รีเซต

6 ปีรัฐประหาร : เปิดสถิติคดีการเมือง-ละเมิดสิทธิภายใต้ "ระบอบ คสช." จากยุคอำนาจนิยม ถึง อำนาจกลายรูป

6 ปีรัฐประหาร : เปิดสถิติคดีการเมือง-ละเมิดสิทธิภายใต้ "ระบอบ คสช." จากยุคอำนาจนิยม ถึง อำนาจกลายรูป
บีบีซี ไทย
22 พฤษภาคม 2563 ( 08:53 )
275

Getty Images
ทหารยืนประจำการบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในคืนวันที่ 22 พ.ค. 2557 หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในขณะนั้น กระทำการรัฐประหารและประกาศเคอร์ฟิวซึ่งมีผลตั้งแต่เวลา 22.00 น. ของวันเดียวกัน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน พบนักกิจกรรมการเมืองและนักศึกษาผู้จัดแฟลชม็อบถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามตัว แม้มีการเลือกตั้งแล้วก็ตาม ขณะเดียวกันยังมีนักโทษคดีการเมือง 28 คนยังถูกจองจำ และอีกกว่า 100 คนตกที่นั่ง "ผู้ลี้ภัยทางการเมือง"

 

ในวาระครบรอบ 6 ปี การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ศูนย์ทนายฯ เผยแพร่รายงาน 18 หน้า เรื่อง "ราวกับ คสช. ยังไม่จากไปไหน: 6 ปีรัฐประหาร กับการละเมิดสิทธิที่ยังคงอยู่"

 

รายงานสรุปว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดให้ คสช. พ้นจากอำนาจเมื่อมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ แต่ "เครือข่ายอำนาจของ คสช. ไม่ได้สิ้นสุดบทบาทตาม แต่กลับสืบทอดอำนาจต่อไปได้สำเร็จ" ผ่านกลไกทางการเมืองและกลไกทางกฎหมายต่าง ๆ อีกทั้งยังพบความพยายามปิดกั้นการใช้เสรีภาพทางการเมืองของประชาชน ทว่าได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่

 

นายนพพล อาชามาส เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สถิติการตั้งข้อหากับประชาชนในรอบปีที่ผ่านมา อาจลดลงจากช่วง 5 ปีที่ คสช. มีอำนาจเต็ม ทว่า วิธีคิดยังสืบเนื่องต่อกันมา เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้ข้ออ้างเดิมว่าด้วยการรักษาความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน แต่ปรับวิธีทำ จากเคยใช้เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ปฏิบัติการ ก็เปลี่ยนไปใช้ตำรวจมากขึ้น

 

ลักษณะเด่นของการปกครองของคณะรัฐประหารปี 2557 ในทัศนะของนายนพดลคือ การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็น "เครื่องมือปราบปรามประชาชน" ทำให้เกิดความเห็นในทางวิชาการทั้งเรื่อง "ฟ้องปิดปาก" และ "นิติสงคราม" (lawfare) เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ จนแทบกลายเป็นเรื่องปกติ จนผู้คนรู้สึกเคยชิน

 

"ความน่ากลัวคือถ้าสังคมไปเคยชินกับเรื่องแบบนี้ ก็จะทำให้เส้นในการแสดงความคิดเห็นลดลง ๆ จนเราไม่รู้ว่าตรงไหนคือเส้นที่พูดได้ แสดงออกได้" นายนพพลกล่าวและว่า สถิติคดีการเมืองและการละเมิดสิทธิที่ศูนย์ทนายฯ รวบรวมไว้ จึงสะท้อนพลวัตรการใช้อำนาจในแต่ละช่วงเวลาของ คสช.

 

อดีตโฆษก คสช. ข้องใจ "ข้อมูลน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน"

ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และอดีตโฆษก คสช. ปฏิเสธจะให้ความเห็นกับบีบีซีไทยเกี่ยวกับรายงานของศูนย์ทนายฯ เนื่องจากยังไม่มีโอกาสอ่านรายงานฉบับเต็ม และต้องสอบทานข้อเท็จจริงจากฝ่ายกฎหมายของ คสช. เสียก่อนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นทางการ อย่างไรก็ตามเขาได้ตั้งคำถามว่า ข้อมูลชุดนี้ "น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน" เพราะบ่อยครั้งที่พบข้อมูลคลาดเคลื่อน สื่อจึงต้องระวังในการนำเสนอ

 

"ในช่วง คสช. ผมไม่เห็นมีอะไรผิดปกติ การให้ความเป็นธรรมก็มีตามปกติ การบาดเจ็บล้มตายก็ไม่มี โดยภาพรวมเกิดความสงบเรียบร้อยดีต่อสังคม แต่ในมุมวัฒนธรรม องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอาจมีมุมของเขา" พ.อ.วินธัยกล่าว

 

ส่วนการจัดกิจกรรมของกลุ่มต่าง ๆ ในวาระครบรอบ 6 ปีรัฐประหาร เป็นสิ่งที่อดีตโฆษก คสช. "รู้อยู่แล้ว" ว่าจะเกิดขึ้นเพราะกิจกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี แต่ไม่ขอแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมือง

 

หลังการติดต่อทางโทรศัพท์ บีบีซีไทยส่งหนังสือถึงอดีตโฆษก คสช. เพื่อขอคำชี้แจงต่อประเด็นสำคัญ ๆ ที่ปรากฏในรายงานของศูนย์ทนายฯ เมื่อได้คำตอบ จะรายงานให้ทราบอีกครั้ง

 

สถิติการละเมิดสิทธิภายใต้ "ระบอบ คสช." เปรียบเทียบยุคอำนาจนิยม-ยุคอำนาจนิยมกลายรูป

ช่วงเวลา

ผู้ถูกติดตาม/คุกคามถึงบ้าน

กจก.สาธารณะที่ถูกปิดกั้น/แทรกแซง

ผู้ถูกดำเนิน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ

ผู้ถูกดำเนินคดี ม. 112

ผู้ถูกดำเนินคดี ม. 116

ผู้ถูกดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมฯ

ประยุทธ์ 1

592

361

276

169

124

197

ประยุทธ์ 2

191

55

28

0

3

42

ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากรายงานศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ "ประยุทธ์ 1" หมายถึงช่วงเวลา 22 พ.ค. 2557-16 ก.ค. 2563 และ "ประยุทธ์ 2" หมายถึงช่วง 17 ก.ค. 2562-30 เม.ย. 2563

 

191 ผู้ชุมนุม ถูกติดตามในยุครัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ พบว่า จำนวนผู้ถูก "คุกคาม-ข่มขู่" โดยเจ้าหน้าที่รัฐมีอัตราต่อปีเพิ่มเติมในช่วงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2562 กล่าวคือ ในช่วง 5 ปี 2 เดือน ที่ คสช. ครองอำนาจ มีประชาชนอย่างน้อย 592 คนถูกติดตามคุกคามถึงบ้านหรือข่มขู่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยบางรายมีเจ้าหน้าที่ไปพบและติดตามหลายสิบครั้ง ส่วนในช่วงไม่ถึง 1 ปี หลัง คสช. หมดอำนาจอย่างเป็นทางการ มีประชาชนอย่างน้อย 191 คนถูกคุกคามหรือข่มขู่ ส่วนหนึ่งเป็นนักกิจกรรมการเมือง "ขาประจำ" ที่เคยออกมาต่อต้าน คสช. ขณะที่บางส่วนก็เป็นคนหน้าใหม่

 

กิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" ในช่วงต้นปีนี้ ทำให้ประชาชนอย่างน้อย 62 คนในหลายจังหวัดถูกติดตามตัว ส่วนกิจกรรม "แฟลชม็อบ" ของนิสิตนักศึกษาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้คนรุ่นใหม่อย่างน้อย 22 คนต้องประสบชะตากรรมไม่ต่างกัน

 

นายนพพล ผู้จัดทำรายงานของศูนย์ทนายฯ เล่าว่า มีเจ้าหน้าที่ไปข่มขู่เจ้าของหอพักที่นักศึกษามหาวิยาลัยพะเยา ผู้จัดกิจกรรม "วิ่งไล่ลุง" พักอาศัยอยู่ โดยแจ้งว่าจะขอหมายค้นเข้าตรวจค้นห้องพัก ที่สุดแล้วเจ้าของหอจึงขอให้นักศึกษาคนนั้นย้ายออกจากที่พักไป หรือนักศึกษาที่จัด "แฟลชม็อบ" ที่ จ.ระยอง ก็ถูก "ชายหัวเกรียนคล้ายทหาร" ไปตามหาถึงที่บ้าน แล้วถ่ายรูปครอบครัวไป

 

"บางครั้งเจ้าหน้าที่พูดคุยกับผู้ถูกติดตามด้วยดี หากแต่ลักษณะการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวและการแสดงออกถึงการจับตาสอดส่องโดยไม่แน่ชัดว่าอาศัยอำนาจตามกฎหมายใด ส่งผลให้ประชาชนผู้ถูกติดตามเกิดความหวาดกลัว ได้รับผลกระทบในด้านต่าง ๆ หรือทำให้ผู้ถูกคุกคามไม่กล้าแสดงออกทางการเมือง นับได้ว่าปฏิบัติการดังกล่าวเป็นการข่มขู่คุกคามโดยรัฐรูปแบบหนึ่ง และส่งผลต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน" รายงานของศูนย์ทนายฯ ระบุ

 

ผู้ให้ข้อมูลต่อศูนย์ทนายฯ บางส่วนอ้างถึงคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ที่ไปติดตามตัวพวกเขาว่าเป็นเพราะมีชื่ออยู่ใน "บัญชีบุคคลที่อยู่ในรายชื่อเฝ้าระวัง" อย่างไรก็ตามทางผู้จัดทำรายงานฉบับนี้ยอมรับกับบีบีซีไทยว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าบัญชีดังกล่าวมีจริงหรือไม่และจัดทำโดยหน่วยงานใด

 

732 คนถูกขั้งข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ถึง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

หาก "ฐานความผิดหลัก" ที่ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 คือข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งห้ามมั่วสุ่มหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามประกาศ คสช. ที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 โดยพบผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 428 คน "เครื่องมือใหม่" ที่ถูกได้มาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุค คสช. และถูกใช้งานในปัจจุบันก็คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ทั้งนี้ศูนย์ทนายฯ พบว่าก่อนสิ้นยุค คสช. มีประชาชนอย่างน้อย 276 คนถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ควบคู่กับประกาศและคำสั่ง คสช.

 

ขณะที่ในช่วงหลัง คสช. มีการชุมนุมสาธารณะอย่างน้อย 42 ครั้งถูกเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้นแทรกแซง ในจำนวนนี้มี 14 กิจกรรมต้องยกเลิกไป และมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 18 คดี รวม 28 คน

 

ชุดคดีสำคัญ ๆ ได้แก่ คดีแฟลชม็อบ "ไม่ถอยไม่ทน" ของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่ลานสกายวอล์ก กทม. และอีกหลายจังหวัด เมื่อ ธ.ค. 2562 พบผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 11 คน และคดี "วิ่งไล่ลุง" เมื่อ ม.ค. 2563 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดต่าง ๆ เห็นว่าเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จึงเอาผิดในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมฯ อย่างน้อย 17 คน

 

โดยภาพรวม ตลอดช่วง "ประยุทธ์ 1" มีกิจกรรมถูกปิดกั้นแทรกแซงโดยเจ้าที่รัฐอย่างน้อย 361 กิจกรรม ในจำนวนนี้มี 168 กิจกรรมต้องถูกยกเลิกไป ส่วนที่เหลือยังจัดได้ ส่วนในช่วง "ประยุทธ์ 2" พบความพยายามปิดกั้นแทรกแซง 55 กิจกรรม และทำให้ 14 กิจกรรมต้องล่มลง

 

คดี ม. 112 ไม่เพิ่ม แต่งัด กม.อื่น-ปฏิบัติการข่มขู่ ปิดกั้น

การควบคุมปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นประเด็นซึ่งต้องจับตาในประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้ข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน ซึ่งศูนย์ทนายความฯ พบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้อย่างน้อย 169 คนหลังรัฐประหาร 2557 แบ่งเป็น ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็น 106 คน และการแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์ 63 คน

 

แม้ตั้งแต่ปี 2561 หลังการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย แนวโน้มการบังคับใช้มาตรา 112 จะลดลง แต่ศูนย์ทนายฯ เห็นว่า "การปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ยังคงมีอยู่ผ่านการบังคับใช้กฎหมายอื่น" คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นอกจากนี้ยังมี "ปฏิบัติการควบคุมตัวบุคคลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย" และ "การข่มขู่คุกคาม"

 

  • คดีนายกานฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ นักกิจกรรมการเมือง ถูกควบคุมตัวเมื่อ 7 ต.ค. 2562 และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ
  • คดี "นิรนาม" ผู้ใช้ทวิตเตอร์วัย 20 ปีซึ่งมีผู้ติดตามหลายแสนคน ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับเมื่อ 19 ก.พ. 2563 และแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จากการทวีตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10
  • กรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @99CEREAL ถูกควบคุมตัวจากมหาวิทยาลัยไป สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เมื่อ พ.ย. 2562 โดยไม่มีหมายเรียกหรือหมายจับ และไม่ได้ปรึกษาทนายความ จากการรีทวีตข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ตลอดเวลาที่ถูกซักถาม มีเจ้าหน้าที่คอยบันทึกวิดีโอ และขอภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ, รหัสเข้าใช้งานบัญชีทวิตเตอร์, ดูข้อความสนทนา และถูกกดดันให้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าจะไม่ทวีตข้อความที่เกี่ยวกับสถาบันอีกก่อนปล่อยตัว
  • กรณีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามสอดส่องปรากฏการณ์ไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ เมื่อ ส.ค. 2562 และเรียกตัวบุคคลที่ไม่ยืนออกมาขอข้อมูลส่วนตัวและถ่ายรูปบัตรประชาชน

 

"ปิดปาก" ฝ่ายค้านด้วยคดี ม. 116

หลังการเลือกตั้ง 2562 หนึ่งในกลุ่มคนที่ตกเป็นเป้าหมายในการตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 คือนักการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะแกนนำ อนค. ที่แม้ไม่มีสถานภาพทางการเมืองในปัจจุบัน ภายหลังศาลรัฐธรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิการเมือง 10 ปี แต่อดีต ส.ส.อนค. 9 คนยังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาในคดีอาญาที่เกิดจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกรวม 10 คดี

 

ในจำนวนนี้มี 2 คดียุยงปลุกปั่นฯ คือ คดีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกกล่าวหาย้อนหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารของนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่าขบวนการประชาธิปไตยใหม่เมื่อปี 2558 และคดีที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แจ้งจับนักการเมืองฝ่ายค้านและนักวิชาการรวม 12 คน กรณีจัดเวทีเสวนา "พลวัตแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่นับหนึ่งรัฐธรรมนูญใหม่" ที่ จ.ปัตตานี โดยกล่าวหาว่าปลุกปั่นให้มีการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน จากเนื้อหาการเสวนาที่กล่าวถึงการแก้ไขมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ

 

ศูนย์ทนายฯ ชี้ว่า การพุ่งเป้าดำเนินคดี นอกจากสะท้อนความพยายาม "ปิดปาก" นักการเมืองฝ่ายค้าน ยังสะท้อนความพยายามทำลายระบบการถ่วงดุลตรวจสอบการทำงานของรัฐที่ควรเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติในสังคมประชาธิปไตยอีกด้วย

 

ไม่ฟ้องหลายคดี พ.ร.บ.คอมฯ เหตุวิจารณ์ คสช. ไม่กระทบความมั่นคงชาติ

ในยุค 5 ปีภายใต้ คสช. ศูนย์ทนายฯ พบว่ามีประชาชนอย่างน้อย 197 คนถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในโลกออนไลน์

ส่วนในช่วงหลัง คสช. มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้ 42 คน ในจำนวนนี้มี 37 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเผยแพร่ข่าวปลอม หรือเฟคนิวส์ โดยที่ 28 คนเป็นข่าวปลอมเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

 

รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เมื่อ พ.ย. 2562 เพื่อจับตาการเผยแพร่ข่าวปลอม แก้ไขข่าวที่เห็นว่าเป็นข่าวปลอม และดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอม ซึ่งศูนย์ทนายฯ เห็นว่า ผู้ถูกดำเนินคดีบางส่วนใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนำเสนอข้อมูลตามที่พบเห็นหรือข้อมูลที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นจริงหรือเท็จ แต่มีแง่มุมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ เช่น คดีนายดนัย อุศมา ศิลปินกราฟิตี้วัย 42 ปี ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กติงมาตรการคัดกรองโควิด-19 ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

 

"ผู้ถูกดำเนินคดีหลายรายไม่ได้มีเจตนาเผยแพร่ข่าวปลอม แต่กดแชร์ข้อมูลของบุคคลอื่นโดยไม่ทราบว่าเป็นเท็จ แต่กลับยินยอมรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เนื่องจากกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหากต่อสู้คดี" ศูนย์ทนายฯ ตั้งข้อสังเกต

 

ท่ามกลางแนวโน้มการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดำเนินคดีกับประชาชน ศูนย์ทนายฯ ชี้ว่า หลายคดีสิ้นสุดลงโดยผู้ถูกกล่าวหา/จำเลย ไม่มีความผิด ส่วนมากเป็นคดีที่เกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ

  • คดีจบในชั้นศาล - ศาลพิพากษายกฟ้องผู้แชร์ข้อความจากเพจ "กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ" ที่วิจารณ์ คสช. ไม่ดูแลปัญหายาเสพติด โดยศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวกระทบภาพลักษณ์ คสช. เท่านั้น ไม่มีผลต่อความมั่นคงของประเทศ
  • คดีจบในชั้นอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง

 

"คดีเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่ คสช. และกองทัพใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกล่าวหาผู้วิจารณ์กองทัพ... แม้ในที่สุดคดีจะไม่ถูกสั่งฟ้องถึงชั้นศาล แต่ผู้ต้องหาต้องแบกรับภาระทางคดีในการต่อสู้คดีเป็นเวลาหลายปี" รายงานของศูนย์ทนายฯ สรุปไว้

 

ศาลทหาร กับ คุกในค่ายทหาร

การให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยเฉพาะพลเรือนผู้ต่อต้านการรัฐประหารเป็น "รูปแบบการปราบปรามทางการเมืองที่สำคัญในยุค คสช." ตามความเห็นของศูนย์ทนายฯ

สถิติของกรมพระธรรมนูญระบุว่า ในช่วง 5 ปีของ คสช. มีการดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร 2,408 คน จาก 1,886 คดี ก่อนที่หัวหน้า คสช. จะออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. 78 ฉบับที่หมดความจำเป็น หนึ่งในผลที่เกิดขึ้นคือสารพัดคดีการเมืองที่อยู่ในศาลทหารถูกโอนย้ายไปอยู่ในความรับผิดชอบศาลพลเรือน

 

ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เปิดเผยว่า มีคดีพลเรือนถูกโอนย้ายมาจากศาลทหาร 162 คดี

นอกจากมี "ศาลทหาร" ยังมี "คุกในค่ายทหาร" ไว้ขังพลเรือน เมื่อ คสช. ตั้งเรือนจำชั่วคราวภายในพื้นที่กองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ. 11) แขวงถนนนครไชยศรี กทม. เมื่อเดือน ก.ย. 2558 เพื่อคุมขังผู้ต้องหาคดีความมั่นคง

 

ผู้ต้องขังพลเรือนหลายรายถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำแห่งนี้ อาทิ ผู้ต้องหาในคดีวางระเบิดที่แยกราชประสงค์, ผู้ต้องหาในกลุ่มคดีเดียวกับ "หมอหยองผู้ติดเชื้อในกระแสเลือด" และผู้ต้องหาในคดี ม. 112 ฯลฯ

 

กระทั่งเดือน มี.ค. 2562 มีการย้าย มทบ.11 ไปอยู่ที่แขวงทุ่งสองห้อง กระทรวงยุติธรรมจึงออกประกาศย้ายเรือนจำชั่วคราวแห่งนี้ไปอยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่เปลี่ยนชื่อเป็น "เรือนจำชั่วคราวแขวงทุ่งสองห้อง" และใช้คุมขังผู้ต้องหาคดีความมั่นคงดังเดิม

 

ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 7 ก.พ. ระบุว่า มีผู้ต้องขัง 6 คน แบ่งเป็นคดีเกี่ยวกับเหตุระเบิดภาคใต้ 3 คน, คดีเหตุระเบิดราชประสงค์ 2 คน และคดี ม. 112 อีก 1 คน เมื่อรวมยอดผู้ถูกคุมขังใน "คุกในค่ายทหาร" ทั้งที่แขวงนครไชยศรีและแขวงทุ่งสองห้องอยู่จึงอยู่ที่ 53 คน

 

ทนายความของศูนย์ทนายฯ บรรยายความยากลำบากในการเยี่ยมลูกความไว้รายงานี้ เนื่องจากผู้คุมส่วนใหญ่เป็นทหาร ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ จึงมีขั้นตอนมากกว่าปกติ เช่น มีทหารคอยเฝ้าระหว่างเยี่ยม คอยจำกัดเวลาให้คำปรึกษาซึ่งกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีของผู้ถูกคุมขัง นอกจากนี้ผู้ถูกคุมขังยังร้องเรียนถึงสภาพการถูกคุมขัง ทั้งถูกซ้อมทรมานให้รับสารภาพ หรือถูกแยกขังเดี่ยว

 

ผู้ลี้ภัยการเมือง

อีกผลพวงสำคัญจากระบอบ คสช. ที่ไม่ได้สิ้นสุดลงพร้อมคณะรัฐประหารที่ศูนย์ทนายฯ ชี้ชวนให้สังคมพิจารณาคือ การที่ประชาชนจำนวนมากถูกจองจำในฐานะ "นักโทษทางการเมือง" หรือไม่อาจเดินทางกลับบ้านเกิดได้กลายเป็น "ผู้ลี้ภัยทางการเมือง"

 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ ระบุว่า ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. 2563 มีผู้ต้องขังในเรือนจำจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลังรัฐประหาร 2557 อย่างน้อย 28 คน แบ่งเป็นกลุ่มนักโทษคดี ม. 112 จำนวน 17 คน, กลุ่มผู้ต้องขังคดีสหพันธรัฐไทและคดี ม. 116 จำนวน 3 คน และกลุ่มผู้ต้องขังที่ต่อสู้คดีในข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ จำนวน 8 คน

 

นอกจากนี้ยังมีประชาชนอย่างน้อย 104 คนตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลไม่ต้องการเข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช., หวาดกลัวจากการถูกติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ทหาร, หรือถูกออกหมายจับในคดี ม. 112 และคดีเกี่ยวข้องกับอาวุธ

 

ในจำนวนผู้ลี้ภัยเหล่านี้ ศูนย์ทนายฯ ระบุว่ามีรายงานบุคคลที่อาจถูกบังคับให้สูญหาย 6 คน โดย 3 คนเกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ได้แก่ นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง, นายสยาม ธีรวุฒิ และนายกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งในเดือน พ.ค. 2562 มีรายงานว่าทางการเวียดนามได้ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้กลับประเทศไทย แต่ทางการทั้ง 2 ประเทศปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และไม่มีใครติดต่อพวกเขาได้อีก อีกทั้งยังเกิดกรณี 2 ผู้ลี้ภัยกลายเป็นศพลอยมาตามแม่น้ำโขงในสภาพถูกกระทำอย่างโหดร้ายทารุณ และยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างไรและโดยใคร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง