รีเซต

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: “โมลคา” อันตรายจาก “ซ่อนกล้อง” แอบถ่าย ที่กำลังบ่อนทำลายสังคมเกาหลีใต้

Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: “โมลคา” อันตรายจาก “ซ่อนกล้อง” แอบถ่าย ที่กำลังบ่อนทำลายสังคมเกาหลีใต้
TNN ช่อง16
23 พฤษภาคม 2567 ( 16:51 )
40

เกาหลีใต้อาจเป็นประเทศในฝันของใครหลาย ๆ คน นอกเหนือจากการตามรอย K-pop K-series หรือ K-culture แล้ว ยังมีเรื่องของ “การพัฒนาเทคโนโลยี” ไม่ว่าจะเป็นเมืองอัจฉริยะที่ควมคุมด้วย AI ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมที่ใช้ระบบ Auto-pilot หรือระบบกล้อง CCTV ที่ใช้ AI ตรวจจับสิ่งผิดปกติ เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน


กรุงโซลเป็นเมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่มีระบบ CCTV มากที่สุดลำดับ 8 ของโลก ในปี 2023 ด้วยจำนวนประมาณ 15 กล้อง ต่อประชากร 1,000 คน


แต่เทคโนโลยีพัฒนาไปมากเท่าไร จิตใจของมนุษย์ก็ใช่ว่าจะพัฒนาตาม เพราะเกาหลีใต้กำลังเผชิญกับปัญหา “การซ่อนกล้อง” แอบถ่ายคลิปเพื่อทำบางสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ มากเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก จนเกิดปัญหาทางสังคมต่าง ๆ ตามมามากมาย ถึงขนาดทำให้เกิด Scandal ที่เป็นบทเรียนราคาแพงระดับโลกเลยทีเดียว


จากซ่อนเพื่อบันเทิง สู่ซ่อนเพื่อตัณหา


การซ่อนกล้องเพื่อแอบถ่าย ในศัพท์เกาหลีเรียกว่า “โมลคา (몰카)” ย่อมาจาก “โมลเลคาเมรา (몰래카메라)” ที่หมายถึง “กล้องซ่อนแอบ (Sneaky Camera)”


ศัพท์นี้ เริ่มใช้ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990s ซึ่งเป็นยุคเฟื่องฟูของ “รายการแคนดิด (Candid-camera Programme)” ที่รูปแบบจะเป็นการซ่อนกล้องเพื่อแอบถ่ายเป้าหมายที่ต้องการจะล้อกันเล่น อาจจะเป็นการวางสถานการณ์ที่บีบเค้น การให้คนใกล้ตัวมาหลอก หรือการปล่อยให้เผชิญวิบากกรรม


หากนึกไม่ออก ในประเทศไทย รายการยอดนิยมประเภทนี้คือ “สาระแน” ที่ทำยอดเรตติ้งสูงสุดทางช่อง 3 ในการออกอากาศเพียงไม่กี่เทป ช่วงยุค 1990s เลยทีเดียว


และเมื่ออุปกรณ์เทคโนโลยีประเภทกล้องมีขนาดที่เล็กลงเรื่อย ๆ และราคาสามารถจับต้องได้ ทำให้ประชาชนทั่วไปเป็นเจ้าของกล้องแคนดิดได้อย่างง่ายดาย


แน่นอนว่า คนส่วนใหญ่ที่หาซื้อกล้องแคนดิดมาครอบครอง มักจะเป็น “วัยรุ่นผู้ชาย” ที่จะนำไปซ่อนกล้แงเพื่อแอบถ่ายคนรักในสถานที่ที่เรียกว่า “모텔” หรือ “โรงแรมม่านรูด”


นั่นเพราะ สังคมเกาหลีต้องอยู่กันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ทำให้บรรดาคนอายุน้อย ๆ ในบ้านไม่มีพื้นที่ส่วนบุคคลที่จะแสดงความรักที่มีให้แก่กัน ทางออกจึงไปตกอยู่ที่การเช่าโรงแรมม่านรูด เพื่อให้พ้นสายตาครอบครัว


ตรงนี้ จากที่แต่เดิม เป็นวัยรุ่นผู้ชายแอบถ่ายคนรัก ก็ลุกลามไปสู่การซ่อนกล้องเพื่อแอบถ่ายคู่รักอื่น ๆ ที่มาทำกิจกรรมในโรงแรมมาดรูดแทน


การซ่อนกล้องนี้ ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการนำคลิปไปหารายได้ในช่องทางออนไลน์ ซึ่ง ณ ตอนนั้น คลิปประเภทแอบถ่ายได้รับความนิยมพุ่งขึ้นอย่างมาก 


เรื่องนี้สร้างความกังวลให้แก่บรรดาผู้ใช้บริการโรงแรมอย่างมาก เพราะพื้นที่เดียวที่จะแสดงออกด้านความรักในสังคม ไม่ได้ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ทำให้ช่วงหนึ่งโรงแรมมียอดการจองลดลงไปพอสมควร


กระนั้น การแอบถ่ายได้ก้าวล้ำไปหลายต่อหลายขั้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเพิ่มสถานที่แอบถ่าย โดยเฉพาะสถานที่สาธารณะ อาทิ ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ หรือแม้แต่ บ้านเรือนส่วนบุคคล หรือเรื่องการพัฒนาระบบส่งสัญญาณทางไกล ไปจนถึงความเล็กของกล้อง ที่สามารถจะจับยัดลงกระป๋องน้ำอัดลมได้


เมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นมากเข้า ๆ ก็สะสมเป็นปัญหาสังคมอย่างไม่น่าเชื่อ


ภัยคุกคามสตรี


“เมื่อปี 2008 มีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ที่เป็นอาชญากรรมโดยการแอบถ่าย แต่ไม่น่าเชื่อว่าเกือบ 10 ปีต่อมา อัตราจะพุ่งสูงถึง 11 เท่า หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของอัตราอาชญากรรมทั้งหมดในเกาหลีใต้”


เบื้องต้น คือการสำรวจจาก Human Right Watch ที่ชี้ให้เห็นว่า โมลคานั้น เริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เบียดอาชญากรรมประเภทอื่น ๆ ไปแล้วคิดเป็น 1 ใน 5 ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นแบบน่ากังวลอย่างมาก 


ข้อมูลนี้ สอดคล้องกับ Statista ที่ชี้ให้เห็นอัตราการพุ่งสูงขึ้นของโมลคาอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยปี 2015 ถือว่ามีอัตราที่สูงที่สุดถึง 7,615 เคส ก่อนที่จะลดระดับลงมาให้หลัก 5,000 - 6,000 เคส แต่ก็ยังถือว่าตัวเลขสูงลิบ



เหยื่อของโมลคา แน่นอนว่าเป็นสุภาพสตรี โดยสถิติของ โชซ็อน อิลโบ สื่อชื่อดังของเกาหลีใต้ ได้ชี้ชัดว่า สตรีมีอัตราการเป็นเหยื่อโมลคามากกว่าบุรุษกว่า 10-50 เท่า โดยปี 2015 มีสตรีได้รับผลกระทบมากถึง 6,342 เคส ส่วนบุรุษมีเพียง 120 เคส คิดเป็นส่วนต่างถึง 52.85 เท่า



ตรงนี้ สอดคล้องกับ Human Right Watch ที่ระบุว่า “ร้อยละ 80 คือสตรีที่ตกเป็นเหยื่อ ส่วนผู้กระทำมีมากถึงร้อยละ 96 ที่เป็นบุรุษ”


เรื่องนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นกับบุคคลทั่วไปเพียงอย่างเดียว แต่ในวงการบันเทิง อย่างวงการ K-pop ก็ได้เกิดเหตุอื้อฉาวที่เรียกว่า “Burning Sun Gate (버닝썬 게이트)” โดยมาจากชื่อสถานบันเทิงใหญ่ย่านกังนัม ที่บรรดาสมาชิกบอยแบนด์ K-pop ที่มีชื่อเสียง ใช้เป็น “ห้องเชือด” หญิงสาวหลายราย


โดยจะทำการมอมเหล้าหรือยาเสียสาว ก่อนที่จะทำมิดีมิร้าย และโมลคาเก็บไว้ใช้แบล็คเมล์ ทั้งสาว ๆ นอกวงการ หรือกระทั่งในวงการเอง 


แต่เรื่องก็แดงขึ้นมา เมื่อมีนักข่าวสาวพยายามขุดคุ้ยจนสามารถเอาผิดบรรดาบอยแบนด์พวกนั้นได้ ซึ่งมีการเปิดเผยภายหลังว่า ได้รับความช่วยเหลือจากสมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังท่านหนึ่ง (คูฮารา)


แน่นอน Burning Sun Gate นี้ เป็นหนึ่งในตัวอย่างของโมลคา แต่ก็เพราะไปเกี่ยวข้องกับวงการบันเทิง จึงได้รับความสนใจในหน้าสื่อเป็นพิเศษ แต่ยังมีอีกหลายคดี ที่บุคคลธรรมดาได้รับความเสียหายต่อชีวิตและจิตใจ แต่ไม่ได้มีการนำเสนอให้ประชาชนทั่วไปได้เห็น


ยิ่งในสังคมเกาหลี เป็นแบบ “ขงจื่อ (Confucianism)” ที่ไม่อนุญาตให้สตรีแสดงออกถึงเรื่องทางเพศได้แบบเปิดเผย การแสดงความรักในที่ลับก็จะยังคงมีอยู่ และโมลคาก็จะยังได้รับความนิยมเรื่อย ๆ เพราะสำหรับพฤติกรรมมนุษย์ “ยิ่งปกปิดมากเท่าไร ก็ยิ่งอยากรู้อยากเห็นมากเท่านั้น”


ตอนนี้ อย่างน้อยที่สุด เกาหลีใต้ก็มีกระแสการเรียกร้องของสตรี เรื่องการป้องปรามโมลคา จนรัฐบาลออกบัญญติการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษและอาชญากรรมทางเพศ มาตรา 14 ว่าด้วยการกระทำอันเป็นอาชญากรรมของโมลคา 


แต่หากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า โมลคาที่ซ่อนนั้นโฟกัสที่เรือนร่างหรือใบหน้าของเหยื่อตรงกลางเฟรม ให้ถือว่าโมลคานั้นไม่ได้เป็นอาชญากรรม หรือก็คือ กฎหมายเอาผิดโมลคานั้น ยังมีช่องว่างให้มีพวกมาหาประโยชน์ได้ เพียงแค่วางโฟกัสเหยื่อไม่ให้เป็นจุดเด่น เท่านี้ก็เรียบร้อย


ตรงนี้ นับเป็นเรื่องที่ต้องสร้างการตระหนักให้มากยิ่งขึ้น เพราะอย่าลืมว่า กฎหมายมีไว้ควบคุม แต่การบังคับใช้อยู่ที่เรื่องของ “ศิลปะในการปกครอง” ทั้งสิ้น


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง