รีเซต

เปิดแพ็กเกจมาตรการ‘รัฐ-เอกชน’ ออกแผนฟื้นเศรษฐกิจ-สู้‘โควิด’ระลอก 3

เปิดแพ็กเกจมาตรการ‘รัฐ-เอกชน’ ออกแผนฟื้นเศรษฐกิจ-สู้‘โควิด’ระลอก 3
ข่าวสด
6 มิถุนายน 2564 ( 00:04 )
55
เปิดแพ็กเกจมาตรการ‘รัฐ-เอกชน’ ออกแผนฟื้นเศรษฐกิจ-สู้‘โควิด’ระลอก 3

 

เปิดแพ็กเกจมาตรการ‘รัฐ-เอกชน’ : โควิด-19 ระลอก 3 ตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ยังไม่มีทีท่าจะสงบลงได้ง่าย ภายใต้ตัวแปรเดียวที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นคือการกระจายฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง

 

จนถึงขณะนี้แม้ว่าจะลงทะเบียนผู้ที่ต้องการฉีดวัคซีนไปแล้วร่วมล้านราย ต่อคิวทะลักยาวไปจนถึงเดือน ส.ค. ถึงจะฉีดได้ครบ

 

อย่างไรก็ตาม การจัดหาวัคซีนของรัฐบาล กลายเป็นเป้าโจมตีทำนองล่าช้าเกินไป ทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจกระทบในวงกว้าง สายป่านธุรกิจใกล้จมน้ำเต็มที

 

จึงเกิดปรากฏการณ์ ‘ยกองคาพยพมาตรการช่วยเหลือ’ กันอีกระลอก

 

ทั้งมาตรการด้านการคลัง-มาตรการด้านการเงินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อฟื้นสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 ใส่เครื่องช่วยหายใจให้ภาคธุรกิจและประชาชน หลังจากที่ปี 2563 ทุกฝ่ายทุ่มกันแทบหมดหน้าตักไปรอบหนึ่งแล้ว

 

เริ่มที่ภาครัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบออกมามากมายต่อเนื่องแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

 

การระบาดล่าสุดนี้เข็นชุดมาตรการออกมาช่วยเหลือในช่วง ก.ค.-ธ.ค.2564 อาทิ

 

เติมเงินให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.65 ล้านคน ใช้ซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า หรือ ร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง อีก 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน วงเงินรวม 16,380.19 ล้านบาท และสามารถสละสิทธิ์บัตรได้ เพื่อเลือกไปใช้โครงการอื่น ภายในวันที่ 7 มิ.ย.2564

 

เติมเงินให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นเป๋าตังได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง 2.5 ล้านคน จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 เดือน เป็นวงเงินรวม 3,000 ล้านบาท

 

โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โดยประชาชนที่เข้าร่วมโครงการไม่เกิน 31 ล้านคน จะได้รับสิทธิภาครัฐร่วมจ่าย 50% ใช้ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 1,500/3,000 บาทต่อคน นาน 6 เดือน เป็นวงเงินรวม 93,000 ล้านบาท เริ่มลงทะเบียน 14 มิ.ย.2564

 

และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศผ่านผู้มีกำลังซื้อไม่เกิน 4 ล้านคน จะได้รับวงเงินสนับสนุนในรูปของบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voucher) สะสมสูงสุดไม่เกิน 7,000 บาทต่อคน วงเงินสำหรับการดำเนินโครงการรวม 28,000 ล้านบาท เริ่มลงทะเบียน 21 มิ.ย.2564

 

4 มาตรการใหม่นี้จะมีผลต่อเนื่องจากมาตรการเราชนะ-ม33 เรารักกัน ที่รัฐบาลเห็นชอบเพิ่มวงเงินให้อีกคนละ 2,000 บาท โดยสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 มิ.ย.นี้

 

คาดว่าชุดมาตรการนี้จะกระตุ้นการบริโภคขยายตัวไม่น้อยกว่า 1%

 

ขณะที่มาตรการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่งใหญ่ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกมาตรการ ‘พักชำระหนี้’

 

แต่ในเฟสปี 2564 แตกต่างจากรอบแรกที่ไม่ได้พักหนี้แบบอัตโนมัติ ใครต้องการเข้าร่วมให้เข้ามาติดต่อที่ธนาคารตามช่องทางที่แต่ละธนาคารกำหนดไว้

 

ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ยังมีมาตรการเติมสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการสินเชื่อฉุกเฉินที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท รับผิดชอบธนาคารละ 10,000 ล้านบาท

 

ปล่อยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีสภาพคล่อง ให้กู้รายละ 10,000 บาท โดยจะครอบคลุมประมาณ 2 ล้านคน ยื่นกู้ได้จนถึง 31 ธ.ค.2564

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเกณฑ์ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ กระชับพื้นที่ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น

 

รวมถึงมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (Asset Warehousing) ซึ่งดำเนินการมาก่อนหน้านี้ โดย ธปท.อยู่ระหว่างเร่งกวดสถาบันการเงิน ให้เข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด

 

ล่าสุด ธปท.ประสานความร่วมมือที่เกี่ยวข้องจัดงานมหกรรมไกล่เกลี่ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.-วันที่ 31 ก.ค. 2564 เพื่อเป็นช่องทางที่จะช่วยลดภาระของลูกหนี้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ในการชำระหนี้ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์

 

ครอบคลุมลูกหนี้เช่าซื้อบุคคลธรรมดาทุกกลุ่ม ได้แก่

 

1.กลุ่มที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) หรือกลุ่มที่เป็นเอ็นพีแอลแต่รถยังไม่ถูกยึด


2.กลุ่มลูกหนี้ที่รถถูกยึดแล้วแต่ยังไม่ถูกขายทอดตลาด


และ 3.กลุ่มลูกหนี้ที่รถถูกขายทอดตลาดแล้วแต่ยังมีหนี้เช่าซื้อส่วนขาด


ประเด็นสำคัญคือลูกหนี้ที่เคยพักชำระค่างวดหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และไม่สามารถชำระหนี้ต่อไปได้ สามารถคืนรถยนต์เพื่อลดภาระหนี้

 

หากราคาขายรถทอดตลาดที่ได้รับต่ำกว่าภาระหนี้คงค้าง ลูกหนี้สามารถขอผ่อนปรนเพิ่มเติมได้ โดยผู้ให้บริการทางการเงินอาจพิจารณายกหนี้ส่วนที่เหลือให้ตามความเหมาะสม

 

ด้านธนาคารพาณิชย์ต่างรับลูกรัฐบาล ตุนกระสุนพยุงเศรษฐกิจ

 

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในรูปสินเชื่อฟื้นฟู ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 15,000 ล้านบาท ต้องเป็นลูกค้าที่ขอสินเชื่อเพื่อ 2 วัตถุประสงค์ คือ เสริมสภาพคล่อง เพื่อช่วยประคับประคองธุรกิจไว้ และรักษาการจ้างงาน และเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ

 

ชาติศิริ โสภณพนิช

 

ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำและวงเงินสูงขึ้น ระยะเวลากู้ยาวขึ้น วงเงินสูงขึ้น และเปิดกว้างขึ้นทั้งสำหรับรายใหม่ที่ไม่เคยกู้ และ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกัน

 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้ปล่อยกู้ซอฟต์โลนตามมาตรการรัฐไปแล้วให้กับผู้ประกอบการกว่า 5,000 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 8,000 ล้านบาท

 

ธนาคารยังเดินหน้าช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบซึ่งเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ได้เตรียมสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อลดรายจ่าย-เพิ่มยอดขาย-ขยายกิจการ

 

อาทิตย์ นันทวิทยา

 

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยได้เตรียมวงเงินสินเชื่อตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจของ ธปท.ไว้ที่ 15,000 ล้านบาท หวังว่าจะช่วยลูกค้าได้กว่า 10,000 ราย

 

รวมถึงโครงการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อลดภาระให้ธุรกิจเป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารจะไม่ขายหลักประกันให้บุคคลอื่น สามารถเช่าหลักประกันและสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท

 

ขัตติยา อินทรวิชัย

 

นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารแบ่งการดูแลลูกค้า ออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการยังคงเผชิญความยาก ธนาคารต้องการช่วยลูกค้าด้วยมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ รวมทั้งช่วยเหลือด้วยมาตรการเพิ่มเติมจากกรุงศรีเอง

 

สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ เช่น 2 พัก 3 ปรับ และช่วงที่ 2 เมื่อลูกค้าผ่านพ้นวิกฤตมาได้หรือได้รับผลกระทบน้อย กรุงศรีก็มีสินเชื่ออื่นๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจดำเนินได้อย่างราบรื่นมากขึ้น เช่น สินเชื่อ SME Quick Loan เป็นต้น

 

พรสนอง ตู้จินดา

 

ทั้งหมดนี้คือชุดมาตรการในภาพกว้าง ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ลงลึกให้กับผู้ได้รับผลกระทบแต่ละรายที่แตกต่างกัน โดยหวังว่าจะช่วยประคับประคองสถานการณ์เศรษฐกิจ จนกว่าวัคซีนจะทั่วถึงและสถานการณ์จะกลับมาปกติโดยเร็วที่สุด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง