รีเซต

หายนะ "ปะการังไทย" โลกร้อนทำลายปะการังอายุร้อยปี ใน 3 เดือน

หายนะ "ปะการังไทย" โลกร้อนทำลายปะการังอายุร้อยปี ใน 3 เดือน
TNN ช่อง16
20 สิงหาคม 2567 ( 17:04 )
35
หายนะ "ปะการังไทย" โลกร้อนทำลายปะการังอายุร้อยปี ใน 3 เดือน

ปะการังฝั่งทิศใต้ของเกาะมัน และ กองหินต่อยหอย  ใน อ.แกลง จ.ระยอง เป็นแหล่งปะการังใหญ่ที่สุดใน จ.ระยอง และมีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในหมู่เกาะมันที่มีปะการังเนื้อที่รวม 1,204 ไร่  ทั้งสองจุดเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยปะการังน้ำตื้น ความลึก 1-4 เมตร แต่หลังจากพื้นที่ดังกล่าวต้องเผชิญกับวิกฤตปะการังฟอกขาว ที่เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ทะเลเดือด ทำให้ปะการังจำนวนมากตายลง 


ทีมสำรวจของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามผลกระทบจากปะการังฟอกขาวรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อราว 3 เดือนก่อนจนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล จากการสำรวจพบว่าปะการังตายจากการฟอกขาวเป็นจำนวนมาก ซึ่งอัตราการรอดของปะการังที่ฟอกขาวรุนแรง มีอยู่ที่ไม่ถึง 10%

 

โดยเฉพาะปะการังก้อนขนาดใหญ่ (เส้นผ่านศูนย์กลางเกิน 1 เมตร) จำนวน 50 ก้อนที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ในปี 2563 แต่กลับพบว่าในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 ทุกก้อนอยู่ในสภาพฟอกขาวและส่วนใหญ่อยู่ในระดับรุนแรง  ซึ่งในปัจจุบันเหลือรอดชัดเจนเพียง 1 ก้อน 


ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่าการสำรวจปะการังในรอบนี้ เป็นการสำรวจหลังจากอุณหภูมิน้ำทะเลเริ่มลดต่ำลง ซึ่งพื้นที่สำคัญที่ลงสำรวจมี 2 จุด คือ บริเวณเกาะมันใน และ หินต่อยหอย อ.แกลง จ.ระยอง ซึ่งเป็นจุดที่มีปะการังสมบูรณ์ที่สุด แต่ได้รับความเสียหายมากที่สุด และ ยังถือเป็นพื้นที่ที่พบผลกระทบปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุดในประเทศ 

โดยบริเวณหินต่อยหอย พบปะการังมากกว่า 90% ฟอกขาวแล้วตาย ซึ่งถือว่ารุนแรงมากหากเทียบกับปะการังฟอกขาวในพื้นที่อื่น ที่พบว่าหากปะการังเกิดฟอกขาวจะตายไปเพียง 20-30% แต่จุดที่เราสำรวจมีปะการังตายจำนวนมหาศาล 


นอกจากนี้ยังพบความแตกต่างของการอยู่รอดของปะการัง โดยจุดที่มีน้ำไหลดี คลื่นลมเข้าดี พบอัตราการรอดชีวิตของปะการังมากกว่าจุดที่น้ำค่อนข้างนิ่ง   โดยพบว่าปะการังฟอกขาวตายราว 40%  ส่วนเขตที่น้ำนิ่ง หรือ น้ำร้อนมากกว่า พบปะการังตาย ราว 90%   แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ ปะการังก้อนโต ซึ่งมีอายุมากกว่า 100 ปี ที่ฟอกขาวตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งการดำเนินการให้ปะการังก้อนใหญ่ฟื้นกลับมาสมบูรณ์เป็นเรื่องยาก และ ต้องใช้เวลานานมาก   


“ปะการังก้อนที่พบในพื้นที่มีความยาวขนาด 2 เมตร ซึ่งหมายความว่าต้องมีอายุมากกว่า 100 ปี  แต่กลับพบว่าปะการังเหล่านี้ตายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนที่เกิดปรากฏการณ์โลกร้อน มันยืนยันว่าโลกร้อนรุนแรงมาก สภาพทะเลเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ไม่เช่นนั้นปะการังกว่าพันคงไทชม่ตายทั้งหมด สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ภาวะปกติทางธรรมชาติ อย่างชัดเจน เป็นสัญญาณเตือนครั้งที่เท่าไหร่ไม่ทราบ แต่มันยังคงรุนแรงอยู่  

ที่สำคัญการตายของปะการังยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายของระบบนิเวศในทะเล เช่น สัตว์ทะเลในจุดนี้ที่เคยพบมากกว่า 50 ชนิด ปัจจุบันเหลือเพียง 25 ชนิด หรือ หายไปประมาณครึ่งหนึ่ง  ” ผศ.ดร.ธรณ์ อธิบาย


แม้ว่าปัญหาน้ำทะเลร้อนจัดจะเบาบางลงจากการสิ้นสุดของภาวะ “เอลนีโญ” แต่สถานการณ์ความอยู่รอดของปะการังกลับไม่ได้คลี่คลายลง เพราะปรากฏการณ์ “ลานีญา” ได้เข้าซ้ำเติมปัญหาการเอาตัวรอดของปะการังให้มากขึ้น 


ผศ.ดร.ธรณ์ ชี้ว่า “ลานีญา” ทำให้เกิดฝนตกหนัก และ น้ำท่วม ส่งผลทำให้น้ำที่ไหลระบายไปยังปากน้ำประแสร์ก่อนไหลลงทะเล เป็นมวลน้ำที่พาดินตะกินสีแดงมาด้วย ทำให้เกิดปัญหา 2 อย่าง คือ 1.ตะกอนที่มากับน้ำเข้าทับถมปะการังที่ใกล้ตาย ยิ่งทำให้อาการหนักขึ้น 2.น้ำที่ไหลลงสู่ทะเลทำให้ความเค็มของน้ำทะเลเจือจางลงทำให้หอยเม่นตาย นั่นทำให้ไม่มีอะไรมาปกป้องปะการังจากสาหร่ายทะเล เพราะปกติหอยเม่นจำทำหน้าที่กำจัดสาหร่ายทะเลที่มาเกาะตามปะการัง ซึ่งช่วยให้ปะการังที่ใกล้ตายมัโอการอดเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่แนวทางการแก้ปัญหาความเสียหายของปะการังในทะเลระยอง นักวิชาการมองว่าต้องพยายามอนุรักษ์แนวปะกรังที่รอดชีวิต โดยกำหนดจุดห้ามรบกวน ระมัดระวังความเสียหายที่เกิดจากการท่องเที่ยว หรือ การเดินเรือ  เพื่อทำให้พ่อ แม่พันธุ์ปะการังที่รอดชีวิตได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น แต่ยอมรับคงเป็นไปได้ยากที่ความสมบูรณ์จะฟื้นกลับมาเหมือนเดิมก่อนหน้านี้   ขณะเดียวกันการป้องกันปัญหาปะการังฟอกขาวคงไม่สามารถอาศัยการขับเคลื่อนของนักวิทยาศาสตร์ แต่ควรไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ ภาวะโลกร้อน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

 

“อยากฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ ให้ความสำคัญกับปัญหาปะการังฟอกขาวที่เกิดจากวิกฤตโลกร้อน เพราะปัญหาปะการังฟอกขาวชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ เราพยายามขับเคลื่อนการแก้ปัญหา แต่เข้าใจว่ารัฐบาลมีเรื่องเร่งด่วนจำนวนมาก แต่เราขอ 2 เรื่อง  คือ 1.ขอให้เร่งรัดเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถรอได้ จัดเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน     2. ขอให้มีการประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อประชาชน เพราะน้ำทะเลร้อนส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล ทำให้ชาวประมงจับสัตว์ทะเลได้ยากมากขึ้น  ซึ่งจะเห็นได้ว่าชาวประมงแม้เป็นกลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด แต่กลับได้รับผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนมากที่สุด” นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ทิ้งท้าย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง