รีเซต

รายงานพิเศษ : สํารวจเส้นทางเลือกผู้ว่าฯกทม.ปี65

รายงานพิเศษ : สํารวจเส้นทางเลือกผู้ว่าฯกทม.ปี65
ข่าวสด
8 มกราคม 2565 ( 00:03 )
89
รายงานพิเศษ : สํารวจเส้นทางเลือกผู้ว่าฯกทม.ปี65

กระแสเรียกร้องจากพรรคการเมืองต่อการ เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ดังขึ้นหลังการเลือกตั้งนายก และสมาชิก อบต.เสร็จสิ้นไปเมื่อช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา

การเลือกตั้งท้องถิ่นถูกแช่แข็งมาตั้งแต่ คสช. ยึดอำนาจ สืบต่อมาถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2562

กระทั่งมีกระแสกดดันอย่างหนัก รัฐบาลถึงยอมประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น เริ่มจากการ เลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 พร้อมกำหนดไทม์ไลน์การเลือกตั้งท้องถิ่นว่า หลังการเลือกตั้งอบจ. จะเป็นการเลือกตั้ง อบต. ต่อด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ไปพร้อมกับการเลือกตั้งเมืองพัทยา

แต่ให้หลังเลือกตั้ง อบต. 28 พ.ย. 2564 รัฐบาลก็ยังไม่มีความชัดเจน ว่ากันว่าที่รัฐบาลยังไม่ประกาศการเลือกตั้งให้ชัดเจน ส่วนหนึ่งเพราะต้องรอวัดความนิยม หากกำหนดการเลือกตั้งลงไปแต่กระแสรัฐบาลขาลงก็เสี่ยง และอาจกระทบถึงการเลือกตั้งสนามใหญ่ได้

ขณะเดียวกันพรรคพลังประชารัฐ แกนนำพรรครัฐบาลก็บ่ายเบี่ยงที่จะเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร จนเกิดเสียงครหา รัฐบาลไม่มีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นเพราะพรรคพลังประชารัฐยังไม่ลงตัวเรื่องผู้สมัครที่จะส่งชิงเก้าอี้

ท่ามกลางกระแสข่าวเล็ดลอดมาตลอดว่าพรรคได้ติดต่อทาบทามไว้หลายคน ก่อนหน้านี้มีข่าวจะผลักดัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นตัวแทนลงสมัคร แต่ให้หลังปรากฏเป็นข่าวได้พักเดียว พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็ประกาศถอนตัว เพราะไม่อยากผิดใจกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ที่ต้องการลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวซื้อเวลาเพื่อรอ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯปทุมธานี หรือผู้ว่าฯ หมูป่า ที่ติดเรื่องคุณสมบัติ เพราะจะลงสมัครผู้ว่าฯกทม. ได้ ต้องพักอาศัยอยู่ในกทม.ครบ 1 ปี กระทั่งผู้ว่าฯหมูป่า แถลงปฏิเสธชัดเจนว่าเป็นไปไม่ได้เพราะตัวเองขาดคุณสมบัติ และไม่ถนัดงานผู้ว่าฯกทม.เท่ากับการดูแลพี่น้องประชาชนในต่างจังหวัด พร้อมขอบคุณผู้ใหญ่ที่ติดต่อมา

ส่วนกระแสข่าวทาบทาม มาดามแป้ง นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และประธานสโมสรท่าเรือ เอฟ.ซี. เจ้าตัวก็ปฏิเสธว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจ ลงรับสมัครผู้ว่าฯกทม. ขอลุยงานบริษัท และงาน ฟุตบอลก่อน

ดังนั้นวันนี้ตัวเลือกของพรรคพลังประชารัฐคงเหลือเพียง พล.ต.อ.อัศวิน ถึงแม้เวลาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อจะแบ่งรับแบ่งสู้เรื่องลงสมัคร แต่วงใน รับรู้กันว่าได้ซุ่มฟอร์มทีม “รักษ์กรุงเทพฯ” เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้มาสักระยะแล้ว

ขณะที่แคนดิเดตหลักๆ ของศึกชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้ ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว รายแรกถือเป็นว่าที่ผู้สมัครที่น่ากลัว เพราะทำ พื้นที่มานานและเปิดตัวก่อนใคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม ในรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และยังได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีแคนดิเดตพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งปี 2562

ครั้งนี้ เจ้าตัวตั้งใจลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ขณะที่ พรรค เพื่อไทย ยืนยันไม่ส่งตัวแทนลงสมัครผู้ว่าฯกทม. แต่จะสนับสนุนผู้สมัครที่เป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตย

ลำดับถัดไปประมาทไม่ได้เช่นกัน คือ นาย สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ลงในนามประชาธิปัตย์ แม้จะเพลี่ยงพล้ำในการเลือกตั้งส.ส.กทม.ครั้งล่าสุด แต่ก็มีฐานเสียงของพรรคที่หนาแน่นในเขตเมือง

และต้องจับตาพรรคก้าวไกลที่จะเปิดตัว ผู้สมัครในวันที่ 23 ม.ค.นี้ นอกจากนี้ยังมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ลงสมัครอิสระ และ นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. อดีตแกนนำ กปปส. ที่เดินทางเข้าพบนายกฯ พร้อมกับ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ แสดงความจำนงชัดเจนที่จะลงสมัคร

เมื่อวันนี้มีผู้สนใจลงสมัคร หลายรายประกาศตัวแล้ว บางรายเปิดตัวอย่างเป็นทางการและเริ่มลง พื้นที่หาเสียงกันแล้ว แต่ปัญหาคือรัฐบาลจะมีความชัดเจนเมื่อไหร่

ย้อนกลับไปจะพบว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ห่างหายไปนาน 5 ปีกว่า โดยมีการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2556 คนกรุง 2,715,640 คน คิดเป็นร้อยละ 63.98 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,244,465 คน เทคะแนน 1,256,349 เสียง ให้ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. สมัยที่ 2

แต่ยังไม่ทันที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะอยู่จนครบวาระในสมัยที่ 2 ต้องพบกับข้อครหาทุจริตโครงการติดตั้งอุโมงค์ไฟ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ขณะนั้น ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 50/2559 พักงาน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 59

ก่อนที่ต่อมา วันที่ 18 ต.ค.59 ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้พ้นจากตำแหน่ง และวันเดียวกัน มีคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ขณะนั้นเป็นรองผู้ว่าฯกทม. ขยับขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. โดยกำหนดให้ดำรงตำแหน่งจนกว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือ คสช.มีคําสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นประการอื่น

ระหว่างนั้นในปี 2562 มีการเลือกตั้งส.ส.ทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ต่อมาปี 2563 มีการเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2563 และล่าสุด เป็นการเลือกตั้งนายกและสมาชิก อบต. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2564

ตามแผนที่รัฐบาลประกาศ คิวต่อไปคือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และนายกและสมาชิกสภาเมืองพัทยา เมื่อรัฐบาลทำเงียบจึงมีเสียงทวงถามจากพรรค ฝ่ายค้าน และซีกรัฐบาลด้วยกันเอง

กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมายืนยัน เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะเกิดขึ้นแน่ไม่เกินกลางปี 2565 ทั้งที่ตามไทม์ไลน์เดิม ควรมีการเลือกตั้งในเดือนมี.ค.

ขณะที่ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ไว้ว่า การจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แต่ละประเภท ต้องเป็นไปตามพ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 142 ซึ่งกำหนดให้ครม. เป็นผู้มีอำนาจพิจารณากำหนด

เมื่อครม.มีมติให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทใดแล้ว จะแจ้งมาให้ กกต.ทราบ และ กกต. จะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งต่อไป จึงขึ้นอยู่กับครม. จะพิจารณา ในส่วนการจัดการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ตามมาตรา 5 พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร เป็น ผู้จัดการเลือกตั้ง โดย กกต.เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแล

ด้าน นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. รักษาราชการเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กกต.มีความพร้อมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. อยู่แล้ว แต่ กกต.ต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทยก่อนในการกำหนดวันเลือกตั้ง เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจึงจะเสนอไปยังครม. ขอความเห็นชอบ

เมื่อครม.เห็นชอบแล้ว กกต.จะประกาศให้มีการจัดการการเลือกตั้ง พร้อมแจ้งกรุงเทพ มหานคร เพื่อให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีปลัดกทม. เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งโดยตำแหน่ง เสนอวันเลือกตั้ง เพื่อขอความเห็นชอบต่อนายสำราญ ตันพานิช ผอ.กกต.กทม. จากนั้นจึงจะออกประกาศและเตรียมร่างประกาศการเลือกตั้ง แต่ปัจจุบันกกต. ยังไม่ได้มีการหารือกับมหาดไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง