รีเซต

ยุโรปร้อนระอุ! สวรรค์ฤดูร้อนพังทลาย

ยุโรปร้อนระอุ!  สวรรค์ฤดูร้อนพังทลาย
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2568 ( 12:00 )
9

ยุโรปในฤดูร้อนที่เคยเป็นภาพฝันของนักท่องเที่ยวทั่วโลก กำลังถูกแปรเปลี่ยนโดยภาวะโลกร้อน ริมหาดอันเคยกว้างใหญ่ในเมืองมอนต์กัต ประเทศสเปน ปัจจุบันแทบไม่เหลือพื้นที่พอให้ปูนผ้าเช็ดตัว นับเป็นเพียงหนึ่งในหลักฐานที่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วทวีป

 

ตามแนวชายฝั่งของสเปน อิตาลี กรีซ ฝรั่งเศส และประเทศยุโรปตอนใต้ทั้งหลาย พายุที่ซัดชายหาดพังทลาย ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุณหภูมิที่พุ่งทะยาน น้ำท่วม และไฟป่าที่รุนแรง กำลังกลืนกินเมืองท่องเที่ยวชื่อดังที่เคยดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก แม้ในขณะที่ยุโรปกำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนในหลายพื้นที่ ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของวิกฤตที่ถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น

ในประเทศสเปน หาดทรายที่เคยดึงดูดนักท่องเที่ยวกลับถูกพายุลมและน้ำทะเลพัดพาไปทีละน้อย เมืองบาร์เซโลนาเพียงแห่งเดียวสูญเสียพื้นที่ชายหาดกว่า 30,000 ตารางเมตรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ชายหาดชื่อดังอย่าง Marina d’Or นอกเมืองบาเลนเซีย ก็ไม่รอดจากการกัดเซาะ หน่วยงานวิชาการประเมินว่าสเปนสูญเสียพื้นที่ชายหาดนับหลายแสนตารางเมตร และบางพื้นที่เริ่มเผชิญกับภาวะทะเลทรายรุกล้ำแผ่นดิน


รัฐบาลสเปนตระหนักดีถึงปัญหานี้ และยืนยันว่า "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" คือภัยคุกคามใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ โดยกำหนดให้การรับมือกับมันเป็น “วาระแห่งความมั่นคง” ของชาติ ท่ามกลางแรงต้านจากกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาที่คัดค้านนโยบายสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป รัฐบาลสเปนกลับเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยพยายามดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศหลายแสนล้านยูโรเพื่อสร้างงานด้านพลังงานสะอาด พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีคาดการณ์คลื่นความร้อนและฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือกับโรคที่เกี่ยวข้องกับอุณหภูมิ

 

ที่ระดับท้องถิ่น เมืองบาร์เซโลนาก็เดินหน้านโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยการจัดตั้งศูนย์หลบภัยจากคลื่นความร้อนหลายร้อยแห่ง และลงทุนกว่า 1.8 พันล้านยูโรเพื่อปรับเปลี่ยนอาคารให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขยายพื้นที่สีเขียว ติดตั้งโครงสร้างให้ร่มเงา และเปลี่ยนพื้นบางส่วนให้ซึมซับน้ำฝนได้ดีขึ้น เมืองยังพยายามใช้ทรายจากโครงการก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูชายหาด ซึ่งถือเป็นทั้งแนวป้องกันธรรมชาติและเอกลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว

ในเมืองเซบียา ซึ่งได้รับฉายาว่า "กระทะทอดของยุโรป" ความร้อนจัดผลักดันให้ชุมชนเริ่มปรับตัวในแบบที่น่าสนใจ ตั้งแต่การกางผ้าขาวเหนือถนนแคบในเมือง ไปจนถึงการฟื้นฟูระบบท่อลมใต้ดินแบบโบราณที่ช่วยนำอากาศเย็นขึ้นมาบนพื้นผิว บางจุดใช้ละอองน้ำจากน้ำฝนที่ถูกรวบรวมไว้เพื่อสร้างพื้นที่พักร้อนในที่สาธารณะ นอกจากนี้เมืองยังริเริ่มการตั้งชื่อคลื่นความร้อน เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงอันตรายของอุณหภูมิสูงแบบสุดขั้วที่อาจถูกลืมเลือนทันทีที่อากาศเย็นลง


อย่างไรก็ตาม แม้หลายเมืองพยายามปรับตัว แต่ผู้คนจำนวนมากกลับเริ่มมองหาทางหลบหนีความร้อนระอุ ชาวบาร์เซโลนาเริ่มวาดฝันถึงแคว้นกาลิเซียอันชุ่มฉ่ำทางตอนเหนือ ส่วนชาวโรมที่มีงบประมาณเพียงพอก็เริ่มหันความสนใจไปยังประเทศที่เย็นและชื้นกว่า เช่น เบลเยียมหรือกลุ่มนอร์ดิก ทว่าอุณหภูมิที่พุ่งสูงในสเปนก็ยังไม่เพียงพอจะหยุดยั้งกระแสนักท่องเที่ยวได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงผลักดันไม่หยุด แม้ในฤดูที่ร้อนจนแทบทนไม่ไหว

 

ภายใต้สภาพอากาศที่โหดร้าย นักท่องเที่ยวในกรุงโรมต้องวนเวียนรอบแหล่งท่องเที่ยวเหมือนอยู่ในไมโครเวฟกลางแจ้ง นักร้องโอเปราในเมืองเวโรนาเป็นลมระหว่างการแสดง และเมืองเอล กรานาโด ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสเปน ก็สร้างสถิติใหม่ด้วยอุณหภูมิ 46 องศาเซลเซียสในเดือนมิถุนายน ปีที่แล้ว น้ำท่วมในเมืองวาเลนเซียคร่าชีวิตผู้คนกว่า 200 ราย ขณะที่ปีนี้ การเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว

 

แม้ภาวะโลกร้อนจะทำให้บางเมืองเงียบเหงาลงในช่วงหน้าร้อน แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็เป็นที่กังวล และหากความร้อนยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ คนท้องถิ่นอาจไม่เพียงแค่ต้อนรับนักท่องเที่ยวน้อยลง แต่ต้องหาทางอพยพหนีร้อนกันเองไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ที่…อาจไม่นานก็ร้อนตามมาเช่นกัน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง