รีเซต

ย้อนรอย 'เงินติดล้อ' จากอดีต-ปัจจุบัน หลังกระแสขาย หุ้น IPO กระหึ่ม

ย้อนรอย 'เงินติดล้อ' จากอดีต-ปัจจุบัน หลังกระแสขาย หุ้น IPO กระหึ่ม
TeaC
5 พฤษภาคม 2564 ( 12:52 )
390
ย้อนรอย 'เงินติดล้อ' จากอดีต-ปัจจุบัน หลังกระแสขาย หุ้น IPO กระหึ่ม

 

ข่าววันนี้ พูดถึง “เงินติดล้อ” หุ้นน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าเทรดในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ เชื่อว่าหลายคนคงจะมีคำถามว่า ทำไมนักลงทุนถึงให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จุดเด่นของธุรกิจคืออะไร หรือแผนงานที่เขาจะเติบโตต่อไปในอนาคต น่าสนใจแค่ไหน? รายการ TNN ชั่วโมงทำเงิน ได้เจาะลึกข้อมูลเหล่านี้มาฝาก

 

 

 



ที่มาของ เงินติดล้อ

 


เมื่อปี 2523 ครอบครัว 'แก้วบุตตา' ได้เปิดตัว 'บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัด' เพื่อให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อเจาะลูกค้าเกษตรกรที่ไม่เข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งหลังจากดำเนินธุรกิจมาได้ 10 ปี จนสามารถขยายธุรกิจออกไปในจังหวัดอื่นๆ ราว 130 สาขา จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็น 'บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด'
แต่หลังจากนั้น ในปี 2550 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อ AIG Consumer Finance Group, Inc (AIG) จากสหรัฐฯ เข้าซื้อกิจการของ 'บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด' และเปลี่ยนชื่อเป็น 'บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด' พร้อมกับปรับโครงสร้างธุรกิจและปั้นแบรนด์ใหม่ให้เป็นที่รู้จักในชื่อว่า 'ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ'

 


แต่หลังขายกิจการไปเพียงหนึ่งปี (2551) ครอบครัว 'แก้วบุตตา' ผู้ก่อตั้ง 'ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ' ได้จัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจเดียวกัน ในชื่อ 'ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1972' โดยใช้ชื่อแบรนด์ 'ศรีสวัสดิ์' ซึ่งปัจจุบันก็คือ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD นั่นเอง

 


ในขณะที่ 'ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ' หลังเจอวิกฤตซับไพรม์ในช่วงปี 2551 กลุ่ม AIG ได้ตัดสินใจต้องขายหุ้น 100% ของ'ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ' ให้กับ 'ธนาคารกรุงศรีอยุธยา' (BAY) และต่อมาในปี 2559 บริษัท Siam Asia Credit Access Pte. Ltd. (SACA) ได้เข้าซื้อหุ้น 50% จาก BAY ก่อนจะมีการเพิ่มสาขาเป็นกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ

 


การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุด เกิดขึ้นในปี 2561 กลุ่มผู้ถือหุ้นได้ตัดคำว่า 'ศรีสวัสดิ์' ออกไป เหลือเพียงชื่อแบรนด์ 'เงินติดล้อ' เพื่อป้องกันการสับสน และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน และกำลังจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 10 พฤษาคม นี้ 

 



ธุรกิจของเงินติดล้อ 

 


ปัจจุบันธุรกิจของเงินติดล้อ แบ่งออกเป็น 2 หมวดหลักๆ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และธุรกิจบริการนายหน้าประกันภัย
โดยในส่วนธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั้น ปัจจุบันเงินติดล้อ เป็นผู้ให้บริการจำนำทะเบียนรถสินเชื่อจำนำทะเบียนรถรายใหญ่ที่สุดในไทย มีสาขาให้บริการ 1,076 แห่งครอบคลุม 74 จังหวัดทั่วประเทศ ในขณะที่ธุรกิจบริการนายหน้าประกันภัยนั้น แม้จะเปิดตัวมาได้เพียง 3 ปี แต่แนวโน้มการเติบโตของรายได้ก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 3 ในตลาดนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อย และยังมีผลิตภัณฑ์ทั้งประกันภัยรถยนต์ทุกประเภท

 



ผลประกอบการของเงินติดล้อ 

 


ปี 2561 มีรายได้ 7,569 ล้านบาท กำไร 1,306 ล้านบาท อัตรากำไรสุทธิ 17.3% ในขณะที่เงินให้กู้และ ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออยู่ที่ 37,049.4 ล้านบาท หลังจากนั้น ในปี 2562 รายได้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 9,458 ล้านบาท เช่นเดียวกับกำไรที่เพิ่มขึ้นเป็น 2,202 ล้านบาท และอัตรากำไรสุทธิ 23.3% โดยในปีนี้ เงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 45,277.3 ล้านบาท  

 

       
ล่าสุด ปี 2563 ที่ผ่านมา รายได้ของเงินติดล้อ ขึ้นมาแตะหลัก 10,559 ล้านบาท ด้วยกำไร 2,416 ล้านบาท แม้อัตรากำไรสุทธิจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 22.9% แต่จำนวนเงินให้กู้และลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ ขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 48,568 ล้านบาท โดยการเติบโตในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 36% และมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นเฉลี่ย 22.9% ซึ่งพอร์ตหลักมาจากธุรกิจสินเชื่อสัดส่วนถึง 82.7% และที่เหลือ 8% มาจากธุรกิจนายหน้าประกันภัย     

 



เป้าหมายในอนาคตของเงินติดล้อ

 


คุณปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เงินติดล้อ บอกว่าเป้าหมายของการเสนอขายหุ้น IPO และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการต่อยอดในการเตรียมความพร้อมเพื่อเติบโตให้กับธุรกิจ และสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน โดยบริษัทมีความมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และก้าวสู่การเป็นผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันภัยสำหรับรายย่อย ด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนให้เข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียม โปร่งใส และเป็นธรรม โดยมีฐานลูกค้าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 10,000 บาท มีเงินหมุนเวียนไม่แน่นอนและประวัติข้อมูลทางการเงินจำกัด ผ่านการให้บริการด้วยความจริงใจของพนักงานของบริษัท

 


ซึ่งภายหลังการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว เป้าหมายของเงินติดล้อคือการมีรายได้เติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปี ในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยที่จะมีการขยายการเติบโตของสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการขยายสาขาเพิ่มอีก 500 สาขาในช่วง 2-3 ปีนี้ จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 1,500 สาขา และการขยายสินเชื่อควบคู่ไปกับการบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บริษัทจะนำมาใช้ให้บริการในด้านสินเชื่อ

 


อีกทั้งรายได้เสริมที่มาจากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยลูกค้ารายย่อยจะยังเห็นการเติบโตราว 40% ในช่วง 2-3 ปีต่อเนื่อง ทำให้เป็นอีกปัจจัยผลักดันการเติบโตของรายได้ให้กับบริษัทหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯไปแล้ว โดยในปี 63 บริษัทมีรายได้รวมที่ 1.05 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ 92% และรายได้จากธุรกิจนายหน้าขายประกันวินาศภัยลูกค้ารายย่อย 8%

 


ในระยะต่อไป เงินติดล้อยังมองโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งต้นน้ำและกลางน้ำที่จะเข้ามาต่อยอดและเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจหลักที่เป็นธุรกิจปลายน้ำ โดยมองหาโอกาสในการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และการขยายธุรกิจออกไปในประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งมีหลายประเทศที่บริษัทให้ความสนใจ และตรงกับเกณฑ์การขยายธุรกิจของบริษัท ได้แก่ เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมาก ประชากรอายุเฉลี่ยน้อย เศรษฐกิจเติบโตแข็งแรงแต่มีประชากรบางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นต้น ซึ่งหลังจากเข้าตลาดบริษัทจะมีการพิจารณาการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอีกครั้ง

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง