รีเซต

ศูนย์วิจัยฯ ชี้ ฟอสซิลปลายุคไทรแอสซิกเก่าแก่-สมบูรณ์ที่สุด พร้อมระบุหมวดชั้นหินเก่ากว่าฟอสซิลไดโนเสาร์

ศูนย์วิจัยฯ ชี้ ฟอสซิลปลายุคไทรแอสซิกเก่าแก่-สมบูรณ์ที่สุด พร้อมระบุหมวดชั้นหินเก่ากว่าฟอสซิลไดโนเสาร์
มติชน
26 เมษายน 2565 ( 10:23 )
121

ศูนย์วิจัยฯ ชี้ ฟอสซิลปลายุคไทรแอสซิกเก่าแก่-สมบูรณ์ที่สุด พร้อมระบุหมวดชั้นหินเก่ากว่าฟอสซิลไดโนเสาร์ แต่ทั้งหมดอยู่ในยุคไทรแอสซิกอายุประมาณ 200 ล้านปี

 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงาน คณะนักบรรพชีวินวิทยา ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดย รศ.ดร.มงคล อุดชาชน ผอ.ศูนย์ฯ, ผศ.ดร.ภาสกร บุญชาลี รอง ผอ.ศูนย์ฯ, ดร.บูเซียน คาลูฟี่ (Dr. Bouziane Khalloufi ) นักบรรพชีวินผู้เชี่ยวชาญซากดึกดำบรรพ์ (ฟอสซิล) ปลาโบราณ, ดร.ไฮยั่น ตง (Dr. Haiyan Tong) ผู้เชี่ยวชาญซากดึกดำบรรพ์เต่าโบราณ พร้อมคณะนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์และซากดึกดำบรรพ์ อื่นๆ เดินทางไปที่สำนักงานอุทยานธรณีเพชรบูรณ์ หนองนารี อ.เมืองเพชรบูรณ์ เพื่อตรวจสอบตัวอย่างฟอสซิลชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ส่วนหน้าแข้งและกระดูกสันหลัง ที่ค้นพบในพื้นที่ อ.น้ำหนาว รวมทั้งตัวอย่างฟอสซิลปลาที่พบในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง และฟอสซิลปลาที่พบในพื้นที่เขาค้อ ซึ่งสันนิษฐานว่าตัวอย่างฟอสซิลทั้งหมดมีอายุประมาณราว 200 ล้านปี นอกจากนี้คณะ รศ.ดร.มงคล อุดชาชน ยังร่วมหารือกับ ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ผอ.อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ พร้อมอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มรภ.เพชรบูรณ์ ถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือทางวิชาการด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาในอนาคตอีกด้วย

 

 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบตัวอย่างฟอสซิลซากดึกดำบรรพ์ปลาดังกล่าวนั้น ดร.บูเซียน คาลูฟี่ นักบรรพชีวิน ผู้เชี่ยวชาญซากดึกดำบรรพ์(ฟอสซิล)ปลาโบราณ จากประเทศฝรั่งเศส  ยังให้ความสนใจตัวอย่างฟอสซิลปลายุคไทรแอสซิก ที่พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูผาแดง อ.น้ำหนาว และตัวอย่างฟอสซิลปลาชิ้นส่วนล่าสุดที่มีการพบที่ อ.เขาค้อ เป็นพิเศษ ซึ่ง ดร.บูเซี่ยน คาลูฟี่ ชี้ว่าอาจเป็นซากดึกดำบรรพ์ปลายุคไทรแอสซิกที่เก่าแก่และสมบูรณ์ที่สุดที่ตนเคยพบในประเทศไทย โดย รศ.ดร.มงคล อุดชาชน ชี้แจงเพิ่มเติมว่าตามรายงานตำแหน่งที่พบฟอสซิลปลาทั้งสองตัวอย่าง องค์ประกอบของเนื้อหิน ประกอบกับแผนที่ธรณีวิทยาและลำดับชั้นหิน เชื่อได้ว่าฟอสซิลปลาทั้งสองตัวอย่างถูกเก็บมาจากชั้นหินของหมวดหินห้วยหินลาด ยุคไทรแอสซิกตอนปลาย อย่างไรก็ตามคณะวิจัยจะทำการศึกษาขั้นละเอียดต่อไป

 

รศ.ดร.มงคล อุดชาชน กล่าวว่า ฟอสซิลชิ้นส่วนไดโนเสาร์ดังกล่าวนั้น พบอยู่ในหมวดหินน้ำพองซึ่งมีอายุอ่อนกว่าและวางตัวอยู่บนหมวดหินห้วยหินลาด ตอนนี้การตั้งข้อสันนิษฐานฟอสซิลชิ้นส่วนไดโนเสาร์ที่พบยังมีความขัดแย้งกันในกลุ่มนักวิจัยว่า จะเป็นไดโนเสาร์กลุ่มเทโรพอดหรือซอโรพอดกันแน่ ซึ่งคณะวิจัยนำโดยนายศิตะ มานิตกุล จะทำการศึกษาทางสัณฐานวิทยาเพิ่มเติม พร้อมทั้งจะขออนุญาตเข้าศึกษาในพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคต เพื่อนำผลการศึกษาไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่มีการรายงานและศึกษาในหลายๆประเทศ เพื่อพิสูจน์ว่าจะเป็นกลุ่มไหนกันแน่ ฉะนั้นจึงหวังว่าทางกรมทรัพยากรธรณีและกรมป่าไม้รวมทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ จะให้ความอนุเคราะห์ในการเข้าไปขุดค้นหาซากดึกดำบรรพ์ชิ้นอื่นเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อนำไปสู่การกำหนดว่าเป็นไดโนเสาร์กลุ่มไหน เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งด้านการศึกษาและการท่องเที่ยวของจ.เพชรบูรณ์และระดับประเทศต่อไป

 

“ตอนนี้เราก็คาดหวังว่าน่าจะยังมีซากดึกดำบรรพ์ชิ้นอื่นๆเหลืออยู่ในพื้นที่เหล่านี้พอสมควร เนื่องจากว่าในการเดินสำรวจพื้นที่และค้นหาในเบื้องต้นยังพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ถึง 5 ชิ้น เชื่อว่าหากได้รับอนุญาตและสามารถขุดค้นเป็นระบบตามหลักวิชาการ อาจจะเจอตัวอย่างมากกว่านี้ ขณะเดียวกันยังสามารถชี้ชัดได้ว่าซากดึกกำบรรพ์ที่พบในเพชรบูรณ์กลุ่มนี้จัดอยู่ในยุคไหนและมีอายุเท่าใด ” รศ.ดร.มงคล กล่าว

 

รศ.ดร.มงคลกล่าวว่า ส่วนฟอสซิลปลาที่พบนั้นส่วนหัวปลาไม่ชัดเจน โดยส่วนอื่นๆที่มองเห็นจากข้อมูลที่ ดร.บูเซียนศึกษาเบื้องต้นอาจจะเป็นกลุ่มปลาการ์ แต่เนื่องจากส่วนสำคัญที่ใช้ในการบ่งชี้เป็นกลุ่มไหนยังขาดหายไป อย่างไรก็ตามก็หวังว่าจากความร่วมมือกันหลายๆฝ่ายก็อาจจะได้ข้อมูลหรือแม้กระทั่งได้ตัวอย่างเพิ่มเติมในภายภาคหน้า

 

รศ.ดร.มงคลกล่าวอีกว่า สำหรับซากฟอสซิลปลาจากชั้นหินปูนและหินดินดานสีดำของหมวดหินห้วยหินลาด นั้นมีอายุในช่วงยุคไทรแอสซิกตอนปลายหรือประมาณราว 210 ล้านปีที่ผ่านมา โดยบริเวณพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพเป็นแอ่งทะเลสาบ และสามารถเทียบเคียงกับที่พบในพื้นที่อำเภอน้ำหนาวและพื้นที่ข้างเคียง ฉะนั้นปลากลุ่มนี้อาจจะเป็นกลุ่มที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของมหายุคมีโซโซอิกที่มีในรายงาน

“จากรายงานฟอสซิลปลาที่เก่าแก่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศเวียดนาม ในยุคดีโวเนียนราว 400 ล้านปีที่ผ่านมา ส่วนฟอสซิลปลา 2 ชิ้นนี้ผมเชื่อว่าเป็นฟอสซิลช่วงเดียวกันกับที่เคยพบที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ซึ่งอยู่ในหมวดหินเดียวกันคือหมวดห้วยหินลาด” รศ.ดร.มงคลกล่าว

รศ.ดร.มงคลกล่าวว่า ส่วนตัวอย่างฟอสซิลปลาที่พบที่น้ำหนาวและเขาค้อ กับฟอสซิลปลาที่พบที่ ต.ท่าพล อ.เมืองฯ สิ่งที่แตกต่างที่บอกได้อันดับแรกเลยคืออายุ ที่ท่าพลอยู่ในสมัยไมโอซีนของมหายุคเซโนโซอิก อายุราว 10 ล้านปี แต่ตัวอย่างฟอสซิลปลา 2 ชิ้นนี้เก่าแก่มากเจอในยุคไทรแอสซิกของมหายุคมีโซโซอิกราว 210 ล้านปีโดยประมาณ

รศ.ดร.มงคลกล่าวว่า ฟอสซิลปลาที่พบอยู่ในลำดับชั้นหินอยู่ในหมวดหินห้วยหินลาด ซึ่งเป็นหมวดหินล่างสุดของมหายุคมีโซโซอิกอาจกล่าวได้เป็นชั้นหินชั้นแรกๆของมหายุคนี้ ส่วนฟอสซิลไดโนเสาร์ที่พบเชื่อว่าอยู่ในหมวดหินลำพองที่ทับถมตะกอนต่อจากหมวดหินห้วยหินลาด เพราะฉะนั้นฟอสซิลไดโนเสาร์กลุ่มนี้จึงมีอายุอ่อนกว่า แต่ข้อสำคัญของไดโนเสาร์กลุ่มนี้อยู่ในชั้นหินช่วงล่างๆของมหายุคมีโซโซอิก ซึ่งแก่กว่าไดโนเสาร์ที่พบที่ภูเวียง หรือที่ส่วนใหญ่ที่มีรายงานในประเทศไทย เราอาจกล่าวได้ว่ากลุ่มที่พบในหมวดหินน้ำพอง เป็นกลุ่มในยุคที่มีอายุแก่กว่ากลุ่มนั้น หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มบรรพบุรุษไดโนเสาร์ก็คงไม่ผิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง