รีเซต

"กระเพาะอาหารจิ๋ว" ถูกสร้างขึ้นในห้องทดลอง สามารถหลั่งกรดย่อยอาหารได้ด้วย

"กระเพาะอาหารจิ๋ว" ถูกสร้างขึ้นในห้องทดลอง สามารถหลั่งกรดย่อยอาหารได้ด้วย
TNN ช่อง16
19 ธันวาคม 2564 ( 21:45 )
102

ความเชื่ออย่างหนึ่งทางด้านการแพทย์ที่อาจทำให้มนุษย์กลายเป็นอมตะได้ นั่นคือการปลูกถ่ายอวัยวะ หากอวัยวะใดเสียหายเพียงแค่นำอวัยวะใหม่มาปลูกถ่าย ร่างกายก็สามารถกลับมาทำงานใหม่ได้ตามปกติ และนี่คือความท้าทายทางการแพทย์ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการทำให้สำเร็จ




ออแกนอยด์ (Organoid) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า อวัยวะที่สร้างขึ้นในห้องทดลอง ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความฝันที่มนุษย์จะเอาชนะโรคร้ายต่าง ๆ ที่ทำลายอวัยวะในร่างกายด้วยอวัยวะชิ้นใหม่ที่สร้างขึ้นมาทดแทนของเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้คุณอาจจะเคยเห็นการทดลองสร้างหัวใจจิ๋วที่สามารถทำงานได้คล้ายหัวใจของมนุษย์จริง ๆ


กระบวนการสร้างออแกนอยด์จะอาศัยเครื่องมือชิ้นสำคัญ นั่นคือเครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิติ (3D bioprinter) แทนที่จะใช้หมึกพิมพ์เหมือนการพิมพ์ข้อความลงแผ่นกระดาษ เครื่องพิมพ์ชีวภาพสามมิติจะใช้สเต็มเซลล์เป็นส่วนประกอบหลัก จากนั้นซอฟต์แวร์ควบคุมจะสั่งการให้เครื่องพิมพ์ค่อย ๆ พิมพ์ลวดลายของอวัยวะหรือออแกนอยด์ตามที่ต้องการ หลังจากนั้นไม่นานเซลล์ในออแกนอยด์ที่พิมพ์ขึ้นจะเริ่มทำงานตามคุณสมบัติของอวัยวะนั้นนั่นเอง

หัวใจจิ๋วที่สร้างขึ้นในห้องทดลอง
ที่มาของภาพ Neo Life

 


ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการสร้าง "กระเพาะอาหารจิ๋ว" ที่สามารถทำงานได้เหมือนอวัยวะจริง ที่สำคัญคือมันสามารถสร้างและหลั่งกรดน้ำออกมาได้อีกด้วย !!


ในการสร้างกระเพาะอาหารจิ๋วนี้ นักวิทยาศาสตร์ใช้สเต็มเซลล์เพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างเซลล์ 3 ชนิด ได้แก่ Enteric neuroglia, Mesenchyma และ Epithelium จากนั้นจึงออกแบบโครงสร้างของกระเพาะประกอบด้วยเซลล์ชั้นใน เป็นส่วนสร้างกรดสำหรับย่อยอาหาร ล้อมรอบด้วยชั้นกล้ามเนื้อที่อยู่ภายนอกทำหน้าที่หดตัวเพื่อคลุกเคล้าอาหาร และชั้นนอกสุดเป็นชั้นปกคลุมกระเพาะอาหารทั้งหมด

ที่มาของภาพ Science Blog

 


เมื่อได้กระเพาะอาหารจิ๋วระยะเริ่มแรกมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์ได้ปลูกถ่ายเข้าไปในร่างกายของหนูทดลอง เพื่อศึกษาการเจริญของเซลล์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นกระเพาะอาหาร รวมถึงการทำงานต่าง ๆ ของกระเพาะอาหารด้วย ซึ่งจากการติดตามพบว่า กระเพาะอาหารจิ๋วเริ่มขยายขนาดมากขึ้นเกือบ 1,000 เท่าจนใกล้เคียงกับกระเพาะอาหารของหนูขาว อีกทั้งยังสามารถทำการย่อยอาหารได้ใกล้เคียงกับกระเพาะอาหารจริง 


ทั้งนี้ การศึกษายังคงต้งอาศัยระยะเวลาในการติดตามผล เพื่อให้มั่นใจว่าอวัยวะที่สร้างขึ้นหรือออแกนอยด์ดังกล่าว จะก่อผลข้างเคียงอย่างไรแก่ร่างกายบ้าง หรือมีแนวโน้มที่จะพัฒนากลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่ ซึ่งหากการทดลองสามารถดำเนินไปได้อย่างไม่มีปัญหา นักวิทยาศาสตร์ก็จะเริ่มขยายขนาดของการทดลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของออแกนอยด์ก่อนนำไปใช้ในมนุษย์

กระเพาะอาหารจิ๋ว
ที่มาของภาพ Science Blog

 


ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังมากมายที่เฝ้ารอการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ในขณะที่อวัยวะที่มีให้ปลูกถ่ายนั้นก็มีอยู่น้อย หรือหากโชคร้ายคือร่างกายของผู้ป่วยไม่สามารถเข้ากันได้กับอวัยวะปลูกถ่ายเลย ซึ่งเทคโนโลยีในการสร้างอวัยวะใหม่ขึ้นมานี้จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนอวัยวะได้ในอนาคต อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาเรื่องความเข้ากันได้ของร่างกายกับอวัยวะปลูกถ่ายด้วย


ขอขอบคุณข้อมูลจาก Interesting Engineering

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง