ปีทอง Gripen ? พอเป็นข่าวว่าขายที่ไทยได้ ก็ขายเพิ่มได้ทั่วโลก !

ซาบ (Saab) ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ เรือดำน้ำ และยุทโธปกรณ์จากสวีเดน เปิดเผยว่าสามารถปิดการขายเครื่องบินขับไล่แบบกริพเพน (Gripen E/F) จำนวน 12 ลำ ให้กับกองทัพอากาศของเปรู และยังสามารถขายเครื่องบินควบคุมและระวังภัยส่วนหน้า (AEW&C) รุ่นโกลบอลอาย (GlobalEye) ให้กับเดนมาร์กได้อีกด้วย ซึ่งทำให้สื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่าแรงจูงใจในการซื้อของสองประเทศอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา รวมถึงข่าวการจัดหา Gripen E/F ของกองทัพอากาศไทยด้วยเช่นกัน
Gripen E/F เป็นเครื่องบินขับไล่ยุคที่ 4.5 ซึ่งเน้นความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ ติดตั้งเครื่องยนต์เจ็ตเทอร์โบแฟน (Turbofan jet) ของเจเนอรัล อิเล็ก (General Electric หรือ GE) รุ่น F414G จากสหรัฐฯ ทำความเร็วสูงสุด 2 มัค หรือ 2,450 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางขึ้นบิน (Take-off Distance) อยู่ที่ 500 เมตร น้ำหนักขึ้นบินสูงสุด (Maximum Take-Off Weight: MTOW) อยู่ที่ 16,500 กิโลกรัม
Gripen E/F รองรับการติดตั้งอาวุธและเทคโนโลยีอำนวยการรบมาตรฐาน NATO รวมถึงระบบโครงข่ายข้อมูล (Data Link) แบบ Link-16 ที่ใช้ในเครื่องบินขับไล่มาตรฐานสหรัฐฯ และ NATO รวมถึง F-16 Fighting Falcon และ Link-T ที่กองทัพอากาศไทยถือสิทธิ์จาก Saab ในการใช้งาน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับ Link-RTN ในกองทัพเรือไทย
ซึ่งเครื่องบินรบที่อาจจะเก่งในการรบ การใช้อาวุธ แต่การมองเห็น ก็ยังสู้เครื่องบินที่เรียกว่า เครื่องบินควบคุมและเตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ หรือ AEW&C (Airbourne Early Warning & Control)
AEW&C จะทำหน้าที่ตรวจจับและติดตามอากาศยาน, เรือ, ยวดยาน, มิสไซล์ หรือวัตถุอื่นใดที่เคลื่อนที่แบบโพรเจกไทล์เข้าใกล้จากระยะไกลมาก และสามารถพิสูจน์ฝ่ายของอากาศยานว่าเป็นมิตรหรือข้าศึกแบบเรียลไทม์และส่งข้อมูลผ่าน Data Link
และ Saab ก็มี GlobalEye นี่แหละครับ ที่เป็นทีเด็ดของ AEW&C ซึ่งรองรับการทำงานแบบพหุภารกิจ ทั้งตรวจจับวัตถุบนอากาศ สัญญาณภาคพื้นดิน รวมถึงสิ่งที่อยู่บนผิวน้ำ มิตร ศัตรู แยกออกได้หมด โดยมีระยะตรวจจับไกลสุด 450 กิโลเมตร
ในกรณีของเปรูที่เลือกซื้อ Gripen 12 ลำ เป็นเพราะเรื่องของราคาครับ โดย 12 ลำแรก ใช้เงินไป 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 66,000 ล้านบาท
เพราะตามแผนการแล้ว รัฐบาลเปรูตั้งงบไว้ที่ 3,422 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 110,000 ล้านบาท สำหรับเครื่องบินรบ 24 ลำ และอุปกรณ์ทางการทหารอื่น ๆ เพื่อทดแทน Mirage 2000 ของฝรั่งเศส กับ MiG-29 ของรัสเซียที่ประจำการในปัจจุบัน
ส่วนเดนมาร์กนั้นเป็นชาติที่ไม่เคยมีเครื่องบิน AEW&C มาก่อน แต่เลือกที่จะมีและใช้ GlobalEye เพื่อเสริมการเฝ้าระวังน่านฟ้าเดนมาร์ก จากความตึงเครียดทางการเมืองในยุโรปและท่าทีทางการเมืองและสงครามการค้าของสหรัฐฯ นั่นเอง แต่ไม่ได้เผยราคาในดีลนี้
แต่การปิดดีลในเปรูและเดนมาร์ก อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะทั้งโปรตุเกสและแคนาดา แสดงท่าทางว่าสนใจซื้อ Gripen ด้วยกันทั้งสองชาติ
ในฝั่งแคนาดา ที่มีเครื่องบินขับไล่ CF-18A/B Hornet กว่า 98 ลำ นั้นกำลังจะเก่าและต้องปลดประจำการ ทางรัฐบาลแคนาดาจึงวางแผนจะนำ F-35 มาใช้แทน จนบรรลุข้อตกลงในการซื้อ F-35 16 ลำแรกไปแล้ว
แต่ท่าทีของรัฐบาลในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้แคนาดาต้องการสงวนท่าทีมากขึ้น กับเครื่องบินอีกกว่า 72 ลำที่เหลือ จึงมีการไปปัดฝุ่นเอกสารดูว่า นอกจาก F-35 แล้ว มีเครื่องบินรุ่นไหนที่ตรงใจกองทัพอากาศแคนาดาบ้าง
ครับ คำตอบก็ล็อกมงไว้ที่ Gripen E/F นั่นแหละครับ ผลก็เลยทำให้ Saab กับแคนาดากำลังเจรจาเพื่อปิดดีลกันอยู่ในตอนนี้
ส่วนโปรตุเกสก็เหตุผลคล้าย ๆ กัน คือการเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลทรัมป์ ทำให้แผนทดแทน F-16AM/BM เป็น F-35 ขอพับทิ้งไปก่อน แล้วก็ดูว่ามีใครที่พอชดเชยได้บ้าง ซึ่งก็มี Gripen ที่เข้าตา
แต่ฝั่งโปรตุเกสเองก็กังวลว่า ถึงจะหนีจาก F-35 ที่เป็นอเมริกัน แต่เครื่องยนต์ของ Gripen ก็ยังคงเป็นของอเมริกา แม้ว่าจะได้สิทธิ์ Made In Sweden ก็ตาม ทำให้โปรตุเกสก็ยังคงอยู่ในการวิเคราะห์ ชั่งน้ำหนักความต้องการในแง่ต่าง ๆ
แล้วสงสัยไหมครับ ว่าทำไม Gripen และ Saab ปีนี้ถึงได้มีข่าวดีต่อเนื่อง คำตอบ อาจมาจาก 2 ปัจจัย และหนึ่งในนั้น ก็คือกองทัพอากาศของไทยเรานี่เอง
ปัจจัยแรกคือความไม่แน่นอนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ผ่านมาแม้ว่า F-35 จะมีราคาแพงมาก จนอดีตผู้จัดการโครงการของ NATO อย่าง Walt Kowalski เคยพูดเปรยไว้ว่า F-35 ก็เหมือนเฟอรารี ส่วน Gripen ก็เหมือน Honda Civic
เพราะไม่มีอู่ข้างทางที่ไหนซ่อม Ferrari ได้ แต่อู่ข้างทางที่ซ่อม Honda Civic ได้นั้นมีแน่ ๆ
แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ยังเป็นเพียงแค่จุดอ่อนหนึ่งเท่านั้น แต่ท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ทำให้ NATO ต้องพึ่งพาตัวเองมากขึ้น้ทำให้ Gripen ที่มีต้นกำเนิดใน NATO ด้วยกันมากกว่าได้รับการพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ในขณะที่ข่าวการเสนอขาย Gripen E/F ให้กับกองทัพอากาศไทยนั้นก็ส่งผลให้กองทัพอากาศชาติอื่น ๆ มีมุมมองต่อ Gripen ที่ดีขึ้น
Saab ยังยกการใช้งาน Gripen ของกองทัพอากาศไทยให้เป็นหนึ่งในความสำเร็จในการใช้งานเครื่องบินรบที่ทันสมัยเวลาเสนอขายในต่างประเทศเช่นกัน
จรวดติดกริพเพ่น 1.15-1.23 https://youtu.be/GkHZHPTJepA
โดยยกตัวอย่างการติดตั้งจรวดอากาศสู่อากาศ AIM-120 AMRAAM ซึ่งเป็นจรวดที่ทันสมัยที่สุดรุ่นหนึ่งของโลกกับ Gripen C/D ในกองทัพอกาศไทยเกิดขึ้นได้โดยไม่มีปัญหา ใช้งานราบรื่นนั่นเอง
สุดท้าย ไม่ว่าแต่ละชาติจะเลือกเครื่องบินรบรุ่นไหน จากใคร ก็เพราะว่าแต่ละชาติ มีโจทย์หลักอย่างความคุ้มค่าทางงบประมาณ กับการวางกลยุทธ์ที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง