รีเซต

เปิดสายด่วน 1667 ให้คำปรึกษาใช้ "กัญชา-กัญชง" อย่างปลอดภัย

เปิดสายด่วน 1667 ให้คำปรึกษาใช้ "กัญชา-กัญชง" อย่างปลอดภัย
TNN ช่อง16
15 มิถุนายน 2565 ( 11:04 )
134

วันนี้( 15 มิ.ย.65) กรมสุขภาพจิต ส่งเสริมความเข้าใจให้กับประชาชนในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกวิธี โดยได้เปิด สายด่วน “ปรึกษากัญ 1667” เพื่อให้คำปรึกษาในการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากกัญชาและกัญชงอย่างถูกต้องปลอดภัย ไม่เสพติด ไม่เจ็บป่วยทางจิต

โดยจะเปิดให้คำปรึกษา ตลอด 24 ชั่วโมง ประชาชนที่สนใจจะใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพจากกัญชาและกัญชง แต่ยังไม่มั่นใจหรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ สามารถโทรขอรับการปรึกษาได้ฟรี จะมีผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้การใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างไรให้ปลอดภัย แนะการดูแลบุตรหลานอย่างไรไม่ให้เสพกัญชา ให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้กัญชา //ให้ความรู้เกี่ยวกับผลจากการสูบและการกินว่าต่างกันอย่างไร 

นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิต มีข้อแนะนำในการใช้กัญชาและกัญชง ขอให้ระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากบริโภคอย่างไม่เหมาะสม โดยแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แนะนำว่าต้องไม่จำหน่ายแก่บุคคล 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน สตรีมีครรภ์ มารดาที่ให้นมบุตร 

โดยเด็กมีโอกาสติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่ หากเสพจะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง สติปัญญา การคิดแบบมีเหตุผล ขาดการยับยั้งชั่งใจ ทั้งในขณะเสพและหลังเสพ จนเกิดอาการทางจิตเวชตามมาได้ ส่วนในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร สารสกัดจากกัญชาอาจส่งผลต่อเด็กในครรภ์หรือทารกได้

ส่วนฤทธิ์ของสารสกัดจากกัญชาที่มีต่อระบบประสาทสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มอาการ 

1) กดประสาท ผลเบื้องต้นทำให้รู้สึกสงบ สุขคนเดียวได้ ง่วง อยากนอน แต่ทำให้ไม่มีแรงจูงใจทำอะไร หากเสพเกินขนาดจะหลับลึก ไม่ค่อยรู้ตัว 

2) กระตุ้นประสาท ผลเบื้องต้นทำให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย ไม่หิว ไม่เหนื่อย แต่ถ้าได้รับสาร THC มากขึ้นจะกระสับกระส่าย กลัว ตื่นตระหนก หากเสพเกินขนาดหัวใจจะเต้นเร็วมากขึ้นและอุณภูมิร่างกายสูงขึ้น 

3) หลอนประสาท ทำให้มีอาการเคลิ้มฝันกลางวัน วิตกกังวล  กลัว ไม่อยากออกไปไหน หากเสพเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น ยิ้มพูดคนเดียว หูแว่ว หวาดระแวง 





ติดตาม ข่าวสารกัญชาเพิ่มเติมได้ที่ กัญชาทางการแพทย์

ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง