รีเซต

Metaverse คืออะไร หลัง Facebook รีแบรนด์ครั้งใหม่ พร้อมวิธีเข้าสู่โลกเสมือนจริง

Metaverse คืออะไร หลัง Facebook รีแบรนด์ครั้งใหม่ พร้อมวิธีเข้าสู่โลกเสมือนจริง
TNN ช่อง16
29 ตุลาคม 2564 ( 11:52 )
380

ภาพจาก Facebook Mark Zuckerberg 




เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 ตุลาคม 64) ตามเวลาสหรัฐฯ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” CEO ของ Facebook ได้ประกาศว่า บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Meta” (เมตา) พร้อมโลโก้ใหม่ ลักษณะคล้ายสัญลักษณ์อินฟินิตี้ สะท้อนแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตที่เน้นสร้าง “Metaverse” (เมตาเวิร์ส) หรือ “โลกเสมือนจริง” (Virtual Reality-VR) โดย “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” คาดว่า จะมีคนใช้งาน “Metaverse” 1,000 ล้านคนภายใน 10 ปีข้างหน้า 



Metaverse (เมต้าเวิร์ส) คืออะไร 


คอนเซ็ปต์ Metaverse ของ Meta เป็นเหมือนกับ “โลกเสมือนจริง” ที่ทุกคนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมในโลกนั้นได้ โดยการเข้าสู่โลก Metaverse ก็จะต้องใช้งานผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนกิจกรรมที่สามารถทำได้ก็เช่น การดูหนัง ทำงาน ประชุม ไปคอนเสิร์ต การเดินทางไปที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งลองเสื้อผ้า โดยที่เราไม่ต้องไปยังสถานที่นั้น จะไปเจอใครก็ทำได้หมดไม่จำกัดสถานที่ แม้ตัวเราจริง ๆ จะนั่งอยู่ที่บ้านก็ตาม 



สำหรับ แนวคิด Metaverse (เมต้าเวิร์ส) เกิดขึ้นครั้งแรก ในปี 1992 จากนิยายวิทยาศาสตร์ที่ชื่อว่า “Snow Crash” โดยนิยายเรื่องนี้เป็นแนวไซเบอร์พังก์ ได้กล่าวถึงพื้นที่เสมือนจริง ที่ทุกคนมีตัวตน อยู่ในนั้นแบบคู่ขนานกับความจริง ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ “ฮีโระ” ตัวเอกของเรื่องที่ในชีวิตจริงเป็นแค่คนส่งพิซซ่า แต่ใน Metaverse เขาคือนักรบผู้ใช้ดาบที่ชำนาญ และมีเป้าหมายสำคัญคือการปกป้องโลกจากดิจิทัลไวรัส 



สำหรับ เหตุผลที่ออกมาเปลี่ยนชื่อ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" CEO ของบริษัท Meta กล่าวในไลฟ์สตรีมของบริษัทว่า Meta จะช่วยสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ของบริษัทว่าพวกเขาจะหันไปทุ่มเทกับการลงทุนใน metaverse มากกว่าบริการโซเชียลมีเดีย แต่จะเป็นการมุ่งหน้าผลักดันเทคโนโลยีเพื่อสร้าง Metaverse 



หลังจากนี้ต่อไป Facebook จะเป็นเพียงบริษัทลูก ของ Meta เท่านั้น เช่นเดียวกับ Instagram, Whatsapp พร้อมกันนี้ ทาง Meta เตรียมที่จะเปิดขายหุ้นในชื่อ MVRS ในวันที่ 1 ธันวาคม นี้ 


อย่างไรก็ตาม บริการอื่นๆ ของ Facebook ที่เคยให้บริการมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น Instagram, Whatsapp และ Facebook Messenger ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ 


สำหรับการเข้าถึง Metaverse ทำได้ 3 วิธีคือ 


1. การใช้แว่น Oculus เพื่อให้เข้าถึงโลกของ VR (Virual Reality) ผู้ใช้งานจะได้ยิน และเห็นภาพ 3 มิติ ในมุมมอง 360 องศา ตามการหันมองของผู้สวมใส่ สามารถสัมผัสโลกเสมือนจริงได้มากที่สุด ราคาประมาณ 20,000 บาท 


2. ใช้แว่น Ray-Ban หรือแว่นอื่น ๆ หรืออุปกรณ์ที่บรรจุเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถฟังเพลง รับสายโทรศัพท์ หรือถ่ายภาพและคลิปวิดีโอสั้นๆ ด้วยกล้องชัดระดับ 5 เมกะพิกเซล บันทึกภาพได้สูงสุด 500 ภาพ วิดีโอสูงสุด 30 วิดีโอ เพื่อแชร์เรื่องราวไปยังแอปพลิเคชันในเครือ Facebook และแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่น Twitter TikTok ได้อีกด้วย โดยตั้งราคาขายไว้ที่ 299 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,800 บาท วางจำหน่ายที่ Ray-Ban.com และ Ray-Ban บางสาขาในสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, แคนาดา, ไอร์แลนด์, อิตาลี และสหราชอาณาจักร รวมถึงช้อปอื่น ๆ เช่น Amazon, Best Buy 



3. การใช้งานผ่านอุปกรณ์ทั่วไป เช่น คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ จะทำให้เราสัมผัสโลกเสมือนจริงนี้ได้น้อยที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง