ยาน Dragon เตรียมกลับโลกพร้อมอุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์
TNN ช่อง16
14 เมษายน 2566 ( 13:58 )
92
ยานอวกาศดรากอน (Dragon) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เตรียมเดินทางกลับโลกแบบไร้นักบินอวกาศในวันที่ 15 เมษายนนี้ พร้อมกับอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์น้ำหนักประมาณ 4,300 ปอนด์ หรือประมาณ 1,950 กิโลกรัม ยานอวกาศดรากอนใช้การลงจอดด้วยร่มชูชีพบนผิวน้ำบริเวณนอกชายฝั่งรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา
การทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์สามารถใช้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไปจากบนโลกสร้างผลการทดลองใหม่ ๆ ซึ่งอาจถูกใช้พัฒนาตัวยารักษาโรค การตรวจสอบและป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ดีมากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาชิ้นส่วนหรือวัสดุทางด้านวิศวกรรมขั้นสูงที่ไม่สามารถทำได้บนโลก สำหรับตัวอย่างผลการทดลอง เช่น
1. ผลการทดลองปลูกมะเขือเทศบนอวกาศ การตรวจสอบคุณค่าทางโภชนาการความสามารถในการสร้างระบบผลิตอาหารบนอวกาศ การปลูกมะเขือเทศแคระในเรือนกระจกบนสถานีอวกาศ ตัวอย่างแช่แข็งของมะเขือเทศ ตัวอย่างน้ำ กิ่ง ก้านและใบ เครื่องมือวัดค่าจุลินทรีย์
2. ผลการศึกษาการเติบโตของผลึกคุณภาพสูง โดยการศึกษาขององค์การอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) การทดสอบวิธีการเติบโตและผลิตผลึกของสารกึ่งตัวนำซิลิกอน-เจอร์เมเนียม (SiGe) โดยใช้เตาเผาความร้อนไล่ระดับสีแบบโมดูลการทดลองของญี่ปุ่น (JEM-GHF) ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างเลือด ผนังหลอดเลือดหลังจากการอยู่ในอวกาศนาน 6 เดือน ซึ่งมีความสำคัญต่อร่างกายนักบินอวกาศแม้ว่าจะใช้กระบวนการออกกำลังกายก็อาจไม่เพียงพอที่จะลดผลกระทบของหลอดเลือด ผลลัพธ์จากการวิเคราะห์สามารถช่วยระบุและประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดของนักบินอวกาศ
4. ผลการทดสอบการเผาไหม้บนอวกาศการจุดระเบิดและการสลายตัวของเชื้อเพลิงแข็ง Growth and Extinction Limit (SoFIE-Gel) ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการป้องกันไฟไหม้หรืออุบัติเหตุบนสถานีอวกาศได้ในอนาคต พฤติกรรมของกองไฟในอวกาศ รวมไปถึงการพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ที่สามารถกันไฟไหม้ได้ในอนาคต
ยานอวกาศลำนี้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ CRS-27 การขนส่งทรัพยากรและอุปกรณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์น้ำหนักรวม 6,000 ปอนด์ หรือประมาณ 2,700 กิโลกรัม ขึ้นไปสู่สถานีอวกาศนานาชาติ ISS โดยยานเดินทางขึ้นจากโลกในวันที่ 15 มีนาคม และเข้าเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติ ISS บริเวณโมดูล Harmony
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ NASA