รีเซต

ธุรกิจนมและเนื้อสัตว์กำลังจะล้มละลายจริงหรือไม่ ?

ธุรกิจนมและเนื้อสัตว์กำลังจะล้มละลายจริงหรือไม่ ?
TNN ช่อง16
3 กุมภาพันธ์ 2566 ( 13:43 )
80

ปัจจุบันธุรกิจนมและเนื้อสัตว์กำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากเทคโนโลยีการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพและการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultured meat) เนื้อสัตว์เทียมที่ผลิตจากพืช (Novel vegan meat replacement) และนมทางเลือก (Alternative Milk) ที่ผลิตจากพืช รวมไปถึงประเทศต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงปัญหาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำคัญของธุรกิจนมและเนื้อสัตว์ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร


ปัญหาและผลกระทบของการทำธุรกิจนมและเนื้อสัตว์


การทำฟาร์มหรืออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าเพื่อผลิตนมหรือเนื้อสัตว์จำเป็นต้องใช้ที่ดินเนื้อที่กว้างและอยู่ห่างไกลชุมชน เพื่อลดการรบกวนผู้อยู่อาศัยในชุมชน นอกจากนี้การผลิตอาหารสัตว์ที่ยังต้องใช้พื้นที่ปลูกพืชขนาดใหญ่ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และธุรกิจที่เกี่ยวข้องมักถูกกล่าวหาบ่อยครั้งว่าเป็นต้นเหตุของการตัดไม้ทำลายป่า


ข้อมูลจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (IPCC) เผยแพร่ในปี 2019 ระบุชี้ชัดว่าอุตสาหกรรมนมวัวและเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า 50% ของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากฟาร์มสัตว์เป็นฟาร์มที่ผลิตเนื้อวัวและธุรกิจผลิตเนื้อสัตว์อื่น ๆ


เทคโนโลยีทางเลือกในการผลิตนมและเนื้อสัตว์


ปัจจุบันนอกจากนมที่มาจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงวัวนมผู้บริโภคมีทางเลือกอื่นมากขึ้นจากผลิตภัณฑ์นมที่ได้จากพืช เช่น นมถั่วเหลือง นมถั่วอัลมอนต์ นมข้าวโพดและนมที่ผลิตมาจากข้าว โดยนมแต่ละแบบมีปริมาณสารอาหารแตกต่างกันแต่จุดเด่นที่ทำให้นมจากพืชได้รับความนิยมอยู่ตรงที่มีปริมาณไขมันและแคลอรี่ต่ำน้อยกว่านมจากสัตว์ ส่วนในด้านรสชาตินั้นมีความแตกต่างจากนมที่ได้จากสัตว์อย่างชัดเจน


เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ในห้องแล็บหรือกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยี “สเต็มเซลล์” วิศวกรรมชีวภาพและวัสดุชีวภาพ อาจไม่ใช่สิ่งใหม่และนักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศประสบความสำเร็จในการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultered Meat) รวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยก็สามารถทำการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์สำเร็จแล้ว เช่น ในปี 2021 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อหมูได้สำเร็จมีความใกล้เคียงกับเนื้อหมูที่ได้จากอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์


เทคโนโลยีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ดูเหมือนจะกลายเป็นเทคโนโลยีทางเลือกในการผลิตเนื้อสัตว์รูปแบบต่าง ๆ ตามความต้องการ กระบวนการออกแบบเนื้อสัตว์ทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างชิ้นส่วนของเนื้อสัตว์ให้มีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง ในปี 2021 นักวิจัยในประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างเนื้อวัววากิวสังเคราะห์ขึ้นมาได้สำเร็จโดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ คาดว่าในปี 2027 สามารถพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้ผลิตเนื้อในเชิงอุตสาหกรรมและจัดจำหน่ายได้


ในปี 2021 ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พัฒนาเทคโนโลยีใหม่สร้างเนื้อไก่สังเคราะห์ปรุงสุกพร้อมรับประทานโดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทำงานร่วมกับแสงเลเซอร์ให้ความร้อน อย่างไรก็ตามการสร้างเนื้อไก่สังเคราะห์ในครั้งนี้เป็นเพียงงานวิจัยเท่านั้น


นอกจากการผลิตเนื้อสัตว์เทียมเลียนแบบเนื้อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ก่อนหน้านี้ในปี 2020 บริษัทสตาร์ตอัปด้านเทคโนโลยีอาหาร รีโว ฟู้ดส์ (Revo Foods) ประเทศออสเตรีย ประสบความสำเร็จพัฒนาวิธีการสร้างเนื้อปลาแซลมอนสัตว์น้ำในทะเลยอดนิยมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้สำเร็จพร้อมแปรสภาพให้คล้ายกับเนื้อแซลมอนรมควันพร้อมรับประทานเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค


ธุรกิจนมและเนื้อสัตว์ในประเทศไทย


คนไทยมีการบริโภคนมวัวและนมจากพืชน้อยกว่าต่างประเทศ โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มนม 18 ลิตร ต่อคนต่อปี หรือประมาณสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่น้อยกว่าทั่วโลกถึง 6 เท่า ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นดื่มนม 90 ลิตร ต่อคนต่อปี ประเทศสิงคโปร์ดื่มนม 62 ลิตร ต่อคนต่อปี และประเทศดื่มนม 38 ลิตร ต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามพฤติกรรมคนไทยที่ดื่มนมเป็นประจำทุกวันกำลังเปลี่ยนไปโดยหันไปบริโภคนมทางเลือก (Alternative Milk) ที่ผลิตจากพืชเพิ่มมากขึ้น


ข้อมูลจากสถาบันอาหาร (Food Intelligence Center) พบว่ามูลค่าตลาดนมจากพืชในประเทศไทย (Plant-Based Milk) มีการเพิ่มขึ้นจาก 23,633 ล้านบาท ในปี 2021 เป็น 24,934 ล้านบาท ในปี 2022 โดยมีนมถั่วเหลืองครองส่วนแบ่งมากที่สุดคิดเป็น 94.25% ของนมจากพืชที่คนไทยบริโภคทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบข้อมูลจำนวนผู้บริโภค “แพ้โปรตีนนมวัว” มากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย


นอกจากนี้ในปี 2018-2022 ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์พบว่าคนไทยบริโภคอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์คิดเป็นสัดส่วน 95.78% ของประชากรทั้งหมด โดยในจำนวนนี้ 31.98% บริโภคเป็นประจำทุกวัน การบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่ที่ประมาณ 352,617 ล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 6.9% โดยมีอัตราการเติบโตสูงและประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่บริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อสัตว์


ธุรกิจนมและเนื้อสัตว์ในต่างประเทศ


ประชากรโลกยังคงนิยมดื่มนมอยู่โดยมีประเทศจีนเป็นแหล่งผลิตนมที่เติบโตรวดเร็วที่สุดมีการเพิ่มปริมาณการผลิตนมในประเทศถึง 6 ล้านตัว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามประเทศผู้ผลิตนมวัวขนาดใหญ่ของโลก คือ กลุ่มสหภาพยุโรปรองลงมาคือสหรัฐอเมริกาและอินเดีย โดยในปี 2021 มีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมมูลค่ากว่า 63,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2,084,003 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2015 ที่มีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมมูลค่าประมาณ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,290,097 ล้านบาท โดยสหภาพยุโรปซึ่งมีประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ และเยอรมนี เป็นแหล่งผลิตสำคัญและมีส่วนแบ่งร้อยละ 38 ของตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์นมทั่วโลก ตามมาด้วยประเทศสหรัฐอเมริกา


อย่างไรก็ตามสำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาการผลิตนมทางเลือก (Alternative Milk) กำลังเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน ข้อมูลจากกรมต่างประเทศและการค้าประเทศนิวซีแลนด์ระบุว่า ตลาดนมทางเลือก (Alternative Milk) ในประเทศสหรัฐอเมริกาปี 2020 มีมูลค่าสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน ๆ โดยมีแนวโน้มว่าผู้ดื่มนมทางเลือกเป็นกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยลง เช่น กลุ่มมิลเลนเนียลและเจเนอเรชัน (Gen Z)


เนื้อสัตว์ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ของโลก ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่าในปี 2018 ตลาดเนื้อสัตว์ของโลกมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33 ล้านล้านบาท นอกจากยังมีการคาดการณ์ว่าเนื้อสัตว์ธรรมชาติ (Conventional meat) อาจถูกแทนที่โดยเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultered Meat) และเนื้อสัตว์เทียมที่ผลิตจากพืช (Novel vegan meat replacement) จากเดิมในปี 2025 เนื้อสัตว์ธรรมชาติมีสัดส่วน 90% อาจเหลือเพียง 72% ในปี 2030 และเหลือเพียง 40% ในปี 2040 นั่นหมายความว่าในอีกประมาณ 15-20 ปีข้างหน้า ประชากรบนโลกส่วนใหญ่บริโภคเนื้อสัตว์เทียมที่ผลิตจากพืชและเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงมากกว่าเนื้อสัตว์ธรรมชาติ


ข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยีกำลังก้าวเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจนมและเนื้อสัตว์ โดยผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจและยอมรับเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultured meat) เนื้อสัตว์เทียมที่ผลิตจากพืช (Novel vegan meat replacement) และนมทางเลือก (Alternative Milk) เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงจากเนื้อสัตว์ธรรมชาติไปเป็นเนื้อสัตว์รูปแบบอื่น ๆ คงไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใดแต่คงเป็นไปในรูปแบบค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงซึ่งอย่างน้อย 15-20 ปี นับจากนี้ และแน่นอนว่าเมื่อพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจการผลิตนมวัวนมสัตว์และเนื้อสัตว์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


ที่มาของข้อมูล DlD.go.th, CNN, AP News, Statista, Alltech, Chulalongkorn University, Mahidol University

ที่มาของรูปภาพ Pixabay 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง