รีเซต

“ไมค์ ภิรมย์พร” นักร้อง “ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน” กับการปฏิวัติเพลงลูกทุ่ง

“ไมค์ ภิรมย์พร”  นักร้อง “ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน”  กับการปฏิวัติเพลงลูกทุ่ง
TNN ช่อง16
1 พฤษภาคม 2567 ( 12:42 )
64
“ไมค์ ภิรมย์พร”  นักร้อง “ขวัญใจผู้ใช้แรงงาน”  กับการปฏิวัติเพลงลูกทุ่ง

รัฐชาติจะดำเนินไปได้อย่างมั่นคง การมี “ผู้บริหารประเทศ” ที่เก่งกล้าสามารถ หรือการมี “ข้าราชการ” ที่ซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ที่สำคัญที่สุด หนีไม่พ้น “แรงงาน” ที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ “จากเบื้องล่าง” และเป็น “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ให้ประเทศมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไปได้


อย่างไรเสียแรงงานมักเป็น “ผู้ที่ถูกลืม” อยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น การสร้างความตระหนักรู้หรือการเร้าอารมณ์แก่ผู้คนที่ดีที่สุดจึงต้องมาจาก “บทเพลง” โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งซึ่งได้รับความนิยมในวงกว้าง


ท่ามกลางเพลงลูกทุ่งที่มักบรรยายถึงท้องไร่ท้องนา แต่ได้มีนักร้องท่านหนึ่งที่ได้ “เล่นฉีก” มาในแนวเพลง “สะท้อนความลำบากของแรงงานในเมืองหลวง” นั่นก็คือ “ไมค์ ภิรมย์พร”


ยิ่งไปกว่านั้น การทำแนวเพลงเช่นนี้ยังเป็นการ “ปฏิวัติเพลงลูกทุ่ง” เมื่อเข้าสู่ยุคยุคมิลเลนเนียมอีกด้วย


ร่วมติดตามรอยทางการสร้างตำนานของ “นักร้องขวัญใจผู้ใช้แรงงาน” ท่านนี้ได้ ณ บัดนี้


จากแดนอีสานบ้านเกิดเมืองนอน มาเล่นละครบทชีวิตหนัก


ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่า แนวเพลงลูกทุ่งในช่วงก่อนมิลเลนเนียม เป็นการต่อสู้ระหว่าง “ลูกทุ่งสตริง” และ “ลูกทุ่งหมอลำ” โดยเป็นช่วงขาขึ้นของลูกทุ่งหมอลำอย่างมาก ไล่มาตั้งแต่ พรศักดิ์ ส่องแสง, สาธิต ทองจันทร์, รุ่งโรจน์ เพชรธงชัย, จินตหรา พูนลาภ, ศิริพร อำไพพงศ์ หรือร็อคสะเดิด


แน่นอนว่า สิ่งที่เน้นหนักคือ “แนวทำนอง” ส่วนเนื้อหายังคงเป็นเรื่องชนบท ท้องทุ่ง หรือความรัก เป็นที่ตั้ง


แต่ “พรภิรมย์ พินทะปะกัง” ชื่อจริงของไมค์ ภิรมย์พร ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากที่เขาได้รับโอกาสจาก “แกรมมี่โกลด์” ค่ายเพลงลูกทุ่งในเครือ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” เป็นศิลปิน “คนแรก” ของค่าย ในอัลบั้มชุดเปิดตัว กลับสร้างเซอรืไพร์สแก่วงการเป็นที่สุด


“คันหลังก็ลาว” บทเพลงไตเติ้ล กล่าวถึงชาวอีสาน ที่มา “ขายแรงงาน” ในเมืองกรุงแบบชัดเจน รวมถึงเพลง “ผู้อยู่เบื้องหลัง” ที่กล่าวถึงความยากลำบากของแรงงานแบบตรง ๆ ว่าเป็นพวก “ทำดีไม่มีใครเห็น” โดยมีเนื้อเพลง ดังนี้


“ตึกนี้สูงใหญ่มือไผเล่าสร้าง ทั่วทุกเส้นทาง ไผสร้างไผเฮ็ดถนน นั่งนอนซำบาย ฮู้บ่ไผหนอทุกข์ทน กรำแดด กรำฝน แบกขนนั่นแม่นผู้ใด

ข้าวนี้คำนี้ไผที่ปลูกข้าว ฮู้บ้างหรือเปล่า ว่าข้าวนั้นมาจากไหน เสื้อผ้าสดสวย แฟชั่นที่ทันสมัย สวยที่คนใส่ คนเฮ็ดบ่มีไผชม

หมู่เฮา คือผู้อยู่เบื้องหลัง คือผู้สรรค์สร้าง เพื่อคนอื่นได้สุขสม หยาดเหงื่อแรงงาน มีส่วนสร้างสรรค์สังคม บ่มีไผชม หมู่เฮายังเฝ้าภูมิใจ

บ้านเมืองนี้ดูดีสวยเด่น ไผบ้างสิเห็น สิฮู้ความจริงบ้างไหม ผู้กวาดถนน ผู้ขนขยะคือไผ ทุ่มเทกายใจ มอบความสุขให้มวลชน”


กระนั้น แม้เนื้อหาจะถือว่าแปลกใหม่แต่ว่าด้วยเรื่องของ “ความนิยม” อัลบั้มนี้ถือว่า “ไม่ประสบความสำเร็จ” โดยสิ้นเชิง


อาจเป็นด้วยเหตุนี้ แนวเพลงในอัลบั้มต่อมาจึงหันไปทางหมอลำตามกระแสผู้บริโภค โดยเฉพาะเพลง “น้ำตาหล่นบนโต๊ะจีน” รวมไปถึงอัลบั่มชุดที่ 3 “สัญญาคนรักรถ” และชุดที่ 4 “หัวใจลอยตัว” 


แต่ไม่น่าเชื่อ ว่าชื่อเสียงไมค์ก็ยังคง “เงียบเป็นเป่าสาก” ทีเดียว


เรื่องนี้ไมค์ได้เปิดเผยด้วยตนเองในรายการที่นี่หมอชิตว่า “เป็นช่วงลองผิดลองถูก … เราเองก็ไม่แน่ใจว่าจะร้องหมอลำหรือร้องลูกทุ่ง” อีกทั้ง ครูสลา คุณวุฒิ ยังได้กล่าวเสริม ความว่า “เวลาเขาร้องหมอลำ ผู้ใหญ่แกรมมี่บอกว่า เต้นแล้วไม่น่ารัก เต้นแล้วน่าหมั่นไส้ … ไมค์ร้องหมอลำคนไม่ยอมรับ แต่พอร้องแนวชีวิต คนชอบ”


ซึ่งเป็นเช่นที่ครูสลากล่าว เพราะเพลง “ละครชีวิต” ในอัลบั้มชุดที่ 2 ได้รับความนิยมพอสมควร โดยมีเนื้อเพลง ดังนี้


“จากแดนอีสาน บ้านเกิดเมืองนอน มาเล่นละคร บทชีวิตหนัก จากพ่อแม่มา พบพาคนไม่รู้จัก

จากคนที่รัก จำลามาหางานทำ

อาบเหงื่อต่างน้ำ คร่ำอยู่กับงาน ขยันทุกวัน ด้วยความรู้ต่ำ เหนื่อยยากเท่าใด ใช้แรง แลกเงินเช้าค่ำ แต่มันต้องช้ำ ทำมาหาได้ไม่พอ

หมดแรงอ่อนล้า นี่แหละหนาคนจน สู้และดิ้นรน บางครั้งก็โดน

ผู้คนลวงล่อ ตกงานบ่อยครั้ง เงินซื้อ ข้าวยังไม่พอ มันท้อ มันตรมเพียงใด

ช้ำใจ ปวดร้าว

กลับแดนอีสาน บ้านเกิดเมืองนอน ลาแล้วละคร บทชีวิตเศร้า ทุ่มเทเท่าไร ได้มา แค่ความว่างเปล่า

กลับมาบ้านเรา ยังมีพ่อแม่เฝ้ารอ”


แต่ใครเลยจะรู้ว่าพอไมค์ออกอัลบั้มชุดที่ 5 จะเป็นการสร้างชื่อเสียงอย่างถล่มทลาย ทั้งยัง “ปฏิวัติเพลงลูกทุ่ง” อย่างแท้จริง


เป็นแฟนคนจน ต้องทนหน่อยน้อง


ก่อนอื่นนั้น ต้องกล่าวว่า ทางแกรมมี่ ได้บีบไมค์ และครูสลา มาอีกที ว่าหากชุดที่ 5 ยังไม่เปรี้ยงปร้าง ไมค์ต้องกลับไปทำนาที่อุดรธานี ส่วนครูสลาก็ต้องกลับอุบลราชธานีไปเป็นครูประชาบาล


ซึ่งก็มีแววเป็นเช่นนั้นสูงมากเพราะอัลบั้มชุดที่ 5 ตามรอย 4 ชุดก่อนหน้าเรื่องความเงียบมาติด ๆ


แต่แล้ว ก็เหมือนสวรรค์มาโปรดเพราะเพลง “ยาใจคนจน” ซึ่งไม่ได้เป็นเพลงไตเติ้ล กลับเป็นที่นิยมของ “ผู้ใช้แรงงาน” ที่มักจะโทรมาขอเพลงกับดีเจบ่อยครั้ง ดังนั้น แกรมมี่จึงเสนอแนวทางใหม่ ให้ “รีโปรดักส์” อัลบั้มชุดที่ 5 เป็นไตเติ้ลเพลงยาใจคนจนแทนของเดิมที่วางขายไปก่อนหน้า


ปรากฎว่าดังเป็นพลุแตกไมค์แจ้งเกิดได้อย่างเต็มภาคภูมิเป็นขวัญใจของ “คนจน” ไปโดยปริยาย และนี่คือเนื้อเพลง ยาใจคนจน เพลงระดับ “ขึ้นหิ้ง” เลยทีเดียว


“เป็นแฟนคนจน ต้องทนหน่อยน้อง พี่นี้ไม่มีเงินทอง มารองรับความลำบาก

ในแต่ละวัน พี่นั้นต้องทำงานหนัก ถ้าไม่มีใจรัก ใครหนอจะร่วมทางได้

ปัญหามากมาย พาใจอ่อนล้า ทั้งทั้งไม่เจตนา แต่ปัญหาก็มาจนได้ จึงอยากให้น้อง ช่วยมองด้วยความเห็นใจ อุปสรรคจะมีเท่าใด ขอใจเรายิ้มให้กัน

ลำบากยากเข็ญ เช้าเย็นขอให้เห็นหน้า เมื่อเจอปัญหา น้องอย่าตัดสายสัมพันธ์ อยู่เป็นแรงใจ เติมไฟให้กันและกัน เพียงเรามีเราเท่านั้น สร้างฝันให้สมดังใฝ่

เป็นแฟนคนจน ต้องทนหน่อยน้อง อย่าแคร์สายตาคนมอง อย่าหมองเมื่อยามแพ้พ่าย อย่าเพิ่งด่วนลา เมื่อเจอปัญหาใดใด ยืนเคียงเพื่อคอยยิ้มให้ เป็นยาชุบใจคนจน”


เช่นนี้ ทางแกรมมี่จึงค้นพบแนวทางที่จะ “ขาย” ไมค์แล้วว่า ต้องจับ “ตลาดแรงงาน” ที่มีจำนวนมากเป็นกลุ่มตลาดของไมค์ แนวเพลงในอัลบั้มหลังจากนั้น จึงเป็นไปเพื่อ “สะท้อนชีวิตแรงงาน” ทั้งสิ้น


หากพิจารณาเช่นนี้จะพบว่าแนวเพลงดังกล่าว คือ การปฏิวัติวงการเพลงลูกทุ่งอย่างมาก โดยเป็นภาพสะท้อนแรงงานในเมืองหลวงที่ส่วนใหญ่มักจะต้องทำงานหนัก แต่ขาดผู้ที่เหลียวแลและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในเพลงลูกทุ่ง ที่ก็จะเน้นแต่เรื่องความรัก ความอกหัก หรือความเศร้าส่วนบุคคล


อาจเป็นความที่ตัวไมค์เองเคยเป็นแรงงานมาก่อนจึงมีความเข้าใจ “เพื่อนร่วมอาชีพ” เป็นอย่างดี ทำให้สามารถที่จะ “ถ่ายทอดอารมณ์ของแนวเพลง” ออกมาได้อย่างกินใจแรงงานอย่างมาก


แนวทางนี้ เป็นต้นแบบให้กับศิลปินลูกทุ่งของแกรมมี่โกลด์ที่ตามมาภายหลัง นามว่า ประยูร ศรีจันทร์ หรือที่รู้จักในนาม “ไผ่ พงศธร” เจ้าของบทเพลง “คนบ้านเดียวกัน” ซึ่งก็เป็นการปฏิวัติเพลงลูกทุ่งอีกทางหนึ่ง ในฐานะเพลงลูกทุ่งแรงงาน ที่ขับร้องด้วย ”ภาษาอีสาน” เป็นหลัก 


เมื่อมาถึงตรงนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ไมค์ ภิรมย์พร คืออีกหนึ่งนักร้องลูกทุ่งที่จะต้อง “บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์” ว่าเป็นผู้ “รันวงการ” แนวเพลงสะท้อนชีวิตแรงงาน 


แม้ว่าตอนนี้ ไมค์จะผันตนเองไปทำหลายสิ่งหลายอย่างนอกเหนือจากการร้องเพลง โดยที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะเป็น ผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้า ตรา “แซ่บไมค์” ที่ถึงขนาดว่ารันวงการ “น้ำปลาร้าแปรรูป” ในประเทศไทย 


อีกทั้งยังมีการเป็น “นักแสดง” ซึ่งจริง ๆ ไมค์ได้ชิมลางมาตั้งแต่ละคร “นายฮ้อยทมิฬ” เมื่อปี 2544 หรือภาพยนตร์ “ครอบครัวตัวดำ” ปี 2550 และล่าสุดกับละคร “ดอกหญ้าป่าคอนกรีต” ปี 2566 ที่ผ่านมา


แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไมค์ ภิรมย์พร คือ “ระดับตำนาน” อย่างแท้จริง


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


วิทยานิพนธ์ วิเคราะห์ภาพสะท้อนสังคมในบทเพลงที่ขับร้องโดยไมค์ ภิรมย์พร

วิทยานิพนธ์ การศึกษาภาพสะท้อนสังคมจากบทเพลงของ สลา คุณวุฒิ ที่ขับร้องโดย ไมค์ ภิรมย์พร

วิทยานิพนธ์ วิถีอีสานจากเพลงลูกทุ่งของไมค์ ภิรมย์พร

วิทยานิพนธ์ บทบาทเพลงลูกทุ่งเพื่อชีวิตของไมค์ ภิรมย์พร ในการสื่อสารถ่ายทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชนชั้นแรงงาน ในเขตกรุงเทพมหานคร

https://www.youtube.com/watch?v=Qz-RwAKEOm0

https://www.youtube.com/watch?v=BVDcewelxgg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง