รีเซต

ช่วยทำงานออกแบบไวขึ้น ? เทคโนโลยีใหม่จากเคมบริดจ์ ทำให้ใช้ท่าทางสร้างวัตถุเสมือนได้

ช่วยทำงานออกแบบไวขึ้น ? เทคโนโลยีใหม่จากเคมบริดจ์ ทำให้ใช้ท่าทางสร้างวัตถุเสมือนได้
TNN ช่อง16
2 ธันวาคม 2566 ( 15:03 )
54

ในภาพยนตร์ไซไฟ เราอาจเคยเห็นตัวละครออกท่าทางกลางอากาศเพื่อเลือกเมนูต่าง ๆ ตอนนี้เราอาจขยับเข้าใกล้เทคโนโลยีแบบนี้แล้ว นักวิจัยในสหราชอาณาจักรได้ออกแบบเทคโนโลยีใหม่ชื่อ ฮอตเกสเจอร์ (HotGestures) ซึ่งทำให้ผู้ใช้สามารถแสดงท่าทางมือเพื่อเลือกเมนูหรือจัดการงานต่าง ๆ ในโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) ได้อย่างรวดเร็ว 


ทั้งนี้สำหรับ VR ในปัจจุบัน หากต้องการเลือกเครื่องมือต่าง ๆ เช่น ปากกา ก็ต้องกดเข้าเมนูที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจึงต้องกดใช้เลือกปากกา แต่ฮอตเกสเจอร์กำลังจะเปลี่ยนแปลงขั้นตอนนี้ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมระบบเชิงตอบโต้ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในสหราชอาณาจักรชื่อ เพอร์ โอลา คริสเตนสัน (Per Ola Kristensson) เขาและทีมงานกำลังสร้างระบบที่ทำให้ผู้ใช้สามารถทำท่าทางมือง่าย ๆ เพื่อเลือกได้เลยว่าต้องการทำงานกับวัตถุต่าง ๆ ใน VR อย่างไร ไม่จำเป็นต้องเลือกเมนูทีละขั้นตอน โดยกระบวนการทำงานก็คือมือของผู้ใช้จะมีตัวติดตาม ทำให้ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของนิ้วและมือทั้งสองข้างได้ และจากนั้นระบบจะประเมินว่าผู้ใช้ต้องการใช้เครื่องมือใด


ฮอตเกสเจอร์ได้รับการออกแบบมาให้ใช้ท่าทางได้หลายแบบ เช่น หากผู้ใช้ต้องการปากกา ก็ใช้สัญญาณมือที่ตั้งค่าไว้เพื่อขอปากกา จากนั้นเมื่อต้องการกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น ความหนาของเส้นปากกา ก็สามารถกำหนดจากการใช้ปลายนิ้วชี้และนิ้วโป้งเคลื่อนเข้าหาหรือออกจากกันได้

ที่มารูปภาพ Cambridge University




ทีมวิจัยได้ทดลองใช้ฮอตเกสเจอร์ด้วยผู้เข้าร่วม 16 คน ให้สร้างแบบจำลอง 3 มิติ มีเวลาให้ฝึกซ้อมกับท่าทางที่กำหนดไว้ 10 ท่าทาง จากนั้นระหว่างทดลองจะมีการจับเวลาว่าแต่ละคำสั่งจะใช้เวลานานเท่าไหร่ ก่อนที่จะนำมาเปรียบเทียบกับการทำงานผ่านการเลือกคำสั่งจากเมนูแบบเดิม


ผลพบว่าการใช้โหมดท่าทางนั้นทำงานได้เร็วกว่า ส่วนข้อผิดพลาดระหว่างทั้งสองโหมดไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่าการให้โหมดท่าทางนั้นใช้ยากกว่ารวมถึงไม่แม่นยำกว่าโหมดเลือกคำสั่งจากเมนูเล็กน้อย แต่ทีมวิจัยก็คาดการณ์ว่าอาจเป็นเพราะผู้เข้าร่วมยังไม่คุ้นเคยกับโหมดท่าทาง จึงอาจลังเลและทำให้ใช้เวลานาน


ทีมวิจัยได้ทำการทดลองครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสามารถเลือกได้ว่าทำงานผ่านโหมดท่าทาง หรือผ่านโหมดการเลือกคำสั่งจากเมนูแบบเดิม ซึ่งก็พบว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เลือกใช้โหมดท่าทาง แต่บางคำสั่งก็จะเลือกจากแถบเมนู ผู้เข้าร่วม 14 คนลงเสียงว่าชอบการทำงานแบบผสมผสาน ที่สามารถใช้ทั้งโหมดท่าทางและการเลือกคำสั่งจากเมนู ส่วนอีก 2 คน บอกว่าชอบแบบใช้โหมดท่าทางเพียงอย่างเดียว ด้านคริสเตนสันบอกว่าเขาตั้งตารอที่เทคโนโลยีนี้จะถูกนำเอาไปใช้และเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง


นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก หากมันได้รับการพัฒนาเพิ่มเติม รวมถึงเมื่อผู้ใช้ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีนี้ได้แล้ว ก็อาจจะทำให้การทำงานสะดวกสบายมากขึ้น




ที่มาข้อมูล Spectrum

ที่มารูปภาพ Cambridge University


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง