รีเซต

ค้นพบ"ปลาค้างคาวอมก๋อย"ปลาชนิดใหม่ของโลก

ค้นพบ"ปลาค้างคาวอมก๋อย"ปลาชนิดใหม่ของโลก
TNN ช่อง16
8 พฤศจิกายน 2563 ( 09:07 )
2.9K
1
ค้นพบ"ปลาค้างคาวอมก๋อย"ปลาชนิดใหม่ของโลก

รศ.ดร.อภินันท์ สุวรรณรักษ์ อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ และผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ค้นพบปลาค้างคาวชนิดใหม่ของโลก จากลุ่มน้ำแม่ตื่น อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เรียกว่า “ปลาค้างคาวอมก๋อย” และตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oreoglanis omkoiense Suvarnaraksha, 2020 โดยได้ตีพิมพ์ในวารสาร Raffles Bulletin of Zoology ฉบับที่ 68 หน้า 779-790 ปี 2020  ซึ่งปลาในสกุลนี้พบได้ในบริเวณต้นน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำ น้ำไหลแรง ใสสะอาด  เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทั้งยังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้คนบนพื้นที่สูง           

                                                              

รศ.ดร.อภินันท์  กล่าวว่า “ปลาค้างคาวอมก๋อย (Oreoglanis omkoiense) จัดอยู่ในสกุล Oreoglanis ซึ่งเป็นสกุลของปลาที่มี  รูปทรงลู่ไปกับน้ำ ส่วนท้องแบนราบ แนบติดกับก้อนหินใต้น้ำ ก้านครีบเดี่ยวของครีบท้องกับครีบหูรวมถึงหนวดที่ขากรรไกรบนและบริเวณริมฝีปากจะ   มีตุ่มขนาดเล็กมากใช้ในการยึดเกาะกับก้อนหิน ส่วนของปากจะเป็นช่องสามเหลี่ยม ส่วนปลายของหนวดที่ขากรรไกรมีพังผืดยึดและลู่ไปด้านหลัง   จัดอยู่ในวงศ์ปลาแค้ติดหิน (Sisoridae) เป็นปลาค้างคาวที่พบในลุ่มน้ำ  แม่ตื่นจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับปลาค้างคาวสยาม (O. siamensis) ที่พบที่ลุ่มน้ำแม่กลางของดอยอินทนนท์ แตกต่างจากชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ปลายของหนวดที่ขากรรไกรบนมีปลายแหลม หนวดที่จมูกยาว 25.0-32.9% ของความยาวมาตรฐาน  ครีบไขมันมีฐานยาว 32.3-39.6% ของความยาวมาตรฐาน ระยะจากจะงอยปากถึงครีบหลัง 33.2–39.2% ของความยาวมาตรฐาน ระยะจากจะงอยปากถึงจุดเริ่มต้นครีบท้องยาว 36.1–39.2% ของความยาวมาตรฐาน ความลึกของคอดหางลึกเป็น 2.1–3.3 เท่าของความยาว หัวกว้าง 18.7–22.9% ของความยาวมาตรฐาน เส้นผ่าศูนย์กลางของตาเป็น 9.2–13.1% ของความยาวหัว ครีบหางเป็นแบบเว้าเข้าเล็กน้อย  ซึ่งปลาเหล่านี้ชาวท้องถิ่นนำมาปรุงอาหารรับประทานได้หลายรูปแบบ”



รศ.ดร. อภินันท์ ยังให้ข้อมูลที่  ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญต่อระบบนิเวศเพิ่มเติมว่า “ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่อาศัยอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่ดีมาก คือมีอุณภูมิของน้ำต่ำตลอดทั้งปี น้ำใส ไหลแรง มีปริมาณออกซิเจนสูง มีร่มเงาของป่าไม้ ปลากินแพลงตอนและแมลงน้ำขนาดเล็กที่เกาะอยู่บนก้อนหินเป็นอาหาร และไวต่อสารเคมีมาก ไข่มีจำนวนน้อย เพียงประมาณ 30-60 ฟอง จึงเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ   เพราะฉะนั้นหากมีการตัดไม้ทำลายป่า หรือใช้ยาฆ่าแมลง  ก็จะเป็นการทำลายห่วงโซ่อาหาร ทำลายระบบนิเวศ เพราะจะไม่มีแมลงบกที่ลงมาไข่ในน้ำ ปลาก็ไม่มีอาหารกิน ทรายที่เกิดจากการพังทลายของหน้าดินก็จะเข้ามาทับถมก้อนหิน ก็ไม่มีแพลงตอนบนก้อนหิน ไม่มีอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่สืบพันธุ์และเลี้ยงตัวอ่อน เป็นการทำลายแหล่งที่อยู่ของปลาเหล่านี้ และที่สำคัญยังเป็นการทำลายแหล่งอาหารโปรตีนจากปลาของประชาชนบนพื้นที่สูงอีกด้วย จึงอยากให้ช่วยกัน รักปลา รักษ์ป่า รักษาความสมดุล”



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง