รีเซต

"ตาลีบัน" ประกาศตั้งรัฐบาลรักษาการอัฟกานิสถานชุดใหม่ "ฮักกานี" นั่งรมว.มหาดไทย

"ตาลีบัน" ประกาศตั้งรัฐบาลรักษาการอัฟกานิสถานชุดใหม่ "ฮักกานี" นั่งรมว.มหาดไทย
TNN ช่อง16
8 กันยายน 2564 ( 06:50 )
186

กลางดึกเมื่อคืนที่ผ่านมา (7 กันยายน) กลุ่มตาลีบัน ที่ยึดอัฟกานิสถานได้ตั้งแต่เมื่อกลางเดือนสิงหาคม ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมี มุลเลาะห์ โมฮัมหมัด ฮัสซัน อัคฮุนด์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ซาบิลฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกหลักของกลุ่มตาลีบัน ย้ำว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ จะดำรงตำแหน่งรักษาการเท่านั้น โดยบุคคลที่มีประวัติน่าสนใจใน ครม.ตาลีบัน มีดังนี้

 

"นายกรัฐมนตรี" ฮัสซัน อัคฮุนด์ ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นประธานสภาผู้นำของกลุ่มตาลีบัน หรือ ‘เรห์มารี ชูรา’ ซึ่งเป็นสภาที่ผู้กำหนดทิศทางเด็ดขาดของกลุ่ม เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนแรก และรองนายกรัฐมนตรี ในสมัยที่ตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน ระหว่างปี 1996-2001 อีกทั้งยังเป็นคนใกล้ชิดของผู้ก่อตั้งกลุ่ม คือ มุลเลาะห์ โอมาร์ ด้วย ในฐานะที่ปรึกษาด้านการเมือง

 

 

และเกิดที่เมืองกันดาฮาร์ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดกลุ่มตาลีบันด้วย ประกอบกับความเป็นคนใกล้ชิดกับผู้ก่อตั้งผู้ล่วงลับ ทำให้เขาได้รับความเคารพอย่างสูงในกลุ่มตาลีบันผู้สังเกตการณ์มองว่า อัคฮุนด์ ซึ่งปัจจุบัน ประมาณว่าอายุ 60 กลาง ๆ เป็นผู้นำเชิงการเมือง มากกว่าผู้นำทางศาสนา และเชี่ยวชาญด้านกิจการทหาร

 

"รองนายกรัฐมนตรี" คือ มุลเลาะห์ อับดุล กานี บาราดาร์ เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มตาลีบัน และเพื่อนรักของผู้ก่อตั้ง คือ มุลเลาะห์ โอมาร์ ถึงขั้นเรียกกันเป็นพี่เป็นน้อง ในสมัยที่ตาลีบันปกครองอัฟกาฯ เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม แต่หลังรัฐบาลตาลีบันล่มสลาย เขาเป็นผู้บัญชาการทหารอาวุโส รับบทบาทสู้รบกับกองกำลังชาติพันธมิตรตะวันตก

 

"รัฐมนตรีต่างประเทศ" คือ เมาลาวี อามีร์ ข่าน มัตตากี พื้นเพมาจากจังหวัดปากเตีย แต่เรียกตัวเองเป็นพลเมืองจังหวัดเฮลมานด์ มัตตากี เคยเป็นรัฐมนตรีวัฒนธรรมและสารนิเทศ ในช่วงที่ตาลีบันปกครองอัฟกาฯ ครั้งก่อน แล้วยังควบรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาด้วย ภายหลัง เขาถูกส่งไปประจำสำนักงานในกาตาร์ และเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการสันติภาพ เพื่อเจรจากับสหรัฐฯ

 

 

น่าสนใจว่า มัตตากี ไม่ได้เป็นผู้นำทางทหาร หรือผู้นำทางศาสนา  แต่เป็นผู้นำคณะกรรมาธิการเชิญชวนและชี้นำ ซึ่งในช่วงที่ทำสงครามกับกองกำลังชาติตะวันตก จะทำหน้าที่ชักชวนเจ้าหน้าที่รัฐบาลและบุคคลสำคัญในรัฐบาลอัฟกาฯ ให้แปรพักตร์มาอยู่กับตาลีบัน

 

 

จากแถลงการณ์และถ้อยปราศรัย สำนักข่าว Reuters วิเคราะห์ว่า มัตตากีมีทัศนคติสายกลาง ไม่สุดโต่ง เน้นการเจรจามากกว่าสู้รบ 

 

"รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม" คือ มุลเลาะห์ ยาคูบ เขาเป็นบุตรชายของผู้ก่อตั้งตาลีบัน มุลเลาะห์ โอมาร์, เดิมทีเขาหวังจะสืบทอดตำแหน่งจากบิดา แต่พอสภาผู้นำ แต่งตั้ง มุลเลาะห์ อัคห์ตาร์ มันซูร์ เป็นผู้นำคนใหม่ เขาก็ประท้วงด้วยการเดินออกจากสภา แต่ภายหลังก็กลับมาปรองดองกันได้

 

 

ยาคูบยังหนุ่ม อายุ 30 ต้น ๆ แม้จะไม่มีประสบการณ์สู้รบมากนัก แต่ก็มีอิทธิพลต่อเหล่าคนที่ยังภักดีต่อบิดา เมื่อปีก่อน เขาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมาธิการทางทหาร ดูแลปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดในอัฟกาฯ และเป็นหนึ่งในสามรองผู้นำ ร่วมกับบาราดาร์ และไซราฮุดดิน ฮักกานี

 

"รัฐมนตรีมหาดไทย" คือ มุลเลาะห์ ไซราฮุดดิน ฮักกานี เป็นผู้นำเครือข่ายฮักกานี ที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก ด้วยการสืบทอดตำแหน่งจากบิดาผู้ล่วงลับ คือ จาลาลุดดิน ฮักกานี นับแต่ปี 2018 แต่เดิม เครือข่ายฮักกานีได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในช่วงการต่อสู้กับสหภาพโซเวียตในทศวรรษที่ 1980s แต่ต่อมา เครือข่ายนี้ กลายเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีร้ายแรงหลายครั้ง ต่อกองกำลังพันธมิตรตะวันตกในอัฟกาฯ 

 

 

สถานะของเครือข่ายฮักกานีในโครงสร้างอำนาจของตาลีบัน ค่อนข้างคลุมเครือ เพราะสหรัฐฯ มองว่าเป็นองค์กรก่อการร้ายต่างชาติ ส่วนกลุ่มตาลีบันนั้น ไม่ได้อยู่ในบัญชีกลุ่มก่อการร้าย

 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ฮักกานี ยังเป็นหนึ่งในบุคคลที่สำนักสอบสวนกลางแห่งสหรัฐฯ หรือ FBI ต้องการตัวมากที่สุด เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดฆ่าตัวตายหลายครั้ง และเกี่ยวพันกับกลุ่มอัลกออิดะห์ด้วย นอกจากนี้ FBI ยังได้ตั้งค่าหัวสูงถึง 320 ล้านบาท สำหรับข้อมูลที่นำไปสู่การจับกุมฮักกานีได้

 

"รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศ" คือคนที่อาจเห็นหน้ามาหลายครั้งแล้ว นั่นคือ ซาบิลฮุลเลาะห์ มูจาฮิด ซึ่งก็เป็นโฆษกกลุ่มตาลีบันมายาวนานแล้ว มูจาฮิด ยังเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลการก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายผ่านบัญชี Twitter ของเขาเองด้วย แต่หน้าตาของเขาเป็นปริศนามาโดยตลอด จนกระทั่งเขาขึ้นนำการแถลงข่าวครั้งแรกของกลุ่มตาลีบัน ภายหลังยึดกรุงคาบูลได้เมื่อกลางเดือนที่แล้ว 

 

ชื่อ ครม. คนอื่น ๆ

เมาลาวี อับดุล ซาลาม ฮานาฟี เป็นรองนายกรัฐมนตรี

มุลเลาะห์ นูรุลเลาะห์ นัวร์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพรมแดนและกิจการชนเผ่า

มุลเลาะห์ อับดุล ฮัก วาซิก เป็นหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง

มุลเลาะห์ เฮดายาตุลเลาะห์ บาดรี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง

การี ดิน โมฮัมเหม็ด ฮานิฟ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกกิจ

ฮาจิ โมฮัมเหม็ด ไอดริส เป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง

มุลเลาะห์ อับดุล ลาทิฟ มันซูร์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและน้ำ

มุลเลาะห์ ยูนุส อัคฮุนด์ซาดา เป็นรัฐมนตรีกระทรวงฟื้นฟูชนบท

มุลเลาะห์ อับดุล มานัน โอมารี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกิจการสาธารณะ

มุลเลาะห์ โมฮัมเหม็ด อีซา อัคฮุนด์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเหมืองและน้ำมัน

มุลเลาะห์ ไครุลเลาะห์ คาอีควาห์ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและสารสนเทศ

เมาลาวี นาจิบุลเลาะห์ ฮักกานี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสื่อสาร

อับดุล บากี ฮักกานี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา

 

ทั้งนี้ การประกาศให้บรรดาแกนนำคนสำคัญรับตำแหน่งในรัฐบาลรักษาการนั้น มีขึ้นหลายสัปดาห์หลังตาลีบันควบคุมอัฟกานิสถาน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง