รีเซต

สนุกกับการถ่ายภาพด้วยหุ่นยนต์กล้อง Glambot | TNN Tech Reports

สนุกกับการถ่ายภาพด้วยหุ่นยนต์กล้อง Glambot | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
7 สิงหาคม 2566 ( 17:43 )
201
สนุกกับการถ่ายภาพด้วยหุ่นยนต์กล้อง Glambot | TNN Tech Reports



หากใครได้ติดตามงานมอบรางวัลออสการ์ในปี 2019 - 2020 จะสังเกตเห็นหุ่นยนต์กล้องสุดล้ำตัวหนึ่งที่เข้ามาทำหน้าที่แทนช่างภาพ ทำให้เหล่าดาราระดับเอลิสต์แถวหน้า ได้มีภาพถ่าย Slow Motion แบบใหม่ออกสู่สายตาชาวโลก โดย โคล วอลลิเซอร์ (Cole Walliser) ช่างภาพและผู้กำกับชาวแคนาดา เป็นหนึ่งในผู้ที่นำเจ้าหุ่นยนต์ถ่ายภาพขั้นสูง หรือ Glambot มาใช้ถ่ายทำจนเรียกเสียงฮือฮาทั่วโลกเป็นที่แรก ๆ


ซึ่งหนึ่งในภาพที่เป็นไวรัลไปทั่วโลก คือ ช็อตของนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Parasite ที่ถ่ายในงานประกาศรางวัลออสการ์ ซึ่งดึงดูดให้ผู้คนอยากรู้จักเจ้าหุ่นยนต์ถ่ายภาพตัวนี้มากขึ้น



ความสามารถของ Glambot 


Glambot คือ หุ่นยนต์กล้องถ่ายภาพที่มีสามารถในการถ่ายภาพด้วยความเร็วสูง ให้ภาพความละเอียด 2048x1080 พิกเซล หรือ 2K โดยสามารถเพิ่มความคมชัดได้ถึง 4K ตามอุปกรณ์ที่ใช้งาน เจ้าหุ่นยนต์นี้สามารถถ่ายภาพแนว Slow Motion ได้ 360 องศา และที่พิเศษคือ เราสามารถเห็นภาพผลงานได้ทันทีหลังจากที่ถ่ายภาพได้ทันที


จากกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมากนี้ ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับ บริษัท อะโพสโทรฟีเอส กรุ๊ป บริษัทไทยผู้เชี่ยวชาญด้านงานอีเว้นท์และงานนิทรรศการ ในการพัฒนาหุ่นยนต์กล้อง Galmbot ตัวแรกและตัวเดียวในประเทศไทย ที่มีชื่อว่า “หุ่นยนต์อัลเฟรด”  ประกอบกับช่วงหลังโควิด-19 ที่เหล่าบรรดาผู้จัดงาน ไม่ว่าจะเป็น งานอีเว้นต์ งานประกวด งานประกาศรางวัล ที่ต่างก็ต้องการหากลยุทธ์หมัดเด็ดมาสร้างสีสันให้กับงานของตัวเอง หุ่นยนต์อัลเฟรดจึงกลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ผู้จัดงานให้ความสนใจเพื่อเป็นตัวดึงดูดผู้เข้าร่วมงาน



โดยเบื้องหลังภาพถ่ายที่สวยงามและคมชัดจากหุ่นยนต์อัลเฟรด มาจากคุณสมบัติหลายด้าน เช่น ความสามารถในการหมุน 180 องศา ที่ทำได้รวดเร็วในระดับวินาที รวมถึงยังมีความแม่นยำที่เสถียรกว่าการใช้คนมาถ่ายภาพในรูปแบบเดียวกัน 


ขณะที่ความท้าทายอย่างหนึ่งในการพัฒนาอัลเฟรด คือส่วนของแขนหุ่นยนต์ที่ใช้ติดตั้งกล้อง เพราะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะตัวในการสร้างและพัฒนาขึ้นมา  



ข้อจำกัดของ Glambot


แม้ว่าหุ่นยนต์อัลเฟรดจะให้ภาพถ่ายที่สวยงาม คมชัด และสร้างความสนุกให้กับผู้ที่อยู่ในภาพ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ทำให้การใช้งานหุ่นยนต์ถ่ายภาพนี้ยังไม่แพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเช่าใช้งานที่สูงระดับหลายหมื่นถึงแสนบาท การพัฒนาทักษะของทีมงานในการดูแลและควบคุมหุ่นยนต์อัลเฟรดให้มีความพร้อมเพื่อการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ  ซึ่งทีมงานจะต้องผ่านการเทรนด์หรือฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพื้นที่ติดตั้งหุ่นยนต์ก็ต้องแข็งแรงมากพอที่จะรองรับน้ำหนักได้ด้วย



อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาเช่าจะค่อนข้างสูงและตัวหุ่นยนต์มีน้ำหนักมาก แต่ด้วยเทคนิคการถ่ายภาพแปลกใหม่จากหุ่นยนต์อัลเฟรด ที่ทำให้ผู้คนได้ร่วมสนุก คิดและโพสต์ท่าทางในเวลาอันจำกัดเสมือนการถ่ายรูปในตู้สติกเกอร์ยอดฮิตในยุค 90 จึงทำให้ผู้จัดงานทั้งหลายเลือกเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ไปเป็นสิ่งดึงดูดผู้ร่วมงานและสร้างสีสันให้บรรยากาศภายในงาน


ส่วนการพัฒนาในอนาคต บริษัทจะมีการจับมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเข้ามาช่วยพัฒนาหุ่นยนต์แบบอื่น ๆ ตั้งเป้าสู่การต่อยอดในอุตสาหกรรมที่หลากหลายมากขึ้น


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง