รีเซต

“เงินดิจิทัล” มาตามสัญญา รัฐบาล “เศรษฐา” เข็นนโยบายเรือธง

“เงินดิจิทัล” มาตามสัญญา รัฐบาล “เศรษฐา” เข็นนโยบายเรือธง
TNN ช่อง16
13 เมษายน 2567 ( 11:58 )
62

ถือเป็นข่าวดีรับปีใหม่ไทย เมื่อ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” นำทีมแถลงความชัดเจน โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ประชาชนกว่า 50 ล้านคน วงเงินกว่า 500,000 ล้านบาท  และแม้ว่าโครงการนี้จะลากยาวไปถึงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ แต่ก็ถือว่า “มาตามนัด”  และถือเป็นการทำตามสัญญาของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยประกาศ นโยบาย "เงินดิจิทัล" เอาไว้ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง และถือเป็นตัวอย่างที่ดีของความเป็นพรรคการเมือง ที่จะสามารถพูดได้ว่า เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ซึ่งหากมองในมุมกลับ หากพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถเข็น “นโยบายเรือธง” ของตัวเอง ให้นำไปสู่การปฏิบัติได้ พรรคเพื่อไทยก็คงหนีไม่พ้น ข้อครหาร้ายแรง โกหก หลอกลวงประชาชน 





ย้อนไปดูคำแถลงของ นายกฯ เศรษฐา เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2567 ย้ำชัดว่า โครงการนี้เป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว และที่ผ่านมารัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดในการฝ่าฟันข้อจำกัดต่างๆ โดยจะให้สิทธิแก่ประชาชน 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท กำหนดใช้จ่ายในร้านค้าที่กำหนด ถือเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานราก คาดว่า จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 1.2-1.6%



สำหรับ วงเงิน 500,000  ล้านบาท จะบริหารจัดการผ่านงบประมาณได้ทั้งหมด โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 

1.เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยใช้มาตรา 28

 ให้ ธ.ก.ส.ดูแลกลุ่มที่เป็นเกษตรกรกว่า 17 ล้านคน ผ่านงบประมาณ 2568

3.การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท รัฐบาลจะพิจารณาว่ารายการไหนสามารถปรับเปลี่ยนได้ หรือใช้งบกลาง รายการสำรองจ่ายเผื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ได้ ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ 5 แสนล้านบาททั้งก้อน 






ในภาพรวมถึงแม้ว่า “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” จะเป็นโครงการที่ประชาชนเฝ้ารอมานาน แต่ก็ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ซึ่งพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโพสต์ตอบ 17 คำถามของโครงการนี้ โดยระบุว่า จากข้อสงสัยที่ประชาชนประชาชนตั้งคำถาม และมีการเผยแพร่ข้อมูลของเงื่อนไขโครงการ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโครงการฯ ไล่เรียงดังนี้


1. เฉพาะคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยเท่านั้นที่จะได้รับเงินดิจิทัล 10,000

ตอบ ประชาชนสัญชาติไทยจำนวน 50 ล้านคน เกณฑ์ คือ อายุเกิน 16 ปี ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท


2. คนถือบัตรคนจน ใช้ได้ไหม

ตอบ ลงทะเบียนได้ทุกคน แต่ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการจะต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด


3.ผู้สูงอายุ ใช้ได้ไหม

ตอบ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่โครงการกำหนด


4.เงื่อนไขเยอะขนาดนี้ จะมีใครได้ใช้ แล้วจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงไหม เอาอะไรมาวัด

ตอบ ปัจจุบันคณะกรรมการฯ ได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งคณะอนุกรรมการจะได้กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทั้งหมดของโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้มีการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อไป


5. จำกัดแค่ร้านเล็กในชุมชนเท่านั้น

ตอบ สามารถซื้อสินค้าในร้านค้าขนาดเล็ก รวมถึงร้านสะดวกซื้อ แต่ไม่รวมห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า ตามนิยามและเงื่อนไขที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด


6. ร้านค้าขนาดเล็ก (ร้านชุมชน) ขึ้นเงินทันทีไม่ได้ ต้องเอาไปซื้อของต่อ (เค้าสายป่านสั้น) สร้างภาระให้ร้านเล็กมากกว่าหรือเปล่า

ตอบ เงื่อนไขดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจได้หลายรอบมากขึ้น แม้ร้านค้าขนาดเล็กไม่สามารถถอนเงินสดได้ แต่นำยอดเงินที่มีในแอปพลิเคชันไปใช้จ่ายต่อได้ทันทีกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ


7. ทำแบบนี้ ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ๆ ของเจ้าสัว ก็รวยอยู่ดี แล้วจะช่วยรายย่อยได้จริงหรือ

ตอบ โครงการออกแบบให้ประชาชนซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็กภายในอำเภอในการใช้จ่ายรอบแรก และร้านค้าขนาดเล็กดังกล่าวสามารถใช้จ่ายต่อกับร้านค้าทุกประเภทได้ จึงเกิดประโยชน์กับร้านค้าขนาดเล็กในชุมชนเป็นหลัก


8. รายย่อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี จะทำยังไง จะได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้

ตอบ ร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ แต่หากไม่อยู่ในระบบภาษี จะไม่สามารถถอนเงินสดจากโครงการได้


9. ยังมีรัศมีบังคับใช้อยู่มั้ย หรือใช้ที่ไหนก็ได้

ตอบ (1)การใช้จ่ายของประชาชนกับร้านค้าจะต้องใช้จ่ายภายในอำเภอ (2)การใช้จ่ายของร้านค้ากับร้านค้าไม่จำกัดพื้นที่


10. ทำไมต้องทำ Super App ใหม่ ไม่ใช้แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง"

ตอบ คณะกรรมการฯ มีเป้าหมายพัฒนาระบบของโครงการฯ ให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วย


11. งบทำ Super App เป็นช่องโหว่ ให้เกิดการทุจริตได้

ตอบ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด


12. ไหนบอกไม่กู้เงินไง?

ตอบ เป็นการบริหารจัดการงบประมาณจาก 3 แหล่ง ได้แก่

การบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 : 175,000 ล้านบาท

การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ : 172,300 ล้านบาท

งบประมาณปี 2568 : 152,700 ล้านบาท


13 ธ.ก.ส.มีเงินจำกัด มีสภาพคล่องจากเงินฝาก 100% ที่ 1.8 ล้านล้านบาท ตอนนี้มีสินเชื่อแล้ว 1.2 ล้านล้าน สภาพคล่องไม่ได้เยอะขนาดนั้น

ตอบ ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการดำเนินโครงการฯ และสามารถระดมเงินฝากเพิ่มเติมได้เมื่อมีความจำเป็น


14. ธ.ก.ส. เป็น ATM ของรัฐบาลทุกสมัย

ตอบ ธ.ก.ส. เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะเพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายของรัฐ ดังนั้น หากรัฐบาลมีนโยบายที่จำเป็นต้องดำเนินการผ่าน ธ.ก.ส. และอยู่ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ก็สามารถดำเนินการได้


15. ใช้งบประมาณเยอะขนาดนี้ สร้างหนี้สาธารณะในอนาคต เป็นภาระประชาชน

ตอบ โครงการฯ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาภาระค่าครองชีพ ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจสามารถพึ่งพาตนเองได้ สร้างและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของประเทศ


16. คนที่ไม่ได้เงินจากโครงการนี้จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

ตอบ แม้จะไม่ได้รับเงินจากโครงการฯ แต่เมื่อโครงการฯ เริ่มดำเนินการแล้ว จะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 5 แสนล้านบาท จะช่วยให้เกิดการใช้จ่าย การลงทุน การผลิต การจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม


17 มีระยะเวลาในการใช้จ่ายไหม

ตอบ โครงการฯ จะเริ่มให้ประชาชนใช้จ่ายประมาณไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สำหรับระยะเวลาและเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้จ่ายในโครงการ คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการฯ จะได้มีการกำหนดรายละเอียดและประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป

นโยบายเงินดิจิทัล ถือเป็นนโยบายสร้างกระแสฮือฮามาตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้ง จนเมื่อรัฐบาลเพื่อไทยเข้าบริหารประเทศ การขับเคลื่อนก็ยังติดขัดหลายประการ ทั้ง นิยามทางกฎหมาย วิธีการใช้จ่าย และแหล่งที่มาของงบประมาณ แต่หลังจากผลักดันและถกเถียงกันมานาน 8 เดือนในที่สุด รัฐบาลเศรษฐา ก็ทำตามสัญญาที่เคยประกาศได้สำเร็จเป็นก้าวแรก ส่วนก้าวต่อไป ประเทศไทยจะได้หรือเสียอะไรจากโครงการนี้คงต้องติดตามกันต่อ



เรียบเรียงโดย ปุลญดา  บัวคณิศร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง