รีเซต

จดสิทธิบัตรเมนูอาหาร ทำได้หรือไม่-แบบไหนถึงได้รับการคุ้มครอง?

จดสิทธิบัตรเมนูอาหาร ทำได้หรือไม่-แบบไหนถึงได้รับการคุ้มครอง?
TNN ช่อง16
30 สิงหาคม 2566 ( 15:27 )
133

จากกรณีดรามา “ชาปัง” ที่เป็นกระแสในโลกโซเชียลขณะนี้ หลังจากร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งได้ยื่นจดสิทธิบัตร “ปังชา” ไม่ให้ทำซ้ำหรือลอกเลียนแบบ จนเกิดกระแสทักท้วงกันในโลกโซเชียล จนกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องออกมาอธิบายในกรณีนี้ว่า น้ำแข็งไสราดชาไทยนั้นมีขายมานานแล้ว “จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร” อ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวได้  แต่! ภาชนะที่ใส่ปังชา ของแบรนด์ที่เป็นข่าว ได้มีการจดสิทธิบัตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ 


กรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังแนะนำผู้ประกอบการอื่นๆว่า เมนูน้ำแข็งไสราดชาไทย “ใครก็ขายได้” แต่อย่านำลวดลาย หรือ แบบภาชนะที่คนอื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ไปผลิต  แต่ถ้าหากว่าคิดค้นสูตรขนมขึ้นใหม่ ซึ่งยังไม่เคยปรากฏในที่ใดมาก่อน สามารถนำมาขอจดอนุสิทธิบัตรได้


นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา  ยังได้ให้ความรู้ผู้ประกอบการในกรณีการต้องการยื่นจดสิทธิบัตรอาหาร ว่าจะสามารถคิดค้นเมนูอื่นๆ ทำอย่างไรไม่ให้คนอื่นลอกเลียน โดยไม่ว่าจะเป็นสูตรน้ำยำรสแซ่บ ซอสรสเด็ด เคล็ดลับหมักหมูนุ่ม ไปจนถึงรูปร่างของอาหาร นอกจากการเก็บรักษาสูตรเด็ดไว้เป็นเคล็ดลับประจำตระกูลแล้ว การปกป้องสิทธิในสูตรอาหารหรือกรรมวิธีการผลิตอาจทำได้โดยการขอรับความคุ้มครอง สิทธิบัตรการประดิษฐ์ อนุสิทธิบัตร 


สิทธิบัตรสูตรอาหารแบบไหน? ได้รับการคุ้มครอง 


สิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตรนั้น ให้ความคุ้มครองใน "ผลิตภัณฑ์" เช่น สูตรอาหาร (องค์ประกอบ สัดส่วน ปริมาณ) หรือ "กรรมวิธี" เช่น การผลิตอาหาร ขั้นตอนการปรุงอาหาร กรรมวิธีการถนอมอาหาร โดยมีข้อแม้ว่า ต้องเป็นสูตรหรือกรรมวิธีที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่ ไม่สามารถคาดเดาถึงผลลัพธ์ได้โดยง่าย และมีความสามารถในการประยุกต์ทางอุตสาหกรรม (ทำซ้ำได้)


ทั้งนี้ เมื่อสูตร หรือกรรมวิธี ได้รับความคุ้มครองแล้ว เจ้าของจะเป็นผู้มี "สิทธิแต่เพียงผู้เดียว" ในสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองนั้น ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากใครต้องการใช้สูตร หรือกรรมวิธี  ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของสิทธิก่อน 


อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นอาหารชนิดเดียวกัน แต่หากมีปริมาณหรือส่วนผสมสูตร หรือกรรมวิธี ไม่เหมือนกัน ผู้อื่นก็อาจยื่นขอรับความคุ้มครองในสูตรสิ่งที่แตกต่างออกไปซึ่งถูกคิดค้นขึ้นใหม่ได้


นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรืออนุสิทธิบัตร ผู้เป็นเจ้าของสิทธิจะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสูตร กรรมวิธี โดยชัดแจ้ง (ใส่อะไรบ้าง ในปริมาณเท่าไหร่ ทำอย่างไร)  ต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาของเทคโนโลยีไปอย่างต่อเนื่อง 


อกจากการขอรับความคุ้มครองในสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรืออนุสิทธิบัตรแล้ว เจ้าของสูตรอาจเก็บเป็น "ความลับทางการค้า" ซึ่งมักใช้กับสูตรหรือตำรับที่ผู้อื่นทำตามได้ยาก เช่น สูตรส่วนผสมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  หรือน้ำอัดลม เป็นต้น


การจดสิทธิบัตร หรือการเก็บเป็นความลับทางการค้า ล้วนมีข้อดี - ข้อเสีย ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผู้ประกอบการควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วน ทั้งสิทธิตามกฎหมาย ระยะเวลาการคุ้มครอง ความเสี่ยงจากการเปิดเผยข้อมูล  เพื่อเลือกทางที่เหมาะกับการดำเนินธุรกิจ


ข้อมูลจาก :  กรมทรัพย์สินทางปัญญา

ภาพจาก :  AFP 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง