รีเซต

กระทรวงการต่างประเทศเชิญทูตต่างประเทศ ประจำไทยชี้แจงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

กระทรวงการต่างประเทศเชิญทูตต่างประเทศ ประจำไทยชี้แจงสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา
TNN ช่อง16
23 กรกฎาคม 2568 ( 18:05 )
16

กระทรวงการต่างประเทศ จัดการบรรยายสรุปแก่คณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย เกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, นางสาวพินทุ์สุดา ชัยนาม อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ, พลเอกศักดิ์สิทธิ์ แสงชนินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ หรือ TMAC (ที-แมกซ์) และพลเรือตรีสุรสันต์ คงสิริ โฆษกศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา หรือ ศบ.ทก โดยมีเอกอัครราชทูต และผู้แทนจากสถานทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย จำนวน 93 คน จาก 68 ประเทศเข้าร่วมรับฟัง โดยที่สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมรับฟังการบรรยายสรุปในครั้งนี้ ทั้งที่กระทรวงการต่างประเทศได้ออกหนังสือเชิญไปแล้ว 


นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยรายละเอียดการบรรยายสรุปในครั้งนี้ว่า กระทรวงฯ ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อชี้แจงท่าทีประเทศไทยต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา และเป็นการบรรยายต่อเนื่องจากการบรรยายของกองทัพบกต่อผู้ช่วยทูตทหาร ที่ได้มีการบรรยายไปเมื่อวานนี้ (21 ก.ค.) เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีกำลังพลกองทัพบก 3 นาย ประสบเหตุเหยียบกับระเบิด หลังลาดตระเวณบริเวณช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกระรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศูนย์ ศบ.ทก.ได้ยืนยันผลการตรวจสอบ และออกแถลงการณ์แล้วหลายฉบับ ซึ่งในช่วงต้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ เพื่อให้คณะทูต และผู้ช่วยทูตทหารฯ ได้รับทราบความคืบหน้าจากหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะประเด็นทุ่นะระเบิด เพื่อยืนยันจุดยืนไทย และการแก้ปัญหาอย่างสันติผ่านการเจรจาทวิภาคี


ขณะที่ โฆษก ศบ.ทก.ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง และการดำเนินการของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ พร้อมย้ำว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในดินแดนอธิปไตยของไทย และผู้อำนวยการ TMAC (ที-แมกซ์) ได้ย้ำบทบาทของศูนย์ TMAC โดยเฉพาะตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิต และโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล ค.ศ. 1997 หรือ อนุสัญญาออตตาวา และการดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยศูนย์ TMAC ในครั้งนี้ พร้อมยืนยันว่า ทุ่นระเบิดเป็นของกัมพูชา และเรียกร้องให้กัมพูชาให้ความร่วมมือเก็บกู้วัตถุระเบิด และสืบสวนข้อเท็จจริง รวมถึงอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ได้ย้ำพันธะกรณีของไทย ตามอนุสัญญาออตตาวา ที่ไทยเป็นรัฐภาคี พร้อมแสดงการประท้วงของไทยต่อกัมพูชา หลังการรวบรวมหลักฐานในพื้นที่ 


โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังเปิดเผยว่า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้ชี้แจง 5 ประเด็นหลักต่อคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย โดยไทยยืนยันว่า จากการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ทุ่นระเบิดไม่มีการใช้ และไม่มีในคลังอาวุธไทย และเป็นทุ่นระเบิดที่วางใหม่ โดยเป็นทุ่นระเบิดสังหารบุคคลของกัมพูชา ซึ่งเป็นการระเมืดกฎหมายระหว่างประเทศร้ายแรง, รัฐบาลไทย มีแถลงการณ์ประณามอย่างรุนแรงที่สุด ซึ่งถือเป็นการระเมิดอธิปไตย และขัดหลักการกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นการกระทำที่ละเมิดอนุสัญญาออตตาวาอย่างชัดเจน, และจากการรวบรวมหลักฐานทั้งหมด ในวันนี้ (23 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศ ได้มอบหนังสือประท้วงถึงเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ถึงการละเมิดอธิปไตย ไม่ปฏิบัติตามอนุสัญญาออตตาวา และขอให้กัมพูชารับผิดชอบ และเยียวยาผู้เสียหาย รวมถึงเก็บกู้วัตถุระเบิดตามที่เคยมีการตกลงกันไว้, รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ โดยเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเจนิวา สหประชาชาติ ได้มีหนังสือถึงประธานการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวาแล้ว ซึ่งมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหนังสือประท้วงที่ส่งไปยังสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิกรัฐภาคี ที่มีความรับผิดชอบต่อนานาประเทศ จึงต้องรายงานการละเมิดอนุสัญญาฯ ของกัมพูชา และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้เน้นย้ำจุดยืนของไทยที่สอดคล้องสากล กฎหมายระหว่างประเทศ พันธกรณีต่าง ๆ ที่ประเทศไทย ยังคงพร้อมพูดคุยหาทางออกกับกัมพูชาอย่างสันติผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ 


โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่อนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี ค.ศ. 2025 (High-Level Political Forum on Sustainable Development 2025) หรือ HLPF2025 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก และได้มีโอกาสพบผู้แทนระดับสูงจากต่างประเทศ จึงได้ใช้โอกาสนี้ ยืนยันจุดยืนประเทศไทยต่อประชาคมโลกในการแก้ปัญหาอย่างสันติ และการเจรจาผ่านกรอบทวิภาคี ซึ่งในวันนี้ (23 ก.ค.) ได้พบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ในฐานะประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ประจำเดือนกรกฎาคม รวมถึงยังได้พบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประเทศปานามา ซึ่งจะเป็นประธาน UNSC ในเดือนสิงหาคม ซึ่งทั้งฝ่ายปากีสถาน และปานามา ก็เห็นพ้องในการแก้ปัญหาของไทย ที่จะใช้กลไกทวิภาคี และหากมีการละเมิดอนุสัญญาออตตาวา ก็จะต้องมีการแก้ไข 

ส่วนไทยจะมีการพิจารณามาตรการตอบโต้ให้เข้มข้นขึ้นหลังมีการยั่วยุบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา มากกว่าการออกเอกสารประท้วง เช่น การเชิญเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกลับไทย หรือการให้เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับไปหรือไม่นั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า ยังไม่ถึงขั้นนั้น ซึ่งในการบรรยายสรุปแก่คณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย และผู้ช่วยทูตทหารต่างประเทศประจำประเทศไทย ก็มีการสอบถามถึงการเชิญทูตกลับ แต่ยังไม่ถึงจุดนั้น เพราะประเศไทย ยังย้ำการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ผ่านการเจรจาทวิภาคี และเอกอัครราชทูต ก็เป็นกลไกสำคัญในการเปิดช่องให้มีการเจรจาทวิภาคี ดังนั้น ฝ่ายไทยจึงยังไม่มีการพิจารณาถึงจุดนั้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง