เผยการปะทุภูเขาไฟบนดาวศุกร์ข้อมูลจากยาน Magellan ของ NASA
TNN ช่อง16
17 มีนาคม 2566 ( 02:31 )
140
นาซาเผยหลักฐานทางธรณีวิทยาที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการปะทุของภูเขาไฟบนดาวศุกร์เมื่อไม่นานมานี้ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลจากภาพถ่ายเรดาร์เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน จากภารกิจยานสำรวจแมกเจนแลน (Magellan) ของนาซา เปิดเผยความเปลี่ยนแปลงของปากปล่องภูเขาไฟทั้งรูปร่างและขนาดในช่วงเวลาไม่ถึงหนึ่งปี
ภารกิจยานสำรวจแมกเจนแลน (Magellan) เดิมนั้นมีชื่อยานว่า Venus Orbiting Imaging Radar (VOIR) ก่อนได้รับการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นแมกเจนแลน (Magellan) เพื่อเป็นเกียรติให้กับเฟอร์ดินานด์ มาเจลลัน นักสำรวจที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เดินทางรอบโลกสำเร็จเป็นคนแรก
ยานสำรวจแมกเจนแลนเดินทางจากโลกในวันที่ 4 พฤษภาคม 1989 โดยใช้กระสวยอวกาศแอตแลนติสในภารกิจ STS-30 ยานเดินทางถึงดาวศุกร์ในช่วงปี 1990 ปฏิบัติภารกิจนานประมาณ 4 ปี 5 เดือน กับอีก 8 วัน ก่อนได้รับคำสั่งให้ทำลายตัวเองโดยการพุ่งชนดาวศุกร์ในวันที่ 13 ตุลาคม 1994
อุปกรณ์สำคัญที่ติดตั้งไปกับยานสำรวจแมกเจนแลน เช่น ระบบเรดาร์ ( RDRS ) รองรับการตรวจสอบค่าแสง ความสูง รังสี เมื่อทำงานร่วมกันสามารถสังเกตการณ์พื้นผิวของดาวศุกร์ ภูมิประเทศและอุณหภูมิ ข้อมูลถูกบันทึกด้วยความเร็ว 750 กิโลบิตต่อวินาที โดยในยุคนั้นยังคงใช้การบันทึกลงบนเทป ก่อนส่งต่อสัญญาณกลับมายังโลกเพื่อประมวลผลโดยระบบย่อยการประมวลผลข้อมูลเรดาร์ (RDPS) และคอมพิวเตอร์ภาคพื้นดินโดยหน่วยงานของห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น (JPL)
ดาวศุกร์ในยุคแรกเคยมีฉายาว่าดาวพี่น้องกับโลก แม้ว่าสภาพอากาศ ความดัน อุณหภูมิจะแตกต่างจากโลกอย่างรุนแรง การศึกษาภูเขาไฟมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจธรณีวิทยาบนดาวศุกร์ รวมไปถึงการทำความเข้าใจธรณีวิทยาบนโลก
การค้นพบในครั้งนี้แม้จะเป็นการใช้ข้อมูลเก่าเมื่อ 30 ปีก่อนมาทำการวิเคราะห์แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญต่อการทำความเข้าใจดาวศุกร์ แผนการในอนาคตนาซามีแผนการส่งยานสำรวจเวอริตัส (VERITAS) เดินทางไปสำรวจดาวศุกร์ ชื่อของยานอวกาศลำนี้เป็นภาษาละตินแปลว่า "ความจริง หรือความรู้ที่กระจ่างแจ้ง" โดยยานมีกำหนดการเดินทางจากโลกในช่วงปี 2031 อย่างไรก็ตามกำหนดการอาจเปลี่ยนแปลงเนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโครงการได้ถูกตัดงบประมาณหลายครั้ง
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ