รีเซต

โควิด-19 : ยอดผู้เสียชีวิตในลาตินอเมริกาเกินหนึ่งแสนรายแล้ว หลายชาติกังวลการระบาดรอบใหม่

โควิด-19 : ยอดผู้เสียชีวิตในลาตินอเมริกาเกินหนึ่งแสนรายแล้ว หลายชาติกังวลการระบาดรอบใหม่
บีบีซี ไทย
25 มิถุนายน 2563 ( 07:30 )
53
โควิด-19 : ยอดผู้เสียชีวิตในลาตินอเมริกาเกินหนึ่งแสนรายแล้ว หลายชาติกังวลการระบาดรอบใหม่

Getty Images
เปรู เป็นอีกประเทศในลาตินอเมริกาที่สถานการณ์ร้ายแรงเช่นกัน

เมื่อกระแสการประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติเริ่มซาไป และหลายประเทศเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์กันแล้ว แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังอยู่ในขั้นร้ายแรงอยู่ โดยเฉพาะที่ภูมิภาคลาตินอเมริกาและในสหรัฐฯ

ตอนนี้ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อกว่า 9.2 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 4.78 แสนรายแล้ว

 

ตราบใดที่เรายังไม่สามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ ทุกประเทศก็ล้วนเสี่ยงกลับมาระบาดอีกครั้งได้ดังที่เห็นมาแล้วในหลายประเทศ อาทิ นิวซีแลนด์และเกาหลีใต้ที่ได้รับการขนานนามว่ารับมือวิกฤตได้มีประสิทธิภาพอันดับต้น ๆ ของโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในสหราชอาณาจักรเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนว่าประเทศพร้อมแค่ไหนที่จะรับมือกับ "ความเสี่ยงที่แท้จริง" หากประเทศกลับมามีการระบาดเป็นระลอกที่สอง หลังนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน เพิ่งประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. เป็นต้นไป ผับ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และร้านตัดผม จะกลับมาเปิดทำการได้ และให้ลดการรักษาระยะห่างจาก 2 เมตร เป็น 1 เมตรได้

 

PA Media
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขในสหราชอาณาจักรกังวลว่าประเทศจะพร้อมรับมือแค่ไหนหากประเทศกลับมามีการระบาดเป็นระลอกที่สอง

ข้อมูลจาก นสพ.นิวยอร์กไทมส์ ชี้ว่า มีอย่างน้อย 26 รัฐในสหรัฐฯ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อเฉลี่ยต่อสัปดาห์สูงขึ้น

ดร.แอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ (NIAID) กล่าวต่อสภาคองเกรสว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้ประเทศต้องถึงกับทรุดจน "คุกเข่า" และอาจสร้างความเสียหายถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

นอกจากนี้เขาบอกว่า มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบางส่วนในสหรัฐฯ อย่าง "น่ากังวล" และรัฐต่าง ๆ ต้องมี "กำลังคน ระบบ และการตรวจ" เพื่อหาผู้ติดเชื้อ ให้กักตัว และย้อนรอยว่าคนเหล่านั้นไปมีปฏิสัมพันธ์กับใครมาบ้าง

Getty Images
ดร.ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ (NIAID) บอกว่า วิกฤตครั้งนี้ทำให้ประเทศต้องถึงกับทรุดจนต้อง "คุกเข่า"

อินเดียก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ทางการคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว แต่ยอดผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มอยู่ เมื่อวันอังคาร กรุงเดลีมียอดติดเชื้อเพิ่มเกือบ 4,000 รายในวันเดียว ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมเป็นทั้งหมด 66,000 ราย ใกล้แซงนครมุมไบที่มีผู้ติดเชื้อ 68,000 ราย

เช่นเดียวกับที่ปากีสถาน ประเทศเพื่อนบ้าน ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก็ยังเพิ่มอยู่ และระบบสาธารณสุขของประเทศต้องรับมืออย่างหนัก

อิหร่านกำลังกังวลว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จะกลับมาระบาดเป็นระลอกที่สอง เนื่องจากจำนวนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มมาเป็นราว 100 รายต่อวันเป็นครั้งแรกในรอบ 2 เดือน

นอกจากนี้ แอฟริกาใต้และอียิปต์ มีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากที่สุดในแอฟริกา แต่อัตราการตรวจเชื้อที่ต่ำมากในบางส่วนของภูมิภาคนี้ทำให้เกิดความกังวลว่าสถานการณ์จริง ๆ ร้ายแรงกว่านี้มาก

เลยแสน

อย่างไรก็ดี ที่ร้ายแรงที่สุดเป็นภูมิภาคลาตินอเมริกาและแถบทะเลแคริบเบียนที่มีผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่า 1 แสนรายแล้ว โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้เสียชีวิตในบราซิล ซึ่งเผชิญวิกฤตหนักที่สุดเป็นอันดับที่สองรองจากสหรัฐฯ

จากยอดผู้ติดเชื้อทั้งหมดกว่า 1.14 ล้านราย บราซิลมีผู้ติดเชื้อใหม่เกือบ 4 หมื่นรายจากข้อมูลจนถึงวันที่ 23 มิ.ย.

EPA
ประชาชนร่วมพิธีฝังศพหมู่ในเมืองมาเนาส์ ของบราซิล

ศาลบราซิลเพิ่งออกคำสั่งให้ประธานาธิบดี ชาอีร์ โบลโซนาโร ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเวลาอยู่ในที่สาธารณะ แต่เขาก็ยังบอกว่าวิกฤตครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอยู่ โดยเห็นความสำคัญการฟื้นฟูเศรษฐกิจมากกว่า

เม็กซิโกเผชิญวิกฤตหนักเป็นอันดับที่สองในภูมิภาค โดยนายกเทศมนตรีกรุงเม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงของประเทศ ประกาศยกเลิกแผนให้ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาเปิดกิจการแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง