รีเซต

ครั้งแรก! บริการจัดงานวิวาห์บนอวกาศด้วยบอลลูน Spaceship Neptune

ครั้งแรก! บริการจัดงานวิวาห์บนอวกาศด้วยบอลลูน Spaceship Neptune
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2566 ( 18:11 )
125
การแต่งงานถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดหนึ่งในโลกของคู่รัก แต่จะเป็นอย่างไรหากเหล่าคู่บ่าวสาวสามารถยกระดับการประกาศสักขีพยานรักไปสู่ระดับอวกาศได้ เมื่อ เจน พอยน์เตอร์ (Jane Poynter) ผู้ร่วมก่อตั้งสเปซ เพอร์สเปกทีพ (Space Perspective) ประกาศว่า บริษัทของตนอาจเป็นผู้ให้บริการจัดงานสมรสในอวกาศเจ้าแรกของโลก

“พวกเรามีลูกค้าที่ต้องการสัมผัสประสบการณ์แต่งงานในอวกาศเป็นครั้งแรก ดังนั้นพวกเราจะได้เห็นกันว่าใครที่จะได้เป็นคนแรก” พอยน์เตอร์กล่าวกับ เดอะ คูล ดาวน์ (The Cool Down) สื่อมวลชนด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม โดยการเฉลิมฉลองความรักหวานชื่นสุดพิเศษนี้จะเกิดขึ้นบน ยานสเปซชิป เนปจูน (Spaceship Neptune) ซึ่งบริษัทยืนยันว่าเป็นยานอวกาศเพียงหนึ่งเดียวที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือเดินทางท่องอวกาศด้วยยานนี้จะมีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั่นเอง

โดยบริษัทท่องเที่ยวอวกาศรายนี้ระบุบนเว็บไซต์ของตนว่า “ยานสเปซชิป เนปจูนถูกพัฒนาให้เป็นยานอวกาศที่เข้าถึงได้มากที่สุด ยั่งยืนที่สุด และปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะบนพื้นโลกหรือขณะล่องลอยอยู่เหนือดาวเคราะห์ดวงนี้ก็ตาม โดยยานนี้ประกอบไปด้วยระบบการลอยตัวด้วยบอลลูนอวกาศ (สเปซบอลลูน) ระบบการลงจอดสำรอง และแคปซูลห้องโดยสารเนปจูน” พร้อมเสริมว่า “ซึ่งแตกต่างจากยานอวกาศอื่น ๆ ที่ส่วนของห้องโดยสารจะแยกตัวออกจากจรวดขับเคลื่อนระหว่างการพุ่งทะยานสู้ห้วงอวกาศ แคปซูลโดยสารยานสเปซชิป เนปจูนจะยังคงเชื่อมต่อกับบอลลูนอวกาศตลอดการเดินทางเหนือพื้นโลก ตั้งแต่วินาทีแรกที่ยานลอยตัวขึ้นจากพื้นจนถึงวินาทีสุดท้ายเมื่อลงสู่พื้นโลก ส่งผลให้เป็นการเดินทางสู่อวกาศที่ปลอดภัยและราบรื่นอย่างลงตัว”

ระบบขับเคลื่อนที่ปราศจากคาร์บอน

ยานสเปซชิป เนปจูนขึ้นชื่อในเรื่องการออกแบบมาเพื่อความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อโลกอย่างมาก เนื่องจากเว็บไซต์ของสเปซ เพอร์สเปกทีพระบุว่ายานนี้ใช้เทคโนโลยีการลอยตัวสูงขึ้นจากพื้นโลกด้วยบอลลูนอวกาศซึ่งขับเคลื่อนตัวก๊าซไฮโดรเจนหมุนเวียน ปราศจากการใช้จรวดและระบบขับเคลื่อนอื่นๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถตรวจสอบได้ด้วยการวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gas emissions and removals) จากผลิตภัณฑ์ บริการตลอดวัฏจักรชีวิต หรือกิจกรรมการดำเนินงานขององค์กร

“แทนที่จะใช้การขับเคลื่อนด้วยการเผาไหม้เชื้อเพลิง ยานสเปซชิป เนปจูนจะลอยตัวขึ้นด้วยบอลลูนอวกาศอย่างช้า ๆ ด้วยความเร็วเพียง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 32 กิโลเมตร ทำให้ใครก็ตามที่มีสภาพร่างกายพร้อมที่บินกับสายการบินพาณิชย์สามารถสัมผัสประสบการณ์ท่องอวกาศไปกับยานเนปจูนได้ โดยบอลลูนของเราเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว ซึ่งทีมงานของเราได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในการปฏิบัติภารกิจต่างๆ ร่วมกับ องค์การนาซา (NASA) และหน่วยงานของรัฐอื่นๆ อาทิ  การยกกล้องโทรทรรศน์สำหรับการวิจัยและเครื่องมือที่มีน้ำหนักและความเปราะบางอื่นๆ มาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว” สเปซ เพอร์สเปกทีพกล่าว

แม้ว่าระดับความสูง 32 กิโลเมตร ยังไม่ถูกจัดเป็นบริเวณเหนือเส้นคาร์แมน (Karman Line) เส้นแบ่งพรมแดนอวกาศที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร แต่ระดับความสูงดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นความสวยงามของโลกและอวกาศ

ขณะที่แคปซูลห้องโดยสารเนปจูนยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมแก่การจัดงานวิวาห์ เพราะแคปซูลทรงกลมนี้เป็นห้องโดยสารที่มีความโอ่โถงและการตกแต่งภายในอย่างสะดวกสบายสำหรับผู้โดยสารทั้งหมด 9 คน (รวมนักบิน 1คน) พร้อมด้วยที่นั่งคุณภาพดีเลิศ ทำให้มันเป็นดั่งเลานจ์สำหรับชมวิวอวกาศ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่มีการปรับระดับความกดดันอากาศอย่างเหมาะสม ผู้โดยสารหรือแขกของงานวิวาห์จึงสามารถร่วมฉลองความรักของบ่าวสาวได้อย่างเอกเขนก เพลิดเพลินกับอาหารว่างและเครื่องดื่มท่ามกลางวิวทิวทัศน์ของห้วงอวกาศแบบ 360 องศา และยังสามารถแบ่งปันช่วงเวลาพิเศษนี้กับเพื่อนๆ บนโลกได้แบบเรียลไทม์ เพราะยานสเปซชิป เนปจูนมีบริการสัญญาณไวไฟตลอดเที่ยวบินอีกด้วย

ส่วนเรื่องการเดินทางกลับมายังพื้นโลก สเปซ เพอร์สเปกทีพเน้นย้ำว่า นอกจากจะมีระบบการบินหลักแล้ว ยานสเปซชิป เนปจูนยังมีระบบการลงจอดสำรอง หรือร่มชูชีพจำนวน 4 ชุดที่ได้รับการติดตั้งระหว่างแคปซูลห้องโดยสารและบอลลูนอวกาศ โดยระบบดังกล่าวจะสามารถรับช่วงต่อจากระบบการบินหลักของยานได้อย่างทันทีทันใดและไม่ติดขัดหากเกิดเหตุสุดวิสัย ซึ่งจะเป็นการรับประกันความปลอดภัยในการลงจอด ร่มชูชีพเหล่านี้ได้รับการทดสอบโดยหน่วยงานท่องเที่ยวทางอวกาศมากกว่า 1,000 เที่ยวบินในช่วงเวลาหลายสิบปีมานี้ด้วยอัตราความสำเร็จร้อยละ 100

ทั้งนี้ บริษัทสเปซ เพอร์สเปกทีพ ถูกก่อตั้งโดยอดีตลูกเรือสองคนของไบโอสเฟียร์ 2 (Biosphere 2) ซึ่งเป็นโครงการจำลองระบบนิเวศบนโลกในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นยุคทศวรรษ 90 โดยบริษัทนี้ “ขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาที่จะแบ่งปันพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงในด้านการเดินทางในอวกาศกับผู้คนให้แพร่หลายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พวกเราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่า การทอดสายตามายังดาวเคราะห์โลกจากอวกาศที่ห่างไกลจะสามารถเปลี่ยนการรับรู้ของใครคนหนึ่งต่อโลกและจุดยืนของพวกเราไปอย่างสิ้นเชิง”

ที่มาของข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ Spaceperspective 



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง