้นำสืบเป็นอย่างอื่น ลูกหนี้จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ โดยเป็นเจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ล้างไพ่! การบินไทย ฟื้นสายการบินแห่งชาติ
- เปิดแนวทางฟื้นฟูการบินไทย ยึดหลักสหกรณ์ชำระหนี้ยุติธรรม
- "สหภาพแรงงานฯการบินไทยสิ้นสภาพ"ส่งผลไหมต่อแผนฟื้นฟู?
- เปิดปมจ่อยุบ "ไทยสมายล์" ขณะศาลล้มละลายยังไต่สวนไม่จบ
ขณะเดียวกัน การบินไทย ยังเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมีความจำเป็นต่อระบบการคมนาคมและขนส่งทางอากาศ มีทรัพยากรในการดำเนินธุรกิจที่มีมูลค่าและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งมีชื่อเสียงและประสบการณ์จากการประกอบกิจการมานาน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ประสบปัญหาการเงินไม่ได้มาจากพื้นฐานของธุรกิจ แต่เป็นสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหากไม่ได้รับการฟื้นฟูกิจการย่อมเกิดความเสียหายทั้งต่อการบินไทย ลูกจ้าง เจ้าหนี้ ผู้ลงทุนและเศรษฐกิจของประเทศ การฟื้นฟูกิจการทำให้การบินไทยดำเนินธุรกิจต่อได้ มีรายได้มาชำระหนี้และรักษาการจ้างงาน มีประโยชน์กว่าปล่อยให้ล้มละลาย
ซึ่งจากการพิจารณาประกอบหลายด้าน พบว่าการบินไทยมีคุณสมบัติครบถ้วนและมีสิทธิยื่นคำร้องได้ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/3 และได้ความจริงครบถ้วนตามมาตรา 90/10
ต่อจากนี้ เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน
หลังจากศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ กรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยเจ้าหนี้จะสามารถดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ หรือจะนำเอกสารมาที่ บมจ. การบินไทยสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อให้การบินไทยและกรมบังคับคดีช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ออนไลน์ โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประกาศในราชกิจจานุเบกษา
โดยเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนการตัดสิน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ขั้นตอนหลังจากนี้การบินไทยจะให้เจ้าหนี้มายื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งการบินไทยและกรมบังคับคดีเตรียมพร้อมแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือน นับแต่คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยจะต้องหารือเจ้าหนี้ที่คุ้นเคย และเมื่อยื่นแผนฟื้นฟูไปมีเจ้าหนี้สนับสนุน 50-60% ส่วนที่คัดค้านก็รับฟังมี 15-16 ราย เป็นหนี้ไม่เกิน 1-2% ของหนี้ทั้งหมด ส่วนกลุ่มผู้โดยสารที่กังวลตั๋วเครื่องบิน กลุ่มรอยัล ออร์คิด พลัส (Royal Orchid Plus) ยืนยันว่าเป็นกลุ่มที่การบินไทยต้องดูแลแน่นอน
กระบวนการฟื้นฟูอาจยืดเยื้อ 7 ปี
คณะกรรมการจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายน ปี 2564 และหากกระบวนการดำเนินไปได้ตามแผนก็อาจจะใช้เวลาในการฟื้นฟูราว 5 ปี หรือหากยืดเยื้อก็อาจจะยืดเยื้อต่อไปอีก 1-2 ปี รวมๆก็จะประมาณ 7 ปี เนื่องจากขั้นตอนการดำเนินการตามแผนตามคำสั่งศาลฯนั้น จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฯ แต่สามารถขยายได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ซึ่งต่างก็คาดการณ์กันว่าคงจะยืดเยื้อ เพราะการจะจัดการปัญหาเรื่องหนี้และเข็นรายได้ให้กลับมานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ!!
เผยแผนฟื้นฟูเบื้องต้น 5 แนวทาง
แนวทางการแก้ไขปัญหาช่องทางการฟื้นฟูกิจของ การบินไทย เบื้องต้น ประกอบด้วย 5 แนวทาง คือ
- การปรับโครงสร้างหนี้ เจรจาเจ้าหนี้ โดยให้ภาระการชำระหนี้และระยะเวลาการชำระหนี้สอดคล้องกับกระแสเงินสด พร้อมหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น และปรับโครงสร้างเงินทุนระยะยาว
- ปรับปรุงเส้นทางการบินและฝูงบิน ด้วยการยกเลิกเส้นทางการบินที่ไม่ทำกำไร รวมทั้งปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเส้นทางการบินและลดประเภทเครื่องบินเพื่อลดต้นทุน
- ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน โดยเพิ่มความคล่องตัวในการบริการจัดการ เช่น ตั้งบริษัทย่อย จัดหาพันธมิตรทางธุรกิจร่วมทุน และหาโอกาสทางธุรกิจใหม่
- ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ โดยปรับปรุงระบบและรูปแบบการจำหน่ายบัตรโดยสาร เช่น อินเตอร์เน็ตและแพลตฟอร์มอื่นให้มากขึ้น
- ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ ลดงานที่ซ้ำซ้อน เพิ่มศักยภาพแต่ละหน่วยธุรกิจ ปรับจำนวนพนักงานและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการของพนักงานได้ปรับเข้าระบบประกันสังคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
สำหรับ ผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยเสนอต่อศาลล้มละลายกลางประกอบด้วย บริษัท อีวาย ฯ ร่วมกับกรรมการบริษัทอีก 6 คน คือ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
การทำแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวนี้จุดมุ่งหมายสำคัญของ การบินไทย ก็เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และปรับโครงสร้างกิจการการบริหารองค์กรให้เหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน และให้มีรายได้สามารถชำระหนี้เจ้าหนี้ได้ ซึ่งถือเป็นโจทย์ยากระดับ "หิน" โดยเฉพาะการจัดการกับ "ภาระหนี้ท่วมหัว" ที่มีอยู่ และคงต้องฝากความหวังไว้ที่ทีมดูแลแผนฟื้นฟูว่าจะกู้ การบินไทย ให้กลับมาผงาดได้อีกครั้งได้หรือไม่??
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE