รีเซต

รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
14 กันยายน 2564 ( 20:34 )
144
รู้จักธุรกิจบริการจีน ... ในวันที่เตรียมพร้อมก้าวสู่เวทีโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

หลายคนยังนึกว่าเศรษฐกิจจีนพึ่งพาภาคการผลิตสินค้าเป็นหลัก แต่แท้ที่จริงแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างเศรษฐกิจของจีนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่มีภาคการผลิตเป็นพระเอกในช่วง 3 ทศวรรษแรกหลังการเปิดประเทศ เป็นการพึ่งพาภาคบริการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา 

สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่พึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก วันนี้ผมจึงอยากจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักภาคบริการของจีน และเก็บตกงานแสดงธุรกิจบริการของจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกกัน รวมทั้งงานสัมมนาด้านการค้าภาคบริการไทย-จีนภายในงานดังกล่าวกัน ...

ในช่วงหลายปีหลัง เราเห็นการเติบโตของหลากหลายธุรกิจบริการของจีน อาทิ ร้านอาหาร การเงินและประกันภัย การออกแบบก่อสร้าง การท่องเที่ยว การขนส่ง การรักษาพยาบาล ไอที และอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งธุรกิจบันเทิงและสันทนาการ

ธุรกิจบริการของจีนไม่เพียงแต่เพิ่มจำนวน และครองตลาดภายในประเทศ แต่ยังมีขนาดใหญ่ติดลำดับโลก เราเห็นสถาบันการเงิน ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เกมส์ออนไลน์ ลอจิสติกส์ และพลังงานสีเขียวจำนวนมากของจีนก้าวติดระดับโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ส่งผลให้ภาคบริการมีสัดส่วนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาโดยลำดับ และกลายเป็นสาขาเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของจีนในช่วง 10 ปีหลังนี้ โดยในปี 2011 ภาคบริการมีสัดส่วนต่อจีดีพี 43% และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 54% ในปี 2020 ขณะที่ภาคการผลิตสินค้า และภาคการเกษตรมีสัดส่วนต่อจีดีพีที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนเหลือไม่ถึง 40% และราว 7% ตามลำดับ

ภาคบริการยังมีระดับความสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนด้วยเช่นกัน โดยมีอิทธิพลสูงถึง 60% ในปี 2020 และหากเราติดตามแผนพัฒนา 5 ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) ก็พบว่า จีนให้ความสำคัญกับภาคบริการในการเป็นกลไกขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตในอนาคต 

ซึ่งนั่นหมายความว่า ภาคบริการจะมีความสำคัญในระดับที่สูงขึ้นในหัวเมืองที่มุ่งเน้นการพัฒนาผ่านนวัตกรรมและในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจดิจิตัล การเงิน และบริการอื่นๆ 

หนึ่งในเมืองสำคัญที่จีนผลักดันให้เป็นศูนย์กลางในเรื่องเหล่านี้ก็ได้แก่ กรุงปักกิ่ง ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากการเป็นเมืองหลวงในทางการเมืองแล้ว ปักกิ่งยังถือเป็นเมืองหลวงแห่งยูนิคอร์น (Unicorn) ของจีน โดยในปี 2020 ปักกิ่งมีกิจการจำนวน 93 รายที่ขึ้นทะเบียนเป็นยูนิคอร์น ซึ่งมากกว่าเมืองอื่นใดในจีน ขณะเดียวกัน ก็มีกิจการต่างชาติอีกราว  600 รายที่จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในปักกิ่ง อาทิ Apple, Tesla, Merck และ Mercedes-Benz 

นอกจากนี้ ในปี 2020 รัฐบาลยังอนุมัติให้ปักกิ่งจัดตั้งเขตเสรีทางการค้า (Free Trade Zone) เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำ และสนับสนุนการพัฒนาเป็นฮับบริการด้านดิจิตัลไฮเทคของจีน

โดยผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมบริการไฮเทค อาทิ แผงจงวรไฟฟ้า ปัญญาประดิษฐ์ ยา และวัสดุใหม่ จะได้รับมีสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในหลายส่วน อาทิ การจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% ของกำไรสุทธิ จากปกติ 25% และการผ่อนคลายขั้นตอนพิธีการและเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคล

ในประเด็นเรื่องการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในจีน ก็ได้รับการจัดระเบียบในเชิงรุก นอกเหนือจากการลดขั้นตอนพิธีการและเอกสารประกอบการยื่นเรื่องแล้ว เขตฯ ปักกิ่งยังให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทแบบอัตโนมัติโดยไม่ต้องเสียเวลาเสนอเรื่อง หากกิจการดำเนินธุรกิจในจีนมากกว่า 1 ปี มีรายได้ต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านวิจัยอย่างน้อย 50% เกิดขึ้นในจีน

ในด้านเศรษฐกิจดิจิตัล จีนก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยนับแต่ปี 2019 จีนได้เปิดให้กิจการต่างชาติเข้าสู่ตลาดในประเทศในหลายหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่ศูนย์พักคนชรา ไปจนถึงเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Networks) ที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า วีพีเอ็น (VPNs) 

ในกรณีหลัง กฎระเบียบใหม่เปิดให้กิจการโทรคมนาคมต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ถึงครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนในกิจการร่วมทุนที่ให้บริการ VPNs ในจีน สิ่งนี้ยังถือเป็นขั้นตอนสำคัญของการปรับปรุงการถ่ายโอนข้อมูลข้ามประเทศ เพื่อให้มีความสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะชาวต่างชาติต่างประสบปัญหาการเข้าสู่แพล็ตฟอร์มอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดใช้เสรีในจีน อาทิ กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก และไลน์ 

ในเวลาต่อมา ปักกิ่งก็ประกาศสร้าง พื้นที่ “นำร่อง” เพื่อการพัฒนาด้านวัตกรรมและเปิดกว้างภาคบริการและเศรษฐกิจดิจิตัลแบบรอบด้าน ซึ่งนำไปสู่การขยายพื้นที่คลัสเตอร์และสวนอุตสาหกรรม สถาบันที่เกี่ยวข้อง และการปฏิรูปด้านอุปทาน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการขยายและเปิดกว้างสวนอุตสาหกรรม เพื่อดึงทรัพยากรและรวมศูนย์สิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ

นอกจากนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อยในกองทุนหรือวีซี (Venture Capital) ที่ร่วมลงทุนกับกิจการ CIT ในสวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุน (Zhongguancun Science Park) หรือ “Z-Park” ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคชั้นนำของจีน ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (รับผิดชอบเฉพาะส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในบริษัท) ซึ่งหากสำเร็จ ก็จะนำเอานโยบายส่งเสริมด้านนวัตกรรมในพื้นที่อื่นต่อไป

ในภาคการเงิน การเปิดกว้างก็เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยปัจจุบัน กิจการต่างชาติสามารถจัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบ “Wholly Foreign-Owned Enterprise” (WFOE) ในปักกิ่ง ขณะเดียวกัน บริการการเงินของต่างชาติหลากหลายรูปแบบก็ได้รับไฟเขียวในกิจกรรมบริการมากมาย เช่น ธนาคารต่างชาติสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลกองทุนรวม หรือเป็นผู้จัดการหลักในการกระจายตลาดหุ้นกู้ระหว่างธนาคาร และสามารถได้รับใบอนุญาตนำเข้าทองคำ

รัฐบาลจีนยังพยายามเชิญชวนนักลงทุนเอกชนให้จัดตั้งและประกอบการกองทุนการลงทุนระหว่างประเทศในรูปเงินหยวนในปักกิ่ง การจัดตั้งสาขา และการจัดอันดับธุรกิจในตลาดพันธบัตรระหว่างธนาคาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ปักกิ่งยังส่งเสริมธุรกิจต่างชาติในการลงทุนในบริการเฉพาะทาง โดยผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนด้านวัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา และการรักษาพยาบาล บุคลากรในกิจการลงทุนของต่างชาติที่เกี่ยวข้องมีสิทธิ์ได้รับประโยชน์จากมาตรการด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งคล้ายกับสิทธิประโยชน์ที่พื้นที่เสรีทางการค้าไฮ่หนาน (Hainan Free Trade Port) และพื้นที่เกรตเตอร์เบย์ (Greater Bay Area: GBA) ทางตอนใต้ของจีน

โดยที่ความสำเร็จของภาคบริการขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของปัจจัยด้านซอฟท์ (Soft-Side Factor) เช่น ความชำนาญของคน และนวัตกรรม ดังนั้น ผลจากมาตรการส่งเสริมอย่างจริงจังดังกล่าว ทำให้รัฐบาลจีนมองว่าภาคบริการไม่เพียงจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่ยังจะเป็นวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความร่วมมือระหว่างประเทศ 

จากการประเมินสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของธนาคารโลก (World Bank) ในปี 2020 พบว่า จีนถูกจัดอันดับอยู่ที่ 28 ดังนั้น จีนจึงพยายามพัฒนาการเชื่อมโยงข้ามพรมแดนของข้อมูลข่าวสาร เงินทุน และทรัพยากรมนุษย์ ให้มีความเปิดกว้างและโปร่งใสยิ่งขึ้น เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติในภาคบริการ 

จากแผนงานของพื้นที่นำร่องรอบด้านของปักกิ่ง สะท้อนแนวทางและมาตรการที่สอดคล้องกับของรัฐบาลจีน อาทิ การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการลงทุน การอำนวยความสะดวกการไหลเวียนข้ามประเทศของเงินทุน การดึงดูดคนที่มีพรสวรรค์ การปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูล และการพัฒนากระบวนการทางธุรกิจให้เป็นดิจิตัล รวมถึงการลดจำนวนอุตสาหกรรมต้องห้ามใน Negative List 

หนึ่งในความพยายามที่จะส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมบริการและการค้าบริการของจีน และยกระดับการปรับโครงสร้างของรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจจีน รวมทั้งให้ปักกิ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการโลก ในปี 2012 คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ (Central Committee of the CPC) และคณะรัฐมนตรี (State Council) ก็ได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์จีนและรัฐบาลกรุงปักกิ่งร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน “มหกรรมการค้าภาคบริการระหว่างประเทศแห่งชาติจีน” (China International Fair on Trade in Services) 

ตลอดเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษของการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง CIFTIS ได้กลายเป็นเวทีที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายความคิด การเชื่อมโยงอุปทานและอุปสงค์ การแลกเปลี่ยนโอกาสทางธุรกิจ และการส่งเสริมการพัฒนาถ้วนหน้าในภาคการค้าบริการระหว่างประเทศ 

CIFTIS ณ กรุงปักกิ่งถือเป็นงานใหญ่และรอบด้านที่สุดในด้านธุรกิจบริการโลก และกลายเป็น 1 ใน 3 เวทีงานมหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในจีน ควบคู่กับงานแสดงสินค้าส่งออกและนำเข้าแห่งชาติจีน (China Import and Export Fair) หรืองาน “แคนตันแฟร์” (Canton Fair) ณ นครกวางโจว ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และงานแสดงสินค้านำเข้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (China International Import Expo) หรือที่เรียกกันจนติดปากว่า “CIIE” ณ นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งถือเป็นงานแสดงสินค้านำเข้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

สำหรับงาน CIFTIS 2021 สี จิ้นผิง ผู้นำจีนได้ประกาศผ่านการประชุมสุดยอดออนไลน์ถึงแผนการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งใหม่ในช่วงเช้าวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งหวังเดินหน้าปฏิรูปตลาดทุนของประเทศในเชิงลึก

“เราจะเดินหน้าสนับสนุนการสนับสนุนนวัตกรรมของ SMEs ในเชิงลึก จัดตั้ง Beijing Stock Exchange และสร้างเป็นเวทีหลักในการพัฒนา SMEs ด้านนวัตกรรม” สี จิ้นผิงกล่าว

เพื่อมิให้ไทยตกขบวนรถไฟ “ธุรกิจบริการในจีน” หอการค้าไทยในจีน (Thai Chamber of Commerce in China) ก็เดินหน้าจัดกิจกรรมพิเศษภายในงาน CIFTIS ดังเช่นหลายปีที่ผ่านมา 

โดยในปีนี้ หอฯ ได้ร่วมกับสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีน หรือที่คนไทยเรียกผ่านชื่อย่อว่า “ซีซีพีไอที” (CCPIT) จัดสัมมนาในหัวข้อ “ความร่วมมือการค้าภาคบริการระหว่างไทย-จีน ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)” เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติ กรุงปักกิ่ง

งานสัมมนาในครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหอการค้าระหว่างประเทศแห่งชาติจีน (CCOIC) และสมาคมการค้าภาคบริการแห่งชาติจีน (CATIS) โดยให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านธุรกิจบริการภายใต้ RCEP ซึ่งกลุ่มสมาชิกได้ลงนามไปเมื่อปลายปี 2020

และที่น่าสนใจก็คือ งานสัมมนานี้จัดขึ้นในรูปแบบของออฟไลน์และออนไลน์ (O2O) ทำให้มีผู้สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจบริการของจีนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยงานเริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมงานของนายชัยรัตน์ จันทร์หอม รองประธานหอการค้าไทยในจีน

“การค้าบริการเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับการเติบโตของความร่วมมือระหว่างไทยและจีน หอการค้าไทยในจีนจึงได้เข้าร่วมจัดกิจกรรมเช่นนี้เป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน เพื่อช่วยยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทย-จีน ...” นายชัยรัตน์ฯ กล่าว

ขณะที่นายหยู เจียนหลง เลขาธิการ CCPIT ได้กล่าวว่า “การลงนาม RCEP เป็นเหตุการณ์สำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก่อให้เกิดตลาดระดับภูมิภาคขนาดใหญ่ที่เชื่อมถึง 15 ประเทศ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนสภาพการทางธุรกิจโดยรวมในภูมิภาคให้เหมาะสม และส่งเสริมการสร้างการค้าที่เกิดจากข้อตกลงการค้าเสรีซึ่งจะช่วยเร่งการปรับปรุงห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่คุณค่าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ความร่วมมือในภูมิภาค และขยายส่วนแบ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระดับภูมิภาค”

หลังจากนั้น นายเบญจมินทร์ สุกาญจนัจที อัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ในฐานะผู้แทนเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง ได้กล่าวว่า “รัฐบาลไทยได้พัฒนารูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” โดยมุ่งเป้าที่จะพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยในด้านมูลค่านวัตกรรมและบริการ ควบคู่ไปกับการเติบโตของอุปสงค์ในประเทศและการพัฒนาในภูมิภาค”

“ไทยและจีนได้ร่วมเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ อาทิ ความสอดคล้องของ “ความคิดริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง" และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว” 

“โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยได้กำหนดให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งนี้ได้ดึงดูดความต้องการและสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับความร่วมมือด้านการค้าบริการของไทย ... RCEP จะช่วยผลักดันและส่งเสริมการส่งออก การลงทุน และขนาดเศรษฐกิจแก่จีน ไทย และสมาชิกกว่า 15 ประเทศ/ภูมิภาค” 

นอกจากนี้ ท่านอัครราชทูตฯ ยังฝากข้อคิดทิ้งท้ายอีกว่า “สำหรับบริษัทการค้าบริการจีน-ไทย สิ่งสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การเข้าใจและใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของข้อตกลงดังกล่าวเพื่อพัฒนาการค้าบริการในอนาคต”

หลังจากนั้น นางสาวชิยาวรรณ จงวัฒนา อัครราชทูตฝ่ายพาณิชย์ นางสาววันทนา ทาตาล อัครราชทูตที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมการลงทุน และนางสาวภัคนันท์ วินิจฉัย ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงปักกิ่ง ได้ร่วมบรรยายถึงนโยบายสำคัญของไทย สะท้อนจุดแข็งของภาคบริการของไทย และโอกาสทางธุรกิจด้านการค้าบริการ การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน ภายใต้ RCEP

นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังได้เชิญตัวแทนจากธุรกิจบริการชั้นนำของไทยในหลายด้านขึ้นเข้าร่วมบรรยายเพื่อแนะนำลู่ทางและขยายโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทย-จีน อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ สวนอุตสาหกรรม 304 และกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ “BDMS” ซึ่งภายหลังการสัมมนา ผู้แทนของภาคเอกชนไทยได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมงานสัมมนาเป็นอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต

จีนกำลังเร่งพัฒนาภาคบริการขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวขึ้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ถึงเวลาหรือยังที่ไทยจะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจบริการของไทยในตลาดจีน และเกาะเกี่ยวไปกับโอกาสทางธุรกิจภายใต้ RCEP ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต …

ข่าวที่เกี่ยวข้อง