วิธีทำปุ๋ยอินทรีย์สูตร “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” แค่ 60 วัน-ไม่ต้องพลิกกอง แต่มี5ข้อห้ามต้องระวัง!
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมในการผลิต “ปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องมีการเติมอากาศและไม่ต้องมีการพลิกกลับกอง” ให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพดีที่มีค่าตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 โดยเสร็จภายในเวลาเพียง 60 วัน ด้วยเหมือนกัน ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” ที่ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม คือไม่ก่อให้เกิดกลิ่น น้ำเสีย และแมลงวัน ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้จะเบา นุ่ม และไม่มีกลิ่น มีคุณภาพเหมือนกับที่ผลิตด้วยระบบกองเติมอากาศทุกประการ
วัตถุดิบในการการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” มีเพียงเศษพืชและมูลสัตว์เท่านั้น
ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี “วิศวกรรมแม่โจ้ 1” มีดังนี้
1. นําฟางข้าวหรือเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4 ส่วน วางเป็นชั้นบางๆ สูงไม่เกิน 10 เซนติเมตร ฐานกว้าง 2.5 เมตร โดยไม่ต้องเหยียบ โปรยทับด้วย มูลสัตว์ 1 ส่วน แล้วรดน้ำ (ตัวอย่างเช่น วางฟาง 16 เข่ง หนา 10 ซม. โรยทับ ด้วยมูลสัตว์ 4 เข่ง เป็นต้น) ทําเช่นนี้ 15-17 ชั้น รดน้ำแต่ละชั้นให้มีความชื้น ขึ้นกองเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีความสูง 1.50 เมตร กองปุ๋ยจะมีความยาวเท่าไร ก็ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษพืชและมูลสัตว์
ความสําคัญของการที่ต้องทําเป็น ชั้นบางๆ 15-17 ชั้น ก็เพื่อให้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ในมูลสัตว์ได้ใช้ทั้งธาตุคาร์บอน ที่มีอยู่ในเศษพืชและธาตุไนโตรเจนที่มีในมูลสัตว์ในการเจริญเติบโตและ สร้างเซลล์ ซึ่งจะทําให้การย่อยสลายวัตถุดิบเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
2. รักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอ ตลอดเวลา (มีค่าประมาณร้อยละ 60-70) โดยมี 2 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 รดน้ำภายนอกกองปุ๋ยวันละครั้ง โดยไม่ให้มีน้ำไหลนองออกมาจากกองปุ๋ยมากเกินไป
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อครบวันที่ 10 ใช้ไม้แทงกองปุ๋ยให้เป็นรูลึกถึงข้างล่างแล้วกรอกน้ำลงไประยะห่างของรูประมาณ 40 เซนติเมตร ทําขั้นตอนที่สองนี้ 5 ครั้ง ระยะเวลาห่างกัน 10 วัน เมื่อเติมน้ำเสร็จแล้วให้ปิดรู เพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อนภายในกองปุ๋ย
ขั้นตอนนี้แม้ว่าอยู่ในช่วงของฤดูฝนก็ยังต้องทํา เพราะน้ำฝนไม่สามารถไหลซึมเข้าไปในกองปุ๋ยได้ จากข้อดีที่น้ำฝนไม่สามารถชะล้างเข้าไปในกองปุ๋ยได้ เกษตรกรจึงสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ใน ฤดูฝนได้ด้วย
ภายในเวลา 5 วันแรก กองปุ๋ยจะมีค่าอุณหภูมิสูงขึ้นมาก บางครั้งสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องปกติสําหรับกองปุ๋ยที่ทําได้ถูกวิธี ความร้อนสูงนี้ เกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ (จุลินทรีย์มีมากมายและ หลากหลายในมูลสัตว์อยู่แล้ว) และความร้อนสูงนี้ยังเป็นสภาวะแวดล้อม ที่เหมาะสมกับการทํางานของจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยอีกด้วย (จุลินทรีย์ กลุ่ม Thermophiles และ Mesophiles) หลังจากนั้นอุณหภูมิจะค่อยๆ ลดลง จนมีค่าอุณหภูมิปกติที่อายุ 60 วัน
ข้อห้ามในการผลิตปุ๋ย สูตร “วิศวกรรมแม่โจ้”
1. ห้ามขึ้นเหยียบกองปุ๋ยให้แน่น หรือเอาผ้าคลุมกองปุ๋ย หรือเอาดินปกคลุมด้านบนกองปุ๋ย เพราะจะทําให้อากาศไม่สามารถไหลถ่ายเทได้
2. ห้ามละเลยการดูแลความชื้นทั้ง 2 ขั้นตอน เพราะถ้ากองปุ๋ยแห้ง เกินไปจะทําให้ระยะเวลาแล้วเสร็จนานและปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพต่ำ
3. ห้ามวางเศษพืชเป็นชั้นหนาเกินไป การวางเศษพืชเป็นชั้นหนา เกินไปจะทําให้จุลินทรีย์ที่มีในมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้
4. ห้ามทํากองปุ๋ยใต้ต้นไม้ เพราะความร้อนของกองปุ๋ยอาจทําให้ต้นไม้ตายได้
5. ห้ามระบายความร้อนออกจากกองปุ๋ย เพราะความร้อนสูงในกองปุ๋ยจะช่วยให้จุลินทรีย์ทํางานได้ดีมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศผ่านกองปุ๋ยอีกด้วย
ข้อควรรู้ของการทำปุ๋ยสูตร “วิศวกรรมแม่โจ้ 1”
1. หัวใจสำคัญของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีนี้ คือ ต้องรักษาความชื้นภายในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมอยู่เสมอตลอดเวลาทั้งภายในและภายนอกกองปุ๋ยด้วยวิธีการ 2 ขั้นตอนข้างต้น บริเวณใดที่แห้งเกินไปหรือแฉะเกินไปจุลินทรีย์จะไม่สามารถย่อยสลายได้ ทำให้วัสดุไม่ย่อยสลาย กระบวนการอาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนถึง 1 ปีก็ได้
2. วัตถุดิบในการทำปุ๋ยสูตรนี้ จำเป็นต้องเป็น “ฟางข้าว” กับ “มูลหมู” เท่านั้นหรือไม่?
เศษพืชชนิดอื่นนอกจากฟางข้าวที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีนี้ ได้แก่ เศษพืชที่เหลือจากการเกษตรกรรมทุกชนิด เช่น ซังและเปลือกข้าวโพด ต้นถั่วเหลือง เปลือกถั่ว เปลือกผลไม้ ผักตบชวา เศษผักจากตลาด และเศษใบไม้ทั้งแห้งและสด เป็นต้น
ส่วนมูลสัตว์สามารถนำมาใช้ได้ทั้งมูลโค มูลไก่ มูลช้าง และมูลสุกร โดยไม่มีผลต่อคุณภาพของปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้
4. ทำไมกองปุ๋ยต้องสูง 1.5 เมตร ?
เหตุผลที่ต้องทำกองปุ๋ยให้สูง 1.5 เมตร นั้น ก็เพื่อให้สามารถเก็บกักความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายของจุลินทรีย์เอาไว้ในกองปุ๋ย ซึ่งความร้อนนี้นอกจากจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับจุลินทรีย์ชนิดชอบความร้อนสูง (Thermophilic Microorganisms) ที่มีในมูลสัตว์แล้ว
เมื่อความร้อนนี้ลอยตัวสูงขึ้นจะทำให้ภายในกองปุ๋ยเกิดเป็นสุญญากาศ ซึ่งจะชักนำเอาอากาศภายนอกที่เย็นกว่าไหลเข้าไปภายในกองปุ๋ย (เรียกว่า การพาความร้อนแบบ Chimney Convection) อากาศภายนอกที่ไหลหมุนเวียนเข้ากองปุ๋ยนี้จะช่วยทำให้เกิดสภาวะการย่อยสลายของจุลินทรีย์แบบใช้อากาศ โดยไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ย จึงทำให้ไม่เกิดกลิ่นหรือน้ำเสียใดๆ
5. ทำกองปุ๋ยเป็นรูปสี่เหลี่ยมได้หรือไม่?
ไม่ได้ เพราะการทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมนั้น เมื่ออากาศร้อนในกองปุ๋ยลอยออกจากกองปุ๋ย อากาศเย็นจะไหลเข้าไปแทนที่ในกองปุ๋ยทางด้านข้างตามหลักการของการพาความร้อน แต่จะไม่ไหลเข้าไปข้างในกองปุ๋ยแบบสี่เหลี่ยม เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการลัดวงจรได้
โดยอากาศเย็นจะไหลไปแทนที่อากาศร้อนเฉพาะบริเวณด้านข้างของกองปุ๋ยเท่านั้น ส่งผลให้ไม่มีออกซิเจนสำหรับจุลินทรีย์บริเวณกลางกองปุ๋ย เพื่อใช้ในการย่อยสลาย เมื่อไม่มีอากาศการย่อยสลาย
จะเปลี่ยนไปเป็นแบบไม่ใช้อากาศที่ส่งกลิ่นเหม็น วัสดุจะกลายเป็นกรด มีน้ำเสียออกมา และกระบวนการใช้เวลานานกว่า การทำกองเป็นรูปสามเหลี่ยมจะบังคับให้ทุกส่วนของกองปุ๋ยได้รับอากาศที่ไหลเวียนเข้าไป กระบวนการย่อยสลายจึงเป็นแบบใช้อากาศที่ไม่มีกลิ่น วัสดุมีความเป็นกรดด่างที่เป็นกลาง และใช้เวลาย่อยสลายสั้นกว่า