รีเซต

ประวัติ “ชุมชนคลองเตย” สู่คลัสเตอร์โควิด-19 ที่ต้องจับตา!

ประวัติ “ชุมชนคลองเตย” สู่คลัสเตอร์โควิด-19 ที่ต้องจับตา!
Ingonn
3 พฤษภาคม 2564 ( 13:25 )
2.4K
ประวัติ “ชุมชนคลองเตย” สู่คลัสเตอร์โควิด-19 ที่ต้องจับตา!

จากสถานการณ์การของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชุมชนคลองเตยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยจากการตรวจเชิงรุกประชาชนในพื้นที่ พบมีอัตราการติดเชื้อประมาณ 5-10% ขณที่ รพ.จุฬาฯพบผู้ป่วยปอดอักเสบจากชุมชนคลองเตยที่มารักษาตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้ชุมชนคลองเตยเป็นอีกคลัสเตอร์ที่น่าจับตา เพราะว่ามีประชากรอาศัยในชุมชนที่แออัดนั้นราว 1 แสนคน

 


ชุมชนคลองเตยกำลังเป็นอีกคลัสเตอร์ใหม่ที่น่าจับตามอง ด้วยยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากจากการตรวจเชิงรุก วันนี้ True ID จึงได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชุมชนคลองเตยมาให้รู้จักกัน

 

 


ความเป็นมา “ชุมชนคลองเตย”


เขตคลองเตยเป็นเขตชั้นใน ได้ชื่อตามคลองอันเป็นสัญลักษณ์ท้องถิ่น สันนิฐานจากชื่อเรียกเป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง (ต้นเตย) ที่ขึ้นมากบริเวณนั้น แต่เดิมเป็นแขวงหนึ่งในเขตพระโขนง และตั้งเป็นเขตคลองเตยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2532 ประกอบด้วย 3 แขวง คือ คลองเตย คลองตัน และพระโขนง มีพื้นที่ปกครอง 12.316 ตร.กม. และเนื่องด้วยมีพื้นที่กว้างขวาง และประชากรหนาแน่น ภายหลังจึงได้แยกพื้นที่ออกเป็นเขตวัฒนา เขตคลองเตยเป็นที่ตั้งของท่าเรือกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำที่ติดต่อกับต่างประเทศ และเป็นแหล่งเศรษฐกิจการค้าตามแนวถนนสุขุมวิท สภาพสังคมส่วนหนึ่งเป็นสังคมธุรกิจ อีกส่วนหนึ่งเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ จำนวน 40 ชุมชน สำนักงานเขตตั้งอยู่ที่ 599 สามแยกกล้วยน้ำไท แขวงคลองเตย เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10110

 

 

พื้นที่สำคัญใน “ชุมชนคลองเตย”


แขวงคลองเตย เป็นแขวงที่ใหญ่ที่สุดในเขตคลองเตย มีพื้นที่ 6,131 ตร.กม. เป็นที่ตั้งของส่วนราชการ และศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญ เช่นการท่าเรือแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ คลังน้ำมันปิโตรเลียม กรมศุลกากร ศูนย์การประชุมแห่งชาตติสิริกิต์ และเป็นที่ตั้งของชุมชนที่เก่าแก่ และใหญ่ที่สุดในประเทศ

 


เขตพื้นที่ “ชุมชนคลองเตย”


ทิศเหนือ จรด แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา จังหวัดกรุงเทพมหานคร


ทิศใต้ จรด แม่น้ำเจ้าพระยา


ทิศตะวันออก จรด แขวงคลองตัน และแขวงพระโขนง เขตคลองเตย จังหวัดกรุงเทพมหานคร


ทิศตะวันตก จรด แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร และแขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา จังหวัดกรุงเทพมหานคร

 

 

เปลี่ยนชุมชนคลองเตย สู่สมาร์ทคอมมูนิตี้


ชุมชนคลองเตยหรือชุมชนรอบท่าเรือกรุงเทพ แบ่งออกเป็นชุมชนในพื้นที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จำนวน 26 ชุมชน และชุมชนใต้ทางด่วน 5 ชุมชน ทั้งหมด 31 ชุมชน รวมกว่า 13,000 ครัวเรือน บนเนื้อที่ 197 ไร่


โดยอนาคตทาง กทท. เตรียมพัฒนาเป็นสมาร์ท คอมมูนิตี้ จะตั้งอยู่บนพื้นที่ 58 ไร่ ซอยตรีมิตร ติดถนนริมทางรถไฟสายเก่า ด้านหลังติดริมคลองพระโขนง ประกอบด้วยคอนโดมิเนียม 4 อาคาร ความสูง 25 ชั้น ชั้นที่ 1-5 เป็นที่จอดรถ ชั้นที่ 6-25 เป็นห้องพักอาศัย ขนาดห้อง 33 ตารางเมตร อาคารละ 1,536 ยูนิต รวม 6,144 ยูนิต มีลิฟต์โดยสาร อาคารละ 4 ตัว ลิฟต์ดับเพลิง อาคารละ 2 ตัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบดูแลความปลอดภัยด้วยคีย์การ์ดเข้า-ออก ตามแผนจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,417 ล้านบาท


นอกจากนี้ยังมีอาคารส่วนกลางที่เป็นสถานที่ราชการ สำนักงานต่าง ๆ พื้นที่ให้เช่าภายในอาคาร พร้อมด้วยอาคารจอดรถส่วนกลาง อาคารตลาดหรือพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เช่าขายสินค้า (Community Mall) โรงเรียน อาคารเอนกประสงค์อื่น ๆ และพื้นที่สีเขียว

 

 

3 แนวทางเลือก ยกระดับคุณภาพชีวิตชาวชุมชนคลองเตย ไม่ให้แออัด


สำหรับชาวชุมชนคลองเตยทั้ง 31 ชุมชน กทท. ได้เสนอสิทธิประโยชน์ไว้ 3 แนวทางเลือก โดยสามารถเลือกรับสิทธิประโยชน์ได้ครอบครัวละ 1 สิทธิ ได้แก่

 

1. สิทธิห้องชุดขนาด 33 ตารางเมตร ในโครงการ เพื่ออยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อยู่เดิม โดยอาจจะเก็บค่าเช่าในอัตราเดียวกับการเช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ในสัญญาระยะยาว 30 ปี

 

2. สิทธิเป็นเจ้าของที่ดินเปล่า 1 แปลง ขนาด 19.5 ตารางวา ย่านหนองจอก มีนบุรี มูลค่าแปลงละ 200,000 บาท จำกัดจำนวน 2,140 แปลง

 

3. สิทธิเงินทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อใช้กลับไปใช้ชีวิตที่ภูมิลำเนาเดิมของตนเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนเงินที่เหมาะสม

 

ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่า มี 50% ที่ต้องการรับสิทธิอยู่อาศัยในโครงการ อีก 30% ต้องการรับสิทธิเป็นที่ดินย่านหนองจอก-มีนบุรี และอีก 20% ต้องการรับสิทธิเงินทุนเพื่อกลับภูมิลำเนาเดิม โดย กทท. จะเร่งดำเนินการสำรวจสำมะโนประชากร และสอบถามความต้องการที่ชัดเจนของชาวชุมชน พร้อมทั้งเร่งสำรวจออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ต่อไป

 


โควิด-19 ในชุมชนคลองเตย


จากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อที่ทำงานในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ อยู่อาศัยในชุมชนเขตคลองเตย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีคนอยู่กันอย่างหนาแน่น รวม 41 ชุมชน มีบ้านอยู่ติดๆ กัน การระบายอากาศไม่ดี อาจจะทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อในวงกว้าง

 

 

สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) นำเสนอที่ประชุมถึงการค้นหาเชิงรุกในชุมชนคลองเตย โดยจะมุ่งเป้าไปที่ 39 ชุมชน ทั้งชุมชนเมือง ชุมชนแออัด และชุมชนที่อยู่ในเคหะ ซึ่งปัจจุบันมีรายงานผู้ติดเชื้อ 304 ราย จำนวนนี้ 193 ราย อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างหนาแน่นในพื้นที่ชุมชนแออัด ทำให้ต้องเฝ้าระวังการแพร่เชื้อในชุมชนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม นำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว 100%

 

 

โดยพบว่ามี 3 ชุมชนที่มีการติดเชื้อหนาแน่น คือ ชุมชนพัฒนาใหม่ ชุมชน 70 ไร่ และชุมชนริมคลองวัดสะพาน จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ 3 ชุมชนนี้ ในวันที่ 27 เม.ย. และ 30 เม.ย. พบว่า ชุมชน 70 ไร่ ตรวจ 436 ราย พบติดเชื้อ 21 ราย ชุมชนริมคลองวัดสะพาน ตรวจ 489 ราย พบติดเชื้อ 29 ราย และชุมชนพัฒนาใหม่ ตรวจ 411 ราย พบเชื้อ 49 ราย

 


โควิดคลองเตยมาจากไหน


การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นคนในที่ทำงาน คนในครอบครัว อย่างกรณีชุมชนแออัดในเขตคลองเตยที่มีชุมชนมาก มีบ้าน 75,000 หลัง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ กทม. ต้องเร่งค้นหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดให้ได้มากที่สุด เพื่อยุติการระบาดให้เร็วที่สุด โดยศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ และสำนักงานเขต ทำงานร่วมกับ ผู้นำชุมชน (Covid manager) พาคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตรวจหาเชื้อ เริ่มจากจุดที่พบการติดเชื้อจำนวนมากก่อน เป้าหมายการตรวจวันละ 1,000 คน และพยายามขยายเพิ่มศักยภาพการตรวจให้ครอบคลุมทุกชุมชน ในวันนี้ (3 พ.ค.) จนถึงวันที่ 19 พ.ค. 64 เพิ่มอีก

 

นอกจากจะตรวจหาเชื้อเชิงรุกแล้ว ทาง ผู้ว่าฯ กทม. กำลังอยู่ระหว่างการขอวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อจะใช้ในการควบคุมการระบาดอย่างเร่งด่วนแบบที่ กทม.สามารถควบคุมได้ที่ ตลาดบางแคและทองหล่อ โดยฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง และผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง

 

 

แผนการควบคุมโควิด- 19 ในพื้นที่ชุมชนคลองเตย

 

กทม.กับ สปคม. ยังคงเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมีแผนการตรวจซ้ำในชุมชนเสี่ยง เพื่อยุติการระบาด พร้อมทั้ง เร่งฉีดวัคซีนให้คนกลุ่มเสี่ยงให้เร็วที่สุด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดวงกว้างในชุมชน

 


โรงพยาบาลสนามชุมชนคลองเตย


สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามคลองเตย กระทรวงกลาโหม โดยศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) เป็นหน่วยหลักในการสนับสนุนการท่าเรือแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่เพื่อประสานงาน ประเมินและพิจารณาจัดตั้งโรงพยาบาลสนามโดยใช้อาคารคลังเก็บสินค้า ท่าเรือคลองเตย สามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 250-300 เตียง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ คาดว่าจะเปิดใช้งานภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่ในส่วนของกองทัพบกก็ยืนยันว่ามีความพร้อมช่วยสนับสนุนกำลังพลและยุทโธปกรณ์สนับสนุนทันทีหากมีการประสานร้องขอเข้ามา

 


ช่วยเหลือชุมชนคลองเตย


สำหรับประชาชน ในพื้นที่คลองเตย ซึ่งมีประมาณ 90,000 - 100,000  คน ที่ทำงานกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพมหานคร หลังจากเกิดการระบาดของเชื้อโควิด ขณะนี้มีศูนย์พักพิงคัดกรองและแยกตัวในพื้นที่คลองเตย จัดตั้งขึ้นมาแล้วเป็นของมูลนิธิต่างๆซึ่งทำงานร่วมกัน 4 ส่วน มีวัดสะพาน/คลองเตยดีจัง/มูลนิธิดวงประทีปและหมอวิรุฬ โดยแบ่งงานกัน ดังนี้


- วัดสะพานดูแลผู้ติดเชื้อ


- คลองเตยดีจัง ทำงานข้อมูล


- มูลนิธิดวงประทีป รับบริจาค แจกถุงยังชีพ ทำข้อมูลให้ความช่วยเหลือผู้ติดเชื้อและครอบครัว


- หมอวิรุฬ ประสานหน่วยงานภาครัฐ

 


 
เปิดรับบริจาคอุปกรณ์และสิ่งของ เพื่อจัดตั้ง "ศูนย์พักคอยผู้ป่วยโควิด" ณ วัดสะพานพระโขนง
 

1. แอลกอฮอล์ 95% 


2. น้ำยาฟอกขาว (เดสตอล/ ไฮเตอร์ )


3. PPE (วันละ 5 ชุด 3 เดือน)  500 ชุด


4. หน้ากาก N95


5. แว่นตากันลม


6. ถุงมือยาง


7. น้ำแพ็ค 


8. จาน ช้อน แก้ว


9. ถุงขยะ (ถุงดำ,ถุงแดง)


10. ผ้าเช็ดตัวฉุกเฉิน (ขนาดเล็ก) 


11. ยาแก้ไอ/ยาแก้ไข้(แก้ปวด)/ยาฟ้าทะลายโจร/ยาแก้ไอ แก้ไข้สำหรับเด็ก


12. ขนมรองท้องระหว่างมื้อ/บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป


 
บริจาคผ่านลิ้งค์นี้
https://taejai.com/th/d/klongtoei_cwa/


*หมายเหตุ การบริจาค สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

 

 


ข้อมูลจาก สำนักงานเขตคลองเตย , เฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang , TNN , ddproperty

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง