TNN Exclusive : เช็กถังแก๊สในครัวเรือนด่วน! ป้องกันระเบิดซ้ำรอย ร.ร.ราชวินิตมัธยม
กรณีถังดับเพลิงแบบคาร์บอนไดออกไซด์ระเบิด ขณะซ้อมดับเพลิงภายในโรงเรียนราชวินิตมัธยม กทม. มีนักเรียนเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีกหลายคน จึงทำให้เกิดความกังวลเรื่องการใช้ถังก๊าซดับเพลิง รวมไปถึงถังแก๊สหุงต้มภายในครัวเรือน
วันนี้ (24 มิถุนายน 66) นายเอกวัฒน์ ทิมมาศย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็นเตอร์ไฟ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบดับเพลิงและถังดับเพลิง ให้สัมภาษณ์พิเศษรายการ TNN ข่าวเที่ยงว่า ถังดับเพลิงที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายชนิด แต่ที่ใช้กันทั่วไปประกอบด้วย
1.ถังดับเพลิงสีแดง ชนิดผงเคมีแห้ง มีลักษณะผงฝุ่นสีเทา ใช้ดับไฟจากน้ำมันและดับแก๊ส แต่จะต้องทำการตัดไฟก่อนดับทุกครั้ง เหมาะในที่โล่ง ไม่เหมาะในอาคาร
2.ถังดับเพลิงสีแดง ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ซึ่งเป็นถังดับเพลิงที่เกิดเหตุที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม จะมีสารบรรจุภายในเป็นน้ำแข็งแห้ง เป็นก๊าซสีขาว หลังฉีดแล้วจะระเหยไปในอากาศ ซึ่ง CO2 ใช้ดับของเหลวติดไฟ ดับแก๊ส แต่ต้องตัดไฟก่อนจึงจะได้ผลดี
3.ถังดับเพลิงสีเขียว เป็นสูตรน้ำเอนกประสงค์ ดับไฟได้มากกว่า ฉีดได้นานขึ้น และดูแลรักษาง่าย
4.ถังดับเพลิงสแตนเลส และอื่น ๆ
สำหรับถังดับเพลิงสีแดง บรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ซึ่งเป็นถังดับเพลิงที่เกิดเหตุที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม จะบรรจุแรงดันสูงกว่าถังดับเพลิงทั่วไป แต่จะมีระบบ “วาล์วนิรภัย” หรือ Safety Valve เพื่อระบายและลดความดัน ถือเป็นมาตรฐานที่ถังดับเพลิงต้องมี โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องไปตรวจสอบว่า “วาล์วนิรภัย” ทำงานหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
ส่วนถังแก๊สหุงต้มในครัวเรือนที่หลายฝ่ายมีความกังวลจะเกิดอันตรายเหมือนถังดับเพลิงที่เกิดเหตุหรือไม่ นายเอกวัฒน์ กล่าวว่า ต้องเลือกใช้ถังแก๊สที่ได้มาตรฐาน และระหว่างใช้งานให้สังเกตจาก “มาตรวัด” สัญลักษณ์เข็มนาฬิกาด้านบนตัวถัง จะต้องอยู่ที่เลข 12 นาฬิกา ไม่เอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เพราะหากเข็มเอียงให้สันนิษฐานว่า เกิดความผิดปกติจากแรงดันในถังแก๊ส แต่ระบบป้องกันถังแก๊สในครัวเรือน จะมี “วาล์วนิรภัยทองเหลือง” ทำหน้าที่ระบายความดันหากเกิดความผิดปกติขึ้น นอกจากนี้ การจัดเก็บถังดับเพลิง หรือถังแก๊สในครัวเรือนก็มีส่วนสำคัญ จะต้องตั้งไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ไม่ตากแดด ไม่ตากฝน หากเป็นพื้นที่ติดทะเล จะมีความเสี่ยงทำให้ถังแก๊สเกิดสนิมและเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น
เรียบเรียงโดย
มนตรี ขัดเรือง
บรรณาธิการ TNN ข่าวเที่ยง