เฮลั่น! "คนไทย" พัฒนาหัวรถจักร EV สำเร็จ ประหยัดพลังงานร้อยละ 40
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมชมการทดสอบการใช้งานรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ รถต้นแบบคันแรกในการพัฒนารถไฟระบบ EV on Train ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การใช้รถจักรพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญ โดยรฟท. ได้ศึกษาการใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการประกอบหัวรถจักรที่ติดตั้งระบบแบตเตอรี่และสามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าได้เอง ร่วมกับสถาบันการศึกษา และเอกชน ตามนโยบาย Thai First จนเกิดเป็นหัวรถจักร EV ต้นแบบคันแรกของประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2565 และพร้อมสำหรับการทดสอบการใช้งานในการลากจูงขบวนรถใช้รถโดยสาร ส่วนการใช้งานจริงจะเริ่มในปีนี้
สำหรับหัวรถจักรดังกล่าวหากชาร์จแบตเตอรี่เต็ม 1 ครั้ง จะมีสรรถนะในการลากจูง
ขบวนรถโดยสารได้ในระยะทาง 150 – 200 กิโลเมตร ใช้เวลาในการชาร์ตไฟครั้งละ 1 ชั่วโมง ประหยัดต้นทุนพลังงานร้อยละ 40-60 เมื่อเปรียบเทียบกับหัวรถจักรดีเซลทั่วไป
นอกจากนี้ รฟท. ได้ดำเนินโครงการจัดหารถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) จำนวน 50 คัน โดยได้ดำเนินการส่งมอบรถจักรไปแล้ว 20 คัน ส่วน 30 คันส่งมอบภายในปี พ.ศ. 2566 ต่อไป โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำแผน EV on Train ให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN