เปิดภาพ! แพทย์อินเดียส่องกล้องดู "เชื้อราดำ" ในร่างกายผู้ป่วย
วันนี้( 1 มิ.ย.64) แพทย์อินเดียส่องกล้องเข้าไปบริเวณโพรงจมูกของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนที่จะติดเชื้อรา mucormycosis หรือที่รู้จักกันว่า "เชื้อราดำ" ในเวลาต่อมา
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โสต ศอ นาสิก ระบุว่า เชื้อราดำ จะทำให้เกิดจุดดำๆบริเวณจมูก ทำให้ดวงตาพร่า ปวดบริเวณหน้าอก หายใจลำบาก และไอเป็นเลือด
โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียพบผู้ป่วยติดเชื้อราดำมากกว่า 12,000 คนและเสียชีิิวิตแล้วอย่างน้อย 200 คน โดยเฉพาะทางตะวันตกของรัฐมหาราษฏระ และคุชราฏ
ดร.บรัดพัล ซิง ทยาฮี แพทย์ในโรงพยาบาล ENT ในกรุงนิวเดลี เปิดเผยว่า ได้รักษาผู้ป่วยเชื้อราดำแล้วมากกว่า 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนาอีกทั้งยังป่วยเบาหวานรุนแรง
สำหรับผู้ป่วยเชื้อราดำ มีความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับ "โรคเบาหวาน" ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง โดยผู้เชี่ยวชษญระบุว่า การใช้ยาเกินขนาดในระหว่างการรักษาโควิด-19 ไปกดภูมิคุ้มกัน นำมาสู่การติดเชื้อรามากขึ้น
ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขอินเดีย กำลังเจรจากับบรรดาบริษัทยา เพื่อให้ผลิตยาต้านเชื้อรา แอมโฟเทริซิน บี ออกมาให้มากขึ้น รวมถึง การนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ให้มากขึ้นด้วย
ขณะที่ปัจจุบัน การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอินเดีย ยังคงน้อยลงต่อเนื่อง โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 127,510 คน น้อยที่สุดนับตั้ง 8 เมษายน และพบผู้เสียชีวิต 2,705 คน
ทำให้ติดเชื้อสะสมกว่า 28.1 ล้านคน และเสียชีิวิตกว่า 331,000 คน
ไม่เพียงแต่ราดำ จากเชื้อรามิวคอไมโคซิสเท่านั้น ยังมีผู้ป่วย "เชื้อราขาว" ซึ่งเป็นประเภท ยีสต์ มีชื่อสายพันธุ์ว่า แคนดิดา ออริส (Candida auris) หรือเรียกสั้นๆว่า ซี.ออริส ได้รับการค้นพบเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน และเป็นหนึ่งใน เชื้อโรคในโรงพยาบาล (hospital disease) ที่แพทย์หวาดกลัวมากที่สุด เพราะติดเชื้อในกระแสเลือดและมีอัตราการเสียชีวิตราว 70% แต่ยังไม่มียืนยันตัวเลขผู้ป่วยเชื้อราขาวที่แน่ชัด
โดยปกติแล้ว อาการของการติดเชื้อรา จะคล้ายกับอาการของโควิด-19 นั่นคือ มีไข้ ไอและหายใจติดขัด แต่อาการของการติดเชื้อ "แคนดิดา ออริส" คือ เกิดคราบขาวในช่องปาก จมูก ปอด ท้อง เนื้อใต้เล็บ ทำให้บางครั้งคนจึงเรียกเชื้อนี้ว่า เชื้อราขาว
ในกรณีที่ติดเชื้อรายแรง คือ เชื้อเข้าไปในกระแสเลือด อาจก่อให้เกิดอาการความดันเลือดต่ำ เป็นไข้ ปวดในช่องท้อง และกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้และนำมาสู่การเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุเกิดได้จากหลายอย่าง อาทิ การใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นเวลานาน, ม่านห้องน้ำ, สุขอนามัยที่ไม่สะอาด เป็นต้น