บุญข้าวประดับดิน 2566 คืออะไร? มาทำความรู้จักประเพณีโบราณของชาวไทยอีสาน
บุญข้าวประดับดิน 2566 หรือบุญเดือนเก้า ประเพณีโบราณของชาวไทยอีสานที่ยังคงมีให้เห็นทางภาคอีสาน เป็นการทำพิธีเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่เปรต หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว คล้ายประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่นิยมไหว้ในวันสาทรจีน ด้วยการจัดของเซ่นไหว้ "ข้าวประดับดิน" จะประกอบด้วย ข้าว อาหารคาวหวาน หมากพลูและบุหรี่ โดยนิยมห่อหรือใส่กระทงวางไว้ตามพื้น หรือแขวนไว้ตามต้นไม้บริเวณวัด
บุญข้าวประดับดิน 2566
บุญข้าวประดับดิน เป็นพิธีที่เกิดขึ้นในวันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ญาติโยมนิยมถวายทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ และมีการเตรียมข้าว อาหารคาวหวาน หมากพลูและบุหรี่ โดยห่อด้วยใบตองหรือใส่กระทง พอรุ่งเช้าในวันแรม 14 ค่ำ เวลาประมาณ 4 ถึง 5 นาฬิกา ต่างนำห่อหรือกระทงที่เตรียมไว้นั้นถวายหรือแขวนในบริเวณวัด แสดงถึงการอุทิศให้เปรตหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว บางท้องถิ่นอาจทำก่อนถวายทานก็มี เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวประดับดิน
และประเพณีดังกล่าวยังถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์จรจัดที่หิว อดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่
บุญข้าวประดับดิน ประวัติที่ต้องรู้ไว้
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ระบุข้อมูลประวัติวันสำคัญดังกล่าวว่า มูลเหตุที่ทำให้เกิดบุญข้าวประดับดินมีว่า ครั้งสมัยพุทธกาล มีญาติของพระเจ้าพิมพิสารไปกินอาหารของพระสงฆ์ ตายไปแล้วจึงเกิดเป็นเปรต เมื่อพระเจ้าพิมพิสารไปถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์แล้ว มิได้อุทิศส่วนกุศลไปให้ ถึงเวลากลางคืนจึงพากันมาส่งเสียงรบกวนเพื่อขอส่วนบุญ พระเจ้าพิมพิสารจึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแจ้งเหตุให้ทราบ เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงีราบ จึงถวายสังฆทานแล้วอุทิศส่วนบุญส่วนกกุศลไปให้ญาติพี่น้อง จึงทำให้เกิดเป็นประเพณีบุญข้าวประดับดินขึ้น
ของเซ่นไหว้ บุญข้าวประดับดิน มีอะไรบ้าง?
กระทงข้าวประดับดิน
สำหรับข้าว อาหารคาวหวานที่ต้องห่อ หรือใส่ในกระทงในการทำบุญข้าวประดับดิน ที่ต้องนำไปวางไว้บนพื้นหรือแขวนตามวัดนั้น อาจมีดังนี้
- ข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ
- เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปเล็กน้อย
- กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง มะละกอ มันแกว อ้อย มะละกอสุก หรือขนมหวานอื่น ๆ ลงไป (ถือเป็นอาหารหวาน)
- หมากหนึ่งคำ บุหรี่หนึ่งมวน เมี่ยงหนึ่งคำ
วิธีไหว้ในพิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน
พิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน
หลังจากที่มีการเตรียมเครื่องไหว้ ของเซ่นไหว้สำหรับพิธีกรรมบุญข้าวประดับดินแล้วนั้น ในส่วนของพิธีกรรมมีดังนี้
- วันแรม 13 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ ด้วยการห่อด้วยใบตองขนาดเท่าฝ่ามือ และแบ่งไว้ 4 ส่วน ดังนี้
- ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูกันภายในครอบครัว
- ส่วนที่สองแจกให้ญาติพี่น้อง
- ส่วนที่สามอุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว โดยญาติโยมจะห่อข้าวน้อย
- ส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์ ในส่วนที่สาม
- เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจะไปวัดตั้งแต่เวลาตี 4 เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศลตามที่ต่าง ๆ ซึ่งการวางแบบนี้ เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย (วางเป็นระยะ ๆ ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบ ๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลองแต่อย่างใด
- หลังจากวางเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับบ้านเพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้น ชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทานถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จ ชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วทุก ๆ คน
และนี่คือประเพณีโบราณของชาวไทยอีสานที่ยังคงมีเสน่ห์ แถมยังเป็นการรวมตัวของลูกหลานมาร่วมทำพิธีบุญข้าวประดับดิน แต่อย่าลืมรักษามาตรการการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัดกันด้วย ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง จะได้สืบสานวัฒนธรรมที่ดี และยังช่วยลดเสี่ยงติดโควิดกันด้วยนะ