เครือข่ายรถไฟของลอนดอน ชนะเลิศสถาปัตยกรรมยอดเยี่ยม โดดเด่นด้านวิศวกรรม
เครือข่ายขนส่งทางรถไฟเอลิซาเบธ ไลน์ (Elizabeth Line) ของกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้รับรางวัลชนะเลิศสเตอร์ลิง ไพรซ์ (Stirling Prize) ประจำปี 2024 รางวัลด้านสถาปัตยกรรมที่ทรงเกียรติที่สุดในสหราชอาณาจักร จัดโดยสถาบันสถาปนิกแห่งสหราชอาณาจักร (RIBA) โดยคณะกรรมการให้เหตุผลว่าใช้การก่อสร้างทางวิศวกรรมที่โดดเด่น และออกแบบโดยเน้นที่ตัวผู้โดยสารเป็นหลัก
เดิมเครือข่ายรถไฟนี้ชื่อว่าครอสเรล (Crossrail) แต่เมื่อปี 2022 เปลี่ยนชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ เครือข่ายนี้เชื่อมต่อเมืองเรดดิ้งและฮีทโธรว์ไปยังเมืองเอสเซ็กซ์และลอนดอนตะวันออกเฉียงใต้ มีเส้นทางรถไฟยาวประมาณ 100 กิโลเมตร และอุโมงค์ยาวประมาณ 40 กิโลเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 700,000 คนต่อวัน
ระหว่างการก่อสร้างมีการขุดดินออกมาประมาณ 6 ล้านตันเพื่อสร้างอุโมงค์ และมีการค้นพบโบราณวัตถุ เช่น ลูกโบว์ลิ่งสมัยทิวดอร์ (Tudor คือ ช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ ค.ศ. 1485 - 1603) รวมไปถึงโครงกระดูกแมมมอธขนดกยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย
ภายในเครือข่ายรถไฟได้ออกแบบให้มีลักษณะเป็นเส้นโค้ง มีความนุ่มนวลและลื่นไหล สร้างความสวยงามให้โครงสร้าง ในขณะเดียวกันก็ได้รับการออกแบบมาให้ทำหน้าที่เหมือนนำทางไปยังจุดหมายต่าง ๆ เช่น บันได หรือทางออก ฯลฯ ของสถานีได้อย่างเป็นธรรมชาติและไม่ทำให้สับสน ในขณะที่แสง ออกแบบมาให้สามารถสลับโทนสีเย็นและอุ่น ช่วยคลายความเครียดจากการเดินทางในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม แม้เครือข่ายรถไฟนี้ได้รับการออกแบบมาอย่างดี แต่ก็มีประชาชนที่ยังคงมีปัญหาในการใช้บริการอยู่บ้าง ตามรายงานโดยสำนักข่าวบีบีซี (BBC) พบมีผู้โดยสารเคยร้องเรียนว่าเครือข่ายทางรถไฟมีผู้โดยสารหนาแน่นเกินไป รถไฟมีความล่าช้า หรือแม้กระทั่งเกิดอุบัติเหตุ เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2024 เมื่อผู้โดยสารพลัดตกช่องว่างระหว่างชานชาลากับรถไฟ เนื่องจากช่องว่างกว้างเกินไป รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายรถไฟแห่งนี้ก็สร้างเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดการณ์ และเกินงบประมาณไปด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม มูยิวา โอกิ (Muyiwa Oki) ประธานคนปัจจุบันของ RIBA ก็ยังกล่าวว่าเครือข่ายรถไฟแห่งนี้ “ไร้ที่ติ (Flawless)”
มูยิวา โอกิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “Elizabeth Line ถือเป็นความสำเร็จของความร่วมมือที่นำโดยสถาปนิก โดยนำเสนอโซลูชันที่มีประสิทธิภาพ และได้รับการออกแบบอย่างสวยงามสำหรับระบบขนส่งภายในเมือง การเดินทางลงมาสู่เครือข่ายอุโมงค์ขนาดมหึมานี้ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังเข้าสู่ประตูมิติสู่อนาคต นี่คือสถาปัตยกรรมแห่งยุคดิจิทัล ซึ่งใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อสร้างเอกลักษณ์และประสบการณ์การใช้งานที่ดี และเป็นการร่างกฎเกณฑ์ใหม่ให้กับระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้”
สำหรับเอลิซาเบธ ไลน์ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมชั้นนำในสหราชอาณาจักร ได้แก่ กริมชอว์ (Grimshaw) เมย์นาร์ด (Maynard) อีเควชัน (Equation) และแอตกินส์รีอาลิส (AtkinsRéalis)
นับว่าเป็นอีกหนึ่งการออกแบบที่นำเทคโนโลยีและนวักรรมมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนได้อย่างน่าสนใจทีเดียว
ที่มาข้อมูล NewAtlas, Architecture
ที่มารูปภาพ NewAtlas