รีเซต

บทบรรณาธิการ : ปัญหาหมูที่ไม่หมู

บทบรรณาธิการ : ปัญหาหมูที่ไม่หมู
ข่าวสด
8 มกราคม 2565 ( 00:05 )
44
บทบรรณาธิการ : ปัญหาหมูที่ไม่หมู

ปัญหาหมูแพงกำลังเป็นวิกฤตตีคู่ไปกับปัญหาโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน ที่เข้าสู่การระบาดระลอก 5 เป็นที่เรียบร้อย

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ซึ่งมี รมว.พาณิชย์ เป็นประธานได้นำปัญหาหมูแพงเข้าสู่การพิจารณา หารือร่วมกับกรมปศุสัตว์

ก่อนมีมาตรการสั่งห้ามส่งออกหมูมีชีวิต ชั่วคราว เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม ถึงวันที่ 5 เมษายน จากนั้นจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่าสมควรต่อเวลาอีกหรือไม่ จากมาตรการดังกล่าวคาดว่า

จะช่วยให้มีหมูเป็นกลับเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมประมาณ 1 ล้านตัว

กรมปศุสัตว์หน่วยงานดูแลการผลิตหมูเข้าสู่ตลาด เผยตัวเลขปี 2564 มีการเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด 19 ล้านตัว ในจำนวนนี้แบ่งเป็นป้อนตลาดบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกต่างประเทศ 1 ล้านตัว

แต่จากปัญหาโรคอหิวาต์แอฟริการะบาด ในหมูตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทำให้หมูพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และหมูขุนล้มตายจำนวนมาก บวกกับ ราคาอาหารสัตว์พุ่งสูง เกษตรกรเลิกเลี้ยงไปจำนวนมาก

ส่งผลให้คาดการณ์ว่าในปี 2565 หมูจะหายไปจากระบบ เหลือประมาณ 13 ล้านตัวจาก 19 ล้านตัว จากตัวเลขข้างต้น ไทยบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว หมายความว่าปีนี้เราจะขาดหมู 5 ล้านตัวสำหรับบริโภคในประเทศ

ตรงนี้จึงเป็นที่มาของวิกฤตหมูแพง

การห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ที่จะช่วยให้มีหมูเพิ่มสำหรับบริโภคในประเทศ 1 ล้านตัว เมื่อหักลบจากที่หายไปจากระบบ 5 ล้านตัว

เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า รัฐบาลยังจำเป็นต้องเร่งหามาตรการอื่นเพิ่มเติมทั้งระยะสั้นและยาว อาทิ การนำเข้าจากต่างประเทศ การชดเชยลูกหมูให้เกษตรกร การปล่อยสินเชื่อ การลดต้นทุนอาหารสัตว์ ฯลฯ เป็นต้น

ซึ่งต้องคิดและลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้ เพราะอีก 4-6 เดือนกว่าราคาหมูจะกลับสู่ภาวะปกติ รัฐบาลต้องหาทางสกัดไม่ให้ปัญหาลุกลามไปยังสินค้าอาหารสดตัวอื่นที่ทดแทนกันทั้งเป็ด ไก่ ไข่ รวมถึงผักสด ไม่เช่นนั้นวิกฤตอาจกระทบเป็นลูกโซ่ตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านข้าวแกง หมูกระทะ หมูย่าง หมูปิ้ง ฯลฯ ซ้ำเติมประชาชนที่อ่วมกับโควิดระบาดไม่รู้จบอยู่แล้ว

ให้เดือดร้อนทุกข์ยากมากขึ้นหลายเท่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง