สิทธิ เสรีภาพ “ผู้หญิงอัฟกานิสถาน” ภายใต้การปกครองของ “ตาลีบัน” หลังจากนี้
หลังจากที่ “ตาลีบัน” ได้เข้ายึดครองอัฟกานิสถานแล้ว สิ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ คือ สิทธิสตรีในอัฟกานิสถาน เนื่องจากเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถาน ผู้หญิงที่อยู่ใต้ระบอบตาลีบัน ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา หรือทำงานได้เลย แม้ครั้งนี้ทาง ตาลีบันจะยืนยันว่า “กลุ่มตาลีบันยึดมั่นในสิทธิสตรีภายใต้ระบบชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม ผู้หญิงจะทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่เรา และเราต้องยืนกรานกับประชาคมโลกว่า จะไม่เกิดการแบ่งแยกทางเพศขึ้น” ก็ยังสร้างความไม่แน่ใจต่อผู้หญิงอัฟกานิสถานอยู่ดี
วันนี้ TrueID จะพาทุกคนย้อนไปดู สิทธิผู้หญิง ในอัฟกานิสถาน ช่วงที่ตาลีบันยึดครอง ภายใต้กฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลามสุดโต่ง ที่เคยบังคับใช้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ส่งผลต่อผู้หญิงอย่างไรบ้าง
ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ถอนทหารออกไป ทำให้อัฟกานิสถานโคจรมาอยู่ใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบันอีกครั้ง ในช่วงเวลาการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ผู้หญิงอัฟกานิสถาน ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แม้จะมีกระแสข่าวว่า กลุ่มตาลีบันคุกคามผู้หญิงในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ จนผู้หญิงและเด็กหญิงไม่กล้าแม้แต่จะออกมานอกบ้าน
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม มีกลุ่มผู้หญิงจำนวนหนึ่งต่างพากันสวดมนต์ และถือป้ายประท้วงในกรุงคาบูล หลังตาลีบันยึดเมืองหลวงไว้ได้ เนื่องจากผู้หญิงในอัฟกานิสถาน ต่างพากันสงสัยว่าจะเคารพสิทธิสตรี ในกรอบกฎหมายอิสลาม “ชารีอะห์” ได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาผู้หญิงหลายคนถูกสั่งให้ออกจากงาน ในระหว่างที่ตาลีบันปฏิบัติการยึดคืนพื้นที่ทั่วประเทศ
ช่วงที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน ระหว่างปี 1996 – 2001 กลุ่มตาลีบันได้ใช้กฎหมายอิสลาม “กฎหมายชารีอะห์” สั่งห้ามผู้หญิงทำงานนอกบ้าน ส่วนเด็กหญิง ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปโรงเรียน และหญิงชาวมุสลิมทุกคน ต้องสวม”บูร์กา” ( Burqa ) ซึ่งเป็นผ้าคลุมแบบอิสลาม ที่ปกปิดร่างกายมากที่สุด โดยเป็นผ้าชิ้นเดียวที่ใช้คลุมตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เมื่อต้องออกไปนอกบ้าน และต้องมีผู้ติดตามเป็นญาติผู้ชาย
ซาลิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกตาลีบัน ยืนยัน กลุ่มตาลีบันยึดมั่นในสิทธิสตรีภายใต้ระบบชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลามแบบใหม่ ไม่แบ่งแยกเพศ ให้ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในสังคมและมีการศึกษา ภายในกรอบการทำงานของเรา แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผู้หญิงจะทำงานในบทบาทไหนภายใต้กฎหมายอิสลาม
ย้อนดูกฎหมายตาลีบัน ที่ทำให้ผู้หญิงอัฟกานิสถานไม่มีสิทธิเสรีภาพ
ในช่วงที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน จนถึงปี 2001 ทางกลุ่มออกกฎหมายที่ ตีความ หลักอิสลามแบบฉบับชนเผ่าปัสตุนที่เรียกว่า ปัสตุนวาลี (Pashtunwali ) กดดันผู้หญิงอย่างหนัก และใช้กฎหมายอิสลามอย่างสุดโต่ง จนผู้หญิงแทบออกจากบ้านไม่ได้ ไม่สิทธิทำงานและเข้าถึงการศึกษา ดังนี้
1.ผู้หญิงไร้อิสระในที่สาธารณะ
2.ผู้หญิงถูกห้ามไม่ให้ทำงาน
3.เด็กผู้หญิงไม่มีสิทธิเรียนหนังสือ
4.ผู้หญิงต้องอยู่แต่ที่บ้าน ยกเว้นมีผู้ปกครองชายอยู่ด้วย
5.เมื่อผู้หญิงต้องออกไปนอกบ้าน ต้องมีผู้ติดตามเป็นญาติผู้ชาย
6.ผู้หญิงทุกคน ต้องสวม”บูร์กา” ( Burqa ) ซึ่งเป็นผ้าคลุมแบบอิสลาม ที่ปกปิดตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า
นอกจากนั้นยังรวมถึงประหารผู้มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและผู้ที่นอกใจคู่สมรสในที่สาธารณะอีกด้วย ส่วนข้อกฎหมายอื่นๆที่น่ากลัว และสุดโต่งยังมีการประหารและเฆี่ยนประจานในที่สาธารณะ , การสั่งห้ามภาพยนตร์และหนังสือจากชาติตะวันตก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ดูทีวี , ทำลายวัตถุที่ตีความว่า “หมิ่นศาสนา” หรือแม้กระทั่งการตัดอวัยวะหากมีความผิดฐานลักขโมย
หลังจากที่ตาลีบันยึดอัฟกานิสถานกลับไปได้อีกครั้ง จึงเกิดคำถามมากมายว่า การปกครองจากนี้ไปจะเหมือนในอดีต หรือเปลี่ยนไปแค่ไหน เพราะโอกาสในการใช้ชีวิตของผู้หญิง รวมถึงประชาชนชาวอัฟกัน อาจจะถูกลิดรอนลงจากการบังคับใช้กฎหมายชารีอะห์อีกครั้ง
ภาพตาลีบันลบหน้าผู้หญิงที่ร้านเสริมสวยในอัฟกานิสถาน จาก AFP / WAKIL KOHSAR / AFP
อังกฤษเปิดประเทศรับผู้ลี้ภัยอัฟกันที่เป็นผู้หญิงและเด็ก
สหราชอาณาจักร หรืออังกฤษ จะเปิดรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถาน 5 พันคน โดยเน้นให้ผู้หญิง เด็กผู้หญิง และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ เป็นหลัก นโยบายนี้ไม่นับรวมโครงการย้ายถิ่นฐานให้กับล่ามและเจ้าหน้าที่ชาวอัฟกันคนอื่น ๆ ที่เคยทำงานให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรในช่วงสงคราม
อย่างไรก็ดี ฝ่ายค้านวิจารณ์ว่า รัฐบาลอ้าแขนรับผู้อพยพชาวอัฟกานิสถานน้อยเกินไป และอันที่จริง ปีแรกควรเปิดรับผู้อพยพให้ได้ถึง 2 หมื่นคนด้วยซ้ำ และตั้งเป้ารับผู้อพยพอย่างน้อย 35,000 - 40,000 คน
ตาลีบันจะปกครองอัฟกานิสถาน ครั้งนี้อย่างไร?
วันประกาศชัยชนะยึดอัฟกานิสถานได้ ตาลีบันใหม่ กล่าวว่า จะดำเนินนโยบายที่เปิดกว้างและยึดหลักปฏิบัตินิยมมากขึ้น แต่การตัดสินใจและดำเนินนโยบายต่าง ๆ จะยังอ้างอิงตามแนวคิดทางศาสนาที่เข้มงวดเช่นเดิม โดยปกครองภายใต้ “กฎหมายชารีอะห์” ที่ผ่านการตีความใหม่ ทันต่อยุคสมัยมากขึ้น
จึงสรุปคร่าว ๆ ได้ว่า หน้าตาของรัฐบาลอัฟกานิสถานใต้การปกครองตาลีบัน จะมีลักษณะดังนี้
1.รัฐบาลแบบรวมศูนย์ โครงสร้างอำนาจแบบ ‘บนลงล่าง’ ภายใต้ผู้นำสูงสุด แต่ยังไม่แน่ชัดว่าใครจะขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล
2.การตั้งสภาศาสนาแบบอิหร่าน ที่มีอำนาจเหนือประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง
3.ใช้กฎหมายชารีอะห์ (กฎหมายอิสลาม) ที่เข้มงวด แต่ผ่านการตีความใหม่ ให้มีความเปิดกว้าง ทันต่อยุคสมัยมากขึ้น
4.สิทธิสตรีจะลดทอนลง ‘ปานกลาง-มาก’ ในอัฟกานิสถาน
5.ดำเนินนโยบายเปิดประเทศและวิถีทางการทูตกับหลายประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ จีนและรัสเซีย
6.ใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชน และการประชาสัมพันธ์ที่มากขึ้น เห็นได้จากการให้สำนักข่าวถ่ายทำกิจกรรมต่าง ๆ และให้สัมภาษณ์แบบ Exclusive มากขึ้น
นอกจากนั้นกลุ่มตาลีบันยังให้คำมั่นจะต่อสู้กับการก่อการร้าย และจะไม่ยอมให้อัฟกานิสถานเป็นฐานปฏิบัติการก่อการร้ายให้กับกลุ่มอย่างอัลกออิดะห์ แต่ต้องอย่าลืมว่า อัฟกานิสถานมีโอกาสที่กลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มไอเอส จะกลับมาเติบโตได้มากขึ้น เพราะชัยชนะของกลุ่มตาลีบันในครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นชัยชนะเหนือสหรัฐฯ ด้วย
ข้อมูลจาก TNN WORLD
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'ตาลีบัน' คือใคร ทำไมถึงเข้ายึดประเทศอัฟกานิสถาน หลังจากสหรัฐฯถอนกำลัง
- ประวัติศาสตร์ อัฟกานิสถาน Afghanistan แดนแห่งสงคราม และอารยธรรมโบราณของโลก
- ทำไม "มิ้นท์ I Roam Alone" ต้องไปอัฟกานิสถาน ทั้งที่อาจเจอ "กลุ่มตาลีบัน"
- สรุป! จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อ “ตาลีบัน” ยึดครองอัฟกานิสถาน พร้อมถ่ายโอนอำนาจ เพื่อยุติการสู้รบ