รีเซต

ภาวะโลกร้อนเร่งความเค็ม กระทบสมดุลทะเลสาบชายฝั่ง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำถูกคุกคาม

ภาวะโลกร้อนเร่งความเค็ม  กระทบสมดุลทะเลสาบชายฝั่ง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำถูกคุกคาม
TNN ช่อง16
20 พฤษภาคม 2568 ( 13:00 )
13

ผลจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อทะเลสาบชายฝั่งทำให้ความเค็มของน้ำเข้มข้นขึ้นจนเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศตามธรรมชาติบริเวณชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และที่พักพิงของนกอพยพ 

 

ในสภาวะปกติ ทะเลสาบชายฝั่งจะทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลปลาและสัตว์น้ำในทะเล และเป็นแหล่งอาหารให้กับฝูงนกอพยพก่อนออกเดินทางต่อ เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่รายงานวิจัยล่าสุดถูกตีพิมพ์ในวารสารEarth-Science Reviewsระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ทะเลสาบชายฝั่งในหลายที่กลับมีความเค็มจัด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทั่วโลก โดยเฉพาะทะเลสาบชายฝั่งในออสเตรเลีย อ่าวเปอร์เซีย และในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สาเหตุที่ทำให้ความเค็มเพิ่มมากขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ส่งผลให้เกิดการระเหยมากขึ้น รวมถึงปริมาณน้ำฝนลดลงทำให้น้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบน้อยลงตามไปด้วย นอกจากนี้การขยายตัวของเมือง และการลดลงของน้ำใต้ดินยังมีส่วนทำให้น้ำจืดและน้ำใต้ดินลดต่ำลงจนไม่สามารถเจือจางความเค็มในทะเลสาบได้ ปรากฏการณ์นี้เห็นชัดเจนที่ทะเลสาบชายฝั่งของออสเตรเลียในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจากงานวิจัยยังชี้ว่า การเสื่อมโทรมลงของทะเลสาบมีแนวโน้มเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซ้ำเติมความรุนแรงของภาวะโลกร้อนให้เพิ่มมากขึ้น 


การจัดการปัญหาความเค็มสูงในทะเลสาบชายฝั่งยังช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ลดอัตราการตายของปลาในแหล่งน้ำ บรรเทาปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบกับหญ้าทะเลที่เป็นแนวป้องกันน้ำตามธรรมชาติอีกด้วย


อย่างไรก็ตามความเค็มที่เพิ่มขึ้นในทะเลสาบชายฝั่งทั่วโลกยังสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ หากมีการปรับตัวของธรรมชาติอย่างสมดุลอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในออสเตรเลียเมื่อปี 2022 ส่งผลให้น้ำจืดจำนวนมากไหลลงสู่ทะเลสาบชายฝั่ง หลังจากนั้นไม่กี่เดือนความเค็มในทะเลสาบคูร็องลดลง และสามารถปรับสมดุลกลับมาได้อีกครั้ง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง