รีเซต

จับตา“การเมือง-COVID” ฉุดเงินบาทอ่อน ลุ้นทะลุ 32 บาท/ดอลลาร์

จับตา“การเมือง-COVID” ฉุดเงินบาทอ่อน ลุ้นทะลุ 32 บาท/ดอลลาร์
TNN ช่อง16
20 กรกฎาคม 2563 ( 09:56 )
235


กราฟฟิก 1 การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (สะท้อนภาพความผันผวน)

ปีนี้นับเป็นอีกหนึ่งปีที่ “ค่าเงินบาท” ผันผวนรุนแรงตั้งแต่ต้นปี   โดยช่วง “ต้นปี” เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วทั้งที่ช่วงวันสุดท้ายของปี 2562 เพิ่งแข็งค่าขึ้นหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์  สาเหตุหลักที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ารวดเร็ว เพราะเกิดการแพร่ระบาดของ “โรคโควิด-19” ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศต้องสั่ง “ล็อกดาวน์” ห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้า-ออกประเทศ กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ส่งผลให้เงินบาทในเวลานั้นอ่อนค่าแตะระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ หรือคิดเป็นการอ่อนค่าร่วม 10% เมื่อเทียบกับปลายปี 2562 ที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์  


แต่หลังจาก “ประเทศไทย” สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวได้เป็นอย่างดี จนเริ่มไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศ และรัฐบาลเริ่มทยอยคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาอีกครั้ง ค่าเงินบาทก็เริ่มกลับมาแข็งค่าด้วยเช่นกัน โดยช่วงเวลานั้น เงินบาทแข็งค่าทะลุระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ มาเคลื่อนไหวในระดับ 30.70-30.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมาพร้อมกับเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้


กระทั่งช่วงต้นเดือนก.ค. “เงินบาท” เริ่มกลับมา “อ่อนค่า” อีกครั้ง จาก 3 ปัจจัยหลัก 

ปัจจัยแรก คือ ดีลซื้อกิจการขนาดใหญ่ในต่างประเทศของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ที่เข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเยอรมนี มูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งตลาดการเงินคาดการณ์กันว่า ดีลนี้จะทำให้มีแรง “ซื้อเงินดอลลาร์” รวมกว่า 600 ล้านดอลลาร์ 

ปัจจัยสอง คือ ความกังวลต่อการกลับมาระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกสองในประเทศไทย หลังมีรายงานพบผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ผ่านการกักตัว จนเริ่มสร้างความกังวลว่า ประเทศไทยจะต้องกลับมา “ล็อกดาวน์” อีกรอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจยังไม่พ้นจุดต่ำสุด 

ปัจจัยที่สาม คือ ความไม่แน่นอนทางการเมืองเริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังจากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอีก 4 คน ลาออกพร้อมกัน ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

โดยประเด็นนี้ สร้างความกังวลใจกับนักลงทุนต่างชาติ ถึงความต่อเนื่องในการทำนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” จึงทำให้มีแรงเทขายเงินบาทออกมา ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว  


ถ้าไล่เรียงตามไทม์ไลน์  จะเห็นชัดว่า ช่วงต้นเดือนก.ค.2563 “เงินบาท” เคลื่อนไหวในระดับ 30.80-30.90 บาทต่อดอลลาร์ แต่หลังจาก GULF ประกาศดีลซื้อกิจการมูลค่ามหาศาลกว่า 600 ล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2563 ก็ทำให้เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ 


ต่อมาในวันที่ 13 ก.ค. เริ่มปรากฎข่าวว่า พบทหารอียิปต์ และ ลูกของอุปฑูตซูดาน ติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่ได้อยู่ในสถานกักกัน จนสร้างความกังวลใจว่าเชื้อโควิด-19 จะกลับมาระบาดในรอบสอง ทำให้เงินบาทในช่วงเวลานั้นอ่อนค่าเร็วยิ่งขึ้น และซ้ำเติมด้วยข่าวการลาออกของ นายสมคิด และรัฐมนตรีเศรษฐกิจอีก 4 คน พร้อมกัน เราจึงเห็นเงินบาทอ่อนค่าลงมาแตะระดับ 31.76 บาทต่อดอลลาร์เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับการอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง


การอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้ หากดูตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน จะพบว่า เงินบาทอ่อนค่าลงราว 5.51% เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจาก “เงินรูเปียห์” ของอินโดนีเซีย ที่อ่อนค่าราว 5.69%


เช่นเดียวกัน ถ้าดูตั้งแต่ต้นเดือนก.ค.ถึงปัจจุบัน เงินบาท อ่อนค่าลงราว 2.55% เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาครองจาก เงินรูเปียห์ ของอินโดนีเซีย ที่อ่อนลง 2.98%   ทั้งนี้ (ดูกราฟฟิก) จะเห็นชัดเจนว่า ทั้งเงินบาทและเงินรูเปียห์ เป็น 2 สกุลเงินที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในเดือนนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาแตะระดับอ่อนสุดในรอบ 1 เดือนครึ่งเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เป็นผลจากความกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ภายในประเทศ รวมทั้งปัจจัยด้านการเมือง

นอกจากนี้ยังพบ แรงซื้อดอลลาร์ ตามปัจจัยทางเทคนิค หลังเงินบาทอ่อนค่าผ่านระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ โดยเงินบาทลงมาอ่อนค่าสุดที่ระดับ 31.76 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนรีบาวด์กลับขึ้นมาเล็กน้อย แต่ภาพรวมเงินบาทยังเป็นทิศทางของการอ่อนค่าต่อเนื่อง 


ด้าน นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแล โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า เงินบาทช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าอ่อนค่าเร็วเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากแรงซื้อดอลลาร์หรือขายเงินบาทจากภาคธุรกิจ รวมไปถึงปัจจัยในประเทศ ทั้งความกังวลต่อความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ ที่มีความไม่แน่นอนมากกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า 

รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ตลาดรอติดตามทีมเศรษฐกิจชุดใหม่อย่างใกล้ชิดแต่อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าเงินบาทที่กลับมาอ่อนค่าในรอบนี้ จะเป็นสถานการณ์เพียงช่วงสั้น ซึ่งคาดการณ์ว่าช่วงปลายปีเงินบาทน่าจะยังกลับมาแข็งค่าในระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์


สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.50-31.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแล โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยายังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในระดับ 31.60-31.85 บาทต่อดอลลาร์  


โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ของทั้งไทยและต่างประเทศ รวมไปถึงท่าทีการตอบโต้กันไปมาระหว่าง “สหรัฐ” และ “จีน” ตลอดจนสัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ และข้อมูลการส่งออกของไทยในเดือนมิ.ย.ที่จะประกาศในสัปดาห์นี้ 


นอกจากนี้ยังต้องติดตามดูตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างสัปดาห์ เช่น ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ในเดือนมิ.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือนพ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะเดียวกันยังต้องติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ย LPR(loan Prime rate) หรือ ดอกเบี้ยเงินกู้ ของธนาคารกลางจีน ประจำเดือนก.ค.2563 และ ดัชนี PMI ในเดือนก.ค. ของหลายๆ ประเทศชั้นนำด้วย

 
ด้าน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ หรือ EIC ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า เงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มอ่อนค่ามาเคลื่อนไหวในระดับ 31.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์ จาก 2 ปัจจัยสำคัญ


ปัจจัยแรก คือ เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนหันมาถือครองเงินดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ปัจจัยที่สอง คือ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มเกินดุลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง ทำให้ความต้องการเงินบาทลดลง โดย EIC ได้ปรับลดประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้เกินดุลลดลงอยู่ที่ 2.4% ต่อจีดีพี จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 4.5% ต่อจีดีพี
จากข้อมูลทั้งหมดนี้ พอจะเห็นภาพแนวโน้มเงินบาทในระยะข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร โดยการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้น่าจะเป็นจังหวะที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  โดยไม่สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำมากและมีแนวโน้มจะอยู่ระดับต่ำกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินที่ 1-3%   


โดยค่าเงินบาทอ่อน ผู้ที่ได้อานิสงค์คือผู้ส่งออก เพราะหากขายสินค้าได้เป็นเงินดอลลาร์เมื่อแลกเปลี่ยนเงินบาทจะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วงนี้สภาพคล่องมีความสำคัญและจำเป็นต่อภาคธุรกิจมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ให้สามารถประคองธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางปัจจัยลบมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ  

แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจส่งผลต่อ “ค่าครองชีพ” ของคนในประเทศเช่นกัน เพราะสินค้าหลายตัวที่ไทยต้องนำเข้ามาใช้ เช่น “น้ำมัน”  แต่อย่างที่กล่าวไปแล้ว ช่วงนี้เงินเฟ้อต่ำถึงติดลบ  การที่เงินบาทอ่อนจึงไม่สร้างแรงกดดันต่อระดับราคาสินค้าจนน่ากังวล 

ดังนั้น หากผู้ดำเนินนโยบายจะใช้ "นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน"  เป็นเครื่องมือ โดยยอมให้เงินบาทอ่อน น่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยง แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ต้องดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไป เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวรับมือกับความผันผวนที่เกิดขึ้นได้

ติดตามได้ในรายการ เศรษฐกิจ Insight 


https://www.youtube.com/watch?v=ntkVbBIuHsI

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง