"บทเรียนเลือกตั้งอบจ." ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ต่ำกว่าเป้ากกต.ตั้งไว้
คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
บทเรียนเลือกตั้งอบจ. - ภาพรวมการเลือกตั้งนายก และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 29,016,536 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 46,610,759 คน คิดเป็นร้อยละ 62.25
ต่ำกว่าเป้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตั้งไว้ ว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 80 แต่ก็ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ระหว่างช่วงวันหยุดยาว และช่วงเทศกาลปีใหม่ จึงส่งผลต่อการตัดสินใจออกมาใช้สิทธิ อีกทั้งกำลังใกล้ช่วงปีใหม่ด้วย
ส่วนเรื่องร้องเรียนนั้น พบว่าขณะนี้มีจำนวน 156 เรื่อง แบ่งเป็นคำร้อง 149 ความปรากฏ 7 เรื่อง และกกต.รับไต่สวนแล้ว 68 สำนวน
มีทั้งซื้อเสียง ให้ทรัพย์สิน หาเสียงหลอกลวง ข่มขู่ รวมถึงการร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งด้วย
การเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ล้มประชาธิปไตยระดับชาติและแช่แข็งระดับท้องถิ่น
เป็นที่น่าสังเกตว่ามีข้อจำกัดที่บางเรื่องทำได้ บางเรื่องทำไม่ได้ ส่งผลให้บรรยากาศไม่คึกคัก เท่าที่ควร แต่ชาวบ้านมีความตื่นตัวไม่น้อย ทั้งมีคนรุ่นใหม่เสนอตัวรับสมัครจำนวนมาก
ส่วนผู้ได้รับเลือกตั้ง มีทั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีทั้งอิสระ กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองที่มีพรรคการเมืองแอบสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
แต่น่าเสียดายกลุ่มที่ทำการเมืองแบบใหม่ไม่ได้รับเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่เมื่อดูจากผลคะแนนทั่วประเทศ ได้รับการสนับสนุนเกือบ 3 ล้านเสียง ถือว่า ไม่ธรรมดา
สําหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปซึ่งคาดว่าจะอยู่ช่วงต้นปี คือการเลือกตั้งระดับองค์การบริหารส่วนตำบล สุขาภิบาล เทศบาล เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร
แต่ละองค์กรปกครองท้องถิ่นมีความสำคัญต่อประชาชน และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องถอด บทเรียนปัญหา ตลอดจนอุปสรรคต่างๆ ที่พบใน ครั้งนี้ เพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นให้ได้
ส่วนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งครั้งนี้ในแต่ละจังหวัด ก็จะต้องจัดทีมบริหารเพื่อทำตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของในแต่ละจังหวัดต่อไป ซึ่งมีเวลาพิสูจน์ฝีมือ 4 ปีเต็ม
เชื่อมั่นว่าผู้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมเห็นความสำคัญชาวบ้านอยู่แล้ว ดังนั้นการเมืองท้องถิ่นจากนี้ไปจึงต้องตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ให้ได้