รีเซต

นาซาเผยผลการสังเกตการณ์ที่พบได้ยาก เมื่อดาวยูเรนัสโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์

นาซาเผยผลการสังเกตการณ์ที่พบได้ยาก เมื่อดาวยูเรนัสโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์
TNN ช่อง16
28 เมษายน 2568 ( 00:50 )
8

นาซาเปิดเผยข้อมูลการสังเกตการณ์ดาวยูเรนัส เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้ยาก โดยดาวยูเรนัสได้โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ห่างไกลจากโลก 400 ปีแสง ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หายากที่เรียกว่า "การบดบังดวงดาว" ซึ่ง NASA สามารถบันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้ได้สำเร็จ

การบดบังดังกล่าวเกิดขึ้นนานประมาณ 1 ชั่วโมง และสามารถสังเกตได้เฉพาะจากฝั่งตะวันตกของอเมริกาเหนือ โดยนับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี ที่มีการบดบังดวงดาวสว่างบนดาวยูเรนัส ซึ่งครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 1996 นักวิจัยจากศูนย์วิจัยแลงลีย์ของ NASA ในเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา นำทีมนักดาราศาสตร์รวมจากต่างประเทศกว่า 30 คน ใช้หอสังเกตการณ์ถึง 18 แห่ง รวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด

 

ภาพประกอบคอมพิวเตอร์แสดงให้เห็นดาวฤกษ์ที่อยู่ห่างไกลออกไปจนมองไม่เห็นเนื่องจากถูกดาวยูเรนัสบดบัง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกว่าการบดบังของดวงดาว (เครดิตภาพ: NASA/Advanced Concepts Laboratory)


การสังเกตการณ์ครั้งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดอุณหภูมิและส่วนประกอบของชั้นสตราโตสเฟียร์ของดาวยูเรนัส ซึ่งเป็นชั้นกลางของบรรยากาศ และเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่การสังเกตการณ์ครั้งเมื่อปี 1996 ได้ ข้อมูลใหม่นี้จะมีบทบาทสำคัญต่อการสำรวจดาวยูเรนัสในอนาคต ตามการระบุของเจ้าหน้าที่ NASA

ดาวยูเรนัสตั้งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 2 พันล้านไมล์ หรือ 3.2 พันล้านกิโลเมตร นับเป็นยักษ์น้ำแข็งที่ไม่มีพื้นผิวแข็ง แต่ประกอบด้วยชั้นผิวที่นุ่มซึ่งเกิดจากน้ำ แอมโมเนีย และมีเทน ส่วนบรรยากาศภายนอกประกอบด้วยไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นหลัก

วิลเลียม ซอนเดอร์ส (William Saunders) นักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์จากศูนย์วิจัยแลงลีย์ของ NASA ในเมืองแฮมป์ตัน รัฐเวอร์จิเนีย และหัวหน้าคณะนักวิจัยและหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ด้านวิทยาศาสตร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า

“ขณะที่ดาวยูเรนัสเริ่มโคจรมาบังดาวฤกษ์ ชั้นบรรยากาศของดาวฤกษ์จะหักเหแสงของดาวฤกษ์ ทำให้ดูเหมือนว่าดาวฤกษ์จะค่อย ๆ หรี่ลง ก่อนที่จะถูกบังจนหมด เหตุการณ์กลับกันเกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์เริ่มโคจรมาบังจนสุด ทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่าเส้นโค้งของแสง จากการสังเกตการณ์การโคจรมาบังจากกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่หลายตัว เราจึงสามารถวัดเส้นโค้งของแสงและระบุคุณสมบัติของชั้นบรรยากาศของดาวยูเรนัสได้ในหลายระดับความสูง”

เอ็มมา ดาห์ล (Emma Dahl) นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า บรรยากาศของดาวยักษ์ก๊าซและน้ำแข็ง เช่น ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เป็นเสมือนห้องปฏิบัติการบรรยากาศที่ยอดเยี่ยม เพราะปราศจากพื้นผิวแข็งที่อาจทำให้การจำลองกระบวนการทางอากาศ เช่น การก่อตัวของเมฆ พายุ และกระแสลม นั้นมีความซับซ้อนแตกต่างจากโลกหรือดาวอังคาร

นอกจากนี้ NASA ยังเปิดเผยว่าในอีก 6 ปีข้างหน้า ดาวยูเรนัสจะบดบังดาวฤกษ์สลัวอีกหลายดวง โดยการบดบังครั้งสำคัญครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นกับดาวฤกษ์ที่สว่างกว่าครั้งนี้ จะเกิดขึ้นในปี 2031

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง