รีเซต

STECH จ่อประมูลงานใหม่ บุกธุรกิจเล็กหนุนโตยั่งยืน

STECH จ่อประมูลงานใหม่ บุกธุรกิจเล็กหนุนโตยั่งยืน
ทันหุ้น
28 มีนาคม 2565 ( 18:51 )
197

ข่าววันนี้ STECH ชี้ธุรกิจเหล็กเป็น New S-Curve ที่ช่วยสร้างการเติบโต และลดต้นทุนได้มีประสิทธิภาพขณะที่แนวโน้มงานปีนี้แววดี โครงการใหญ่ทั้งรัฐเอกชนออกมาให้ประมูลเพียบ หนุนรายได้เติบโต 30% ขณะที่ปัจจุบันงานในมือแล้ว 1,600 ล้านบาท

 

นายทรงศักดิ์ ปิยะวรรณรัตน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามเทคนิคคอนกรีตจำกัด (มหาชน) หรือ STECH เปิดเผยว่า ในปี 2565 บริษัทประเมินว่ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25- 30% จากปี 2564 ที่มีรายได้  1,516.55 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 94.72 ล้านบาท เนื่องจากการที่ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างฟื้นตัวมากขึ้น ทำให้มีโครงการเมกะโปรเจกต์ภาครัฐบาล และภาคเอกชนเปิดประมูลมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆที่มีสถานการณ์โควิด-19

 

โดยมีโครงการภาครัฐที่เดินหน้าต่อเนื่อง เช่น  โครงการรถไฟรางคู่ โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน โครงการ EEC โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อาทิ สะพาน ทางหลวง ฯลฯ ขณะที่งานด้านเอกชน ได้เเก่ งานโรงงาน งานอสังหาฯ อาคารชุด  ซึ่งในปีนี้บริษัทได้มีงานที่อยู่ระหว่างติดตามจากโครงการภาครัฐ กว่า 20 โครงการ มูลค่ากว่าการลงทุนรวมกว่า 580,849 ล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดหวังได้รับงานราวๆ 10 โครงการ มูลค่าราว 18,150 ล้านบาท

 

ตุนแบ็กล็อก1.6 พันล.

ในส่วนของงานในมือ (Backlog) ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1,600 ล้านบาท แบ่งออกเป็น เสาเข็ม เสาไฟฟ้า สะพาน รวม 1,500 ล้านบาท  เเละงานโครงการสายส่งระบบ 115 เควี อีกราว 100 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานคอนกรีตอัดแรง 10 สาขา จากปีก่อนมี 9 สาขา ครอบคลุมเกือบทั่วประเทศ ทั้งในโซนภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

โดยโรงงานเพิ่มขึ้น 1 แห่งที่ชลบุรี สาขา 2 ลุยรับงานโซนภาคตะวันออก ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตสินค้าได้ในช่วง เดือน เม.ย. 2565 และเริ่มรับรู้รายได้ภายในไตรมาส 2/2565 เป็นต้นไป

 

ทั้งนี้ คอนกรีตอัดแรงถือเป็นรากฐานสำคัญอันดับต้นๆ ในงานก่อสร้าง บริษัทเชื่อว่าจะได้อานิสงส์ในงานเมกะโปรเจกต์ที่ภาครัฐเริ่มทยอยออกมาเพิ่มขึ้นในปีนี้ จากจุดเด่นของบริษัทฯ ในความเชี่ยวชาญ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งบริษัทมีโรงงาน 9 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคใต้ ทำให้มีความสามารถในการแข่งขัน เตรียมพร้อมสำหรับการเข้ารับงานใหม่ๆ

 

ธุรกิจต้นน้ำลดต้นทุน

นอกจากนี้บริษัทได้เข้าสู่การสร้าง New S-Curve ในสู่ธุรกิจเหล็ก ผ่านการจัดตั้งบริษัทย่อย “บริษัท สยามสตีลไวร์ จำกัด” ซึ่งบริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% เพื่อลงทุนประกอบกิจการผลิต และจำหน่ายลวดเหล็กแรงดึงสูง PC Wire และ ลวดเหล็กตีเกลียว PC Strand ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง เช่น เสาเข็ม เสาสปัน เสาไฟฟ้า คานสะพาน ฯลฯ

 

โดยโรงงานที่จะก่อสร้างขึ้นมีกำลังการผลิตรวม 26,000 ตันต่อปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 320 ล้านบาท คาดถเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 มีวัตถุประสงค์ ของการขยายฐานการผลิตสู่ ธุรกิจ New S-Curve  ครั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน เพิ่มรายได้ให้กับบริษัท เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และดันกำไรให้เติบโต ภายใต้กลยุทธ์การขยายไปสู่ธุรกิจต้นน้ำ

 

ทั้งนี้ สยามสตีลไวร์ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทแม่ และสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากกำลังการผลิตรวม 26,000 ตันต่อปี นั้นเกือบ 50% จะนำไปใช้ในบริษัทแม่ ของทั้ง 10 โรงงานในปัจจุบัน และโรงงานที่จะขยายอีกในอนาคต ซึ่งต้นทุนค่าลวดนับเป็นประมาณ 30% ของต้นทุนการผลิต

 

นอกจากนี้ ยังมีกำลังการผลิตเพียงพอจะสามารถขายให้กับโรงงาน หรือบริษัท ที่เป็นพันธมิตรคู่ค้ากับบริษัท อีกทั้งจากการที่ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายไม่ให้การสนับสนุนการส่งออกเหล็ก ทำให้ไม่มีการกำหนดราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าปกติ (Dumping) จากประเทศจีน เป็นโอกาสขยายการเติบโต ส่งผลให้ธุรกิจเหล็กมีความน่าสนใจ และมีผลตอบแทนที่ดีขึ้น

 

จ่ายปันผล 20 พ.ค.

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท อนุมัติการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานประจำปี 2564 เป็นเงินสดให้แก่ผู้ถือหุ้น ในอัตรา 0.05 บาทต่อหุ้น และนับเป็นการจ่ายปันผลครั้งแรกทันทีหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 36,250,000 บาท กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 15 มี.ค. 2565 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 20 พ.ค. 2565

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง