รีเซต

เศรษฐกิจฟื้น! ถึงเวลารีดภาษี คลังลุยไฟประเดิม'ที่ดิน-หุ้น-คริปโต'

เศรษฐกิจฟื้น! ถึงเวลารีดภาษี คลังลุยไฟประเดิม'ที่ดิน-หุ้น-คริปโต'
ข่าวสด
29 มกราคม 2565 ( 19:55 )
66
เศรษฐกิจฟื้น! ถึงเวลารีดภาษี คลังลุยไฟประเดิม'ที่ดิน-หุ้น-คริปโต'

รายงานพิเศษ การส่งสัญญาณชัดเจนของ 'นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ' รมว.คลัง ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2565 ที่เข้าสู่ช่วง 'เทกออฟ' อีกครั้ง หลังจากจอดนิ่งสนิทร่วม 3 ปี เซ่นพิษ 'โควิด-19' ที่เรียกว่า โดนกันถ้วนหน้า อีกนัยหนึ่ง ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น การผ่อนปรน ยืนหยุ่น นโยบายต่างๆ ที่เข้าไปช่วยรับภาระให้กับประชาชนก็จะลดลงด้วย จะเห็นได้จาก มาตรการคนละครึ่ง ที่เดิมเคยแจก 3 เดือน 1,500 บาท กลับมาที่เฟส 4 ก็ลดลงมาเหลือ 1,200 บาท มาตรการเยียวยาต่างๆ หากในปีนี้ไม่มีการระบาดหนักอีก ก็ดูจะพลอยลดน้อยถอยลง การถอยร่นของมาตรการช่วยเหลือประชาชน จึงเป็นการ 'คลายมือ' ที่กำลังบีบคอภาคการคลัง ให้ได้หายใจหายคอกันอีกครั้ง ในฟากหนึ่งก็ถึงเวลาที่จะต้องฟื้นฟูบาดแผล ที่ภาครัฐกรีดเลือดเฉือนเนื้อ จากมาตรการดูแลประชาชน ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงินรับมือโควิด 2 ฉบับ กว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมาบรรดานักลงทุน เศรษฐีที่ดิน คงต้องร้อนๆ หนาวๆ กับท่าทีขึงขังเอาจริง ของ รมว.คลัง ที่เตรียมเดินหน้ารีดภาษีอย่างน้อย 3 ตัวภายในปีนี้ ได้แก่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หรือ ภาษีคริปโตเคอเรนซี่ และภาษีจากการซื้อขายหุ้น ในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ล่าสุด นายอาคมยืนยันว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในปี 2564 ที่ผ่านมา และจะต้องเสียภาษีในปี 2565 นี้ ได้หารือกับกระทรวงมหาดไทยแล้ว จะไม่มีการลดหย่อน 90% หรือ เสียแค่ 10% ของภาระภาษีที่ต้องเสีย เหมือน 2 ปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากโควิด 'ขณะนี้สถานการณ์ทั้งการระบาดโควิดและเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นแล้ว จึงให้มีการเก็บภาษีที่ดินเต็มจำนวน เพื่อที่จะไม่กระทบกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา มีการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก และไม่ได้รับการชดเชยจากสำนักงบประมาณด้วย' ขณะที่การเก็บภาษีซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล รมว.คลัง ได้ย้ำชัดเจน ว่า กรมสรรพากรได้ดำเนินการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาธุรกรรมยังไม่มากจึงไม่มีปัญหาการเก็บ แต่ปี 2564 ที่ผ่านมาการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงมีผู้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้น กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการสรุปแนวทางการยื่นแบบให้กับผู้เสียภาษีเกิดความสะดวกและถูกต้อง โดยยังมีการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลปกติ ไม่มีการยกเว้นไปตามที่มีการร้องขอแต่อย่างไร 'การเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ สกุลเงินดิจิทัล กรมสรรพากรเก็บมาตั้งแต่ปี 2561 และก็ยังมีการเก็บปกติไม่มีการยกเว้น เพียงแต่หารือแนวทางให้การยื่นแบบง่ายขึ้น' โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ นำทีมกลุ่มนักธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทก) ตบเท้าเข้าพบนายอาคม เพื่อย้ำท่าที ข้อเสนอ ต่อภาครัฐถึงแนวปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ ซึ่งระบุว่า การเก็บภาษีคริปโตฯ อาจจะไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม การที่กรมสรรพากรเร่งกระบวนการทำงานเพื่อหาข้อสรุปในระยะเวลาอันสั้นอาจได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะผลกระทบต่อนักลงทุนรายย่อยที่จะเกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ อาจนำไปสู่ตัดสินใจย้ายไปเทรดในตลาดต่างประเทศแทน จึงเสนอให้กระทรวงการคลัง ยกเว้นหรือเลื่อนการจัดเก็บภาษีคริปโตฯ ออกไปไม่เกิน 5 ปี หรือ เปิดให้สามารถนำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ เพื่อเป็นโอกาสให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโต แต่ท่าทีของกระทรวงการคลังต่อข้อเสนอยังคงปักธงที่จะจัดเก็บแน่นอน โดย นายอาคมกล่าวว่า การจัดเก็บภาษีคริปโตฯ จะดำเนินการใน 2 ส่วนคือ เก็บจากศูนย์การซื้อขาย และการระดมทุนผ่านไอซีโอ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ กรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ธปท. ก.ล.ต. ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย สมาคมการค้าดิจิทัลไทย เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดแนวทางการคำนวณภาษีให้สอดคล้องกับกฎหมายเป็นธรรมแล้ว ส่วนแนวทางการส่งเสริม ซึ่งแนวนโยบายภาษีมี 2 แนวคือการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมใดๆ ผ่านการลดหย่อน ยกเว้น แต่จะมีระยะเวลาจำกัด กับแนวทางไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ขีดเส้นได้ข้อสรุปสิ้นเดือน ม.ค.นี้ คงต้องติดตามกันต่อไป สำหรับการเก็บภาษีหุ้น นายอาคมระบุว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเกือบทุกประเทศในโลกมีการเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นทั้งนั้น เพียงแต่จะเก็บรูปแบบไหนเท่านั้น โดยมีการเก็บแบบภาษีธุรกิจเฉพาะเวลามีการซื้อขายเกิดขึ้น เก็บเป็นภาษีอากรแสตมป์ หรือการเก็บจากส่วนที่เป็นกำไรจากการซื้อขายหุ้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยก็จะดูรูปแบบที่ทำให้การเก็บภาษีหุ้นง่ายที่สุด ก่อนหน้านี้ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ที่ผ่านมามีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีหุ้นมา 30 ปี ตอนนี้ต้องนำมาพิจารณาแนวทางการจัดเก็บให้มีความเหมาะสมที่สุด โดยแนวปฏิบัติสากล การเก็บภาษีหุ้นมี 2 รูปแบบ คือ การเก็บจากส่วนต่างของกำไร (แคปปิตอล เกนท์) ก็มีข้อดี แต่การดำเนินการยุ่งยาก เป็นภาระกับผู้เสียภาษีมากกว่า หากกรมสรรพากรดำเนินการรูปแบบนี้ก็ต้องไปออกระเบียบและแก้กฎหมายใหม่ และการเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้น ซึ่งกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จัดเก็บวิธีการนี้ ล่าสุดมาเลเซีย เริ่มต้นวันแรกของตลาดหุ้นปี 2565 ก็ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นเป็น 0.15% จาก 0.1% มีเพียงไทยและสิงคโปร์เท่านั้นที่ยังไม่มีการจัดเก็บภาษีหุ้น แต่สิงคโปร์มีการเก็บภาษีอากรแสตมป์จากการซื้อขายหุ้น 'แนวทางการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายหุ้นน่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุด โดยในต่างประเทศจัดเก็บทั้ง 2 ขา ทั้งขาขายและขาซื้อ แต่ในส่วนของไทยที่ศึกษากันจะเก็บจากการขายหุ้นฝั่งเดียวเท่านั้น ซึ่งภาระไม่ได้เยอะ โดยมีอัตราจัดเก็บที่ 0.1% เท่ากับหากมีการขายหุ้นมูลค่า 1 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีเพียง 1 พันบาท' ข้อสรุปการจัดเก็บภาษีหุ้น กรมสรรพากร จะมีการเสนอแนวทางการศึกษาทั้งหมดให้นายอาคมพิจารณาในเร็วๆ นี้ และแม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ตลาดหุ้นไทยก็มีดัชนีเพิ่มขึ้น และมูลค่าการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากมีการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในปีนี้ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก ท้ายสุด ในสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นเป็นรายวันขณะนี้ มีการร้องขอให้กระทรวงการคลังปรับลดภาษีน้ำมันเพื่อช่วยลดภาระประชาชน ท่าทีเรื่องนี้ของนายอาคมยังคงจะมีแต่ 'เซย์โน' 'คลังยังไม่มีนโยบายลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพราะการตรึงราคากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้ดูแลรักษาเสถียรภาพ ส่วนมาตรการภาษีเป็นทางสุดท้าย ต้องดูราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในจุดที่กองทุนไม่สามารถรับได้ มาตรการภาษีจึงจะเริ่มใช้ เช่นที่ผ่านมาช่วงที่ลดภาษีน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 100 เหรียญ' ภาพคลังเดินหน้าจัดเก็บภาษีจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าภาษีหุ้น ภาษีคริปโตฯ หรือ แม้แต่ภาษีที่ดิน จะยังคงเป็นเรื่องไกลตัวในระดับชาวบ้านชาวช่อง แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้น คนเริ่มมีรายได้ ก็ถึงเวลาที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อม 'ร่วมรับผิดชอบ' ภาระการคลังที่สาหัสอันเป็นผลพวงจากโควิดนี้ไปด้วยกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง