รีเซต

"หัวหรือก้อย" ดีเดย์นโยบาย "ภาษีทรัมป์" กุมชะตา "หุ้นไทย"

"หัวหรือก้อย" ดีเดย์นโยบาย "ภาษีทรัมป์" กุมชะตา "หุ้นไทย"
TNN ช่อง16
1 เมษายน 2568 ( 12:29 )
8

ทุกสายตาจับจ้องไปยังวันที่ 2 เม.ย. 2568 กับการประกาศนโยบาย "ภาษีศุลกากรตอบโต้" ครั้งใหญ่จากสหรัฐอเมริกา ที่ยากเกินกว่าจะคาดเดาความคิดของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่าจะกำหนดนโยบายออกมาอย่างไร ประเทศไหนบ้างที่จะ “ถูกหวย” โดนหมายหัว ถูกรีดภาษี เร่งชนวนระเบิดเวาลาของ “สงครามการค้า” ให้ยิ่งประทุดุเดือด

แล้วที่ผ่านมา “ทรัมป์” มีท่าทีอย่างไรบ้างกับการกำหนดนโยบายภาษีศุลการกรตอบโต้ กับความหนักใจ ของคนทั่วโลก กับความไม่แน่นอนของนโยบาย ที่สร้างความปั่นป่วน ชวนปวดหัวให้กับระบบเศรษฐกิจทั่วโลก แล้วชะตา “หุ้นไทย” จะเป็นอย่างไร หลังจากวันที่ 2 เม.ย.2568

นับตั้งแต่ก้าวแรกสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นสมัยที่ 2 สิ่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีมาโดยตลอดคือการนำพาสหรัฐอเมริกา “กลับมายิ่งใหญ่” เป็นผู้กุมชะตาระบบเศรษฐกิจโลก และหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทุกประเทศแสดงความวิตกกังวลนั่นก็คือ “ภาษีศุลการกรตอบโต้” ที่เป็นนโยบายในการดึงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่ในมือสหรัฐฯอีกครั้ง

ซึ่งนโยบายนี้ได้ถูกกำหนดโดยฝ่ายบริหารที่มีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นั่งบัลลังก์สั่งการ มีเป้าหมายที่ยังไม่แน่ชัดว่า จะมุ่งเน้นไปยังประเทศที่ “เกินดุลการค้า” สูง ๆ กับสหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว หรือมุ่งเน้นไปยังบางอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น หรือแม้แต่กระทั่งการเก็บภาษีจากทั่วทุกประเทศที่ส่งสินค้ามายังสหรัฐฯ

แล้วในวันที่ 2 เม.ย. 2568 นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ “จะออกหัว หรือ ก้อย” เพราะล่าสุดทางสหรัฐฯได้ออกประกาศว่าประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯจับตามองเป็นพิเศษในการกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ตุรกี อังกฤษ เวียดนาม และแน่นอนครับว่า “ไทย” ก็อยู่ในรายชื่อนี้ด้วยเช่นกัน

โดยจากการประเมินของนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้มีการประเมินสถานการณื หรือ Scenario ในการกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯที่จะมีผลต่อการลงทุนของไทยเอาไว้ 3 รูปแบบด้วยกัน

ในกรณีเลวร้ายที่สุด หรือ Worst Case สหรัฐฯจะกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ที่เข้มข้นรุนแรงกับประเทศในกลุ่ม “Dirty 15” หรือกลุ่มประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุด 15 อันดับ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งถ้ากรณีนี้เกิดขึ้น ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยเฉพาะภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และยางพารา ที่คิดเป็นมูลค่าส่งออกถึง 66% ของตัวเลขการส่งออกของทั้งหมดจากไทยไปยังสหรัฐฯ

อาจจะส่งผลให้ดัชนี SET Index ตอบสนองในเชิงลบอย่างรุนแรง และมีโอกาสทำจุดต่ำสุดใหม่ หรือ New Low ที่ 1,130-1,150 จุด

ส่วนกรณีที่เป็นกลาง หรือ Base Case สหรัฐฯจะกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ อาจจะเป็นรายประเทศ หรือรายอุตสหกรรม ซึ่งประเทศไทยอาจจะยังไม่ถูกกำหนดมาตรการในรอบนี้ หรืออาจจะถูกกำหนดเพียงบางอุตสาหกรรม ดัชนี SET Index ก็อาจจะถูกกดันจากปัจจัยภายนอกในเชิงของบรรยากาศการลงทุน หรือ Sentiment แต่ดัชนีหุ้นไทยอาจจะสามารถทรงตัว หรือฟื้นตัวได้เล็กน้อยจากในปัจจุบัน ซึ่งกรณีนี้ถือว่ามีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด

ในขณะที่กรณีที่ดีที่สุด หรือ Best Case สหรัฐฯจะกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้เพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ประเทศที่ถูกกำหนดมาตรการไปแล้ว ก็เปิดทางให้มีการเจรจาได้ บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกก็จะกลับมาสดใสขึ้น รวมถึง SET Index บ้านเราก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวขึ้นไปยืนเหนือ 1,200 จุด และ1,250 จุดได้ในระยะถัดไปหากไม่มีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม และมีปัจจัยในประเทศสนับสนุน

แต่เมื่อเราย้อนดูที่ผ่านมาสหรัฐฯกลับมีการประกาศแต่นโยบาย “รายวัน” ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตามใจ ไม่มีความแน่นอน จากการจัดเก็บให้มีความเท่าเทียม การเป็นการจัดเก็บเพื่อกดดัน สร้างความได้เปรียบ บังคับใช้ทันทีก็มี ประกาศล่วงหน้าก็มี บังคับใช้แล้วเลื่อนก็มี

เริ่มจากบ้านใกล้เรือนเคียง ที่สหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดา และเม็กซิโกในอัตรา 25% ก่อนประกาศเพิ่มการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมจากแคนาดาเป็น 50% จากเดิม 25% ก่อนที่จะมีการยกเลิกประกาศในการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก และอะลูมิเนียมจากแคนาดา และได้เลื่อนเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดา และเม็กซิโกออกไปเป็นวันที่ 2 เม.ย. 2568 หลังมีการเจรจากันในเรื่องของการเรียกเก็บภาษีจากแคนาคาในการส่งออกไฟฟ้าไปยังสหรัฐฯ

ในขณะที่ “จีน” ประเทศที่ถูกมองว่าเป็นเป้าหมายลำดับต้น ๆ ที่ถูกสหรัฐฯหมายหัวเอาไว้ก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์จะรับตำแหน่งด้วยซ้ำ ก็ถูกกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้เป็นรายแรก ๆ ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 10% และเพิ่มขึ้นเป็น 20% ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน

ก่อนที่จะถูกทางการจีนตอบโต้ด้วยการระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าบางรายการเพิ่มอีก 15% พร้อมกับควบคุมการส่งออกสินค้าไปยังบริษัทสหรัฐฯ จำนวน 15 แห่ง โดยที่ล่าสุดสหรัฐอาจเสนอลดภาษีนำเข้าให้กับจีน แลกกับการที่จีนอนุมัติการขายติ๊กต๊อก (TikTok) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวิดีโอสั้นยอดนิยม ให้กับกลุ่มนักลงทุน 4 กลุ่มที่สนใจ

รวมถึงการประกาศว่าจะเรียกเก็บภาษีนำเข้า 25% กับประเทศใดก็ตามที่ซื้อน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติจากเวเนซุเอลา เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาล นิโกลัส มาดูโร และยับยั้งการขยายอิทธิพลของจีนในอุตสาหกรรมน้ำมันเวเนซุเอลา

แต่ในทางกลับกันสหรัฐฯกลับมีท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้นให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ได้ตกลงที่จะปรับลดภาษีนำเข้ารถยนต์ลงเหลือ 2.5% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ EU ทำร่วมกับคณะบริหารของทรัมป์ แต่ล่าสุดก็ประกาศเก็บภาษี 25% จากการนำเข้ารถยนต์ทุกคันขแงสหรัฐ ไม่ว่ามาจากประเทศไหนก็ตาม

รวมถึงล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ออกมายืนยันด้วยตนเองว่า มาตรการภาษีตอบโต้ที่เตรียมประกาศในวันที่ 2 เมษายน 2568 นี้ จะครอบคลุม “ทุกประเทศ” ซึ่งนับเป็นการสยบกระแสข่าวลือที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่าประธานาธิบดีทรัมป์อาจจะจำกัดขอบเขตของมาตรการภาษีดังกล่าว ให้มีผลกับแค่บางประเทศเท่านั้นในช่วงแรก

ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน คำพูดนี้คงจะไม่เกินจริงสำหรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 2 เม.ย. 2568 ถึงแม้ว่าจะมีหลายฝ่ายที่คาดการณ์แนวโน้มของมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐ แต่ใครจะสามารถเดาใจ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ และที่สำคัญ ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ออกมาอย่างไร โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเราคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ตลอด 4 ในสมัยการดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างแน่นอน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง