"ปมหันตภัยฝุ่นพิษ" ฝุ่นพีเอ็ม 2.5ปกคลุมกทม. กระทบต่อสุขภาพประชาชน
มหันตภัยฝุ่นพิษ - ฝุ่นละอองขนาดเล็ก กลับมาปกคลุมท้องฟ้ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เป็นมลพิษด้าน สิ่งแวดล้อมอีกครั้ง
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ กรมควบคุมมลพิษ รายงานผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือพีเอ็ม 2.5 วัดค่าได้ 37-118 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
จากค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม. พบว่าคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ มีปริมาณฝุ่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือพื้นที่สีแดง 6 พื้นที่
นอกจากนี้ ยังพบปริมาณฝุ่นละออง เริ่ม มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือพื้นที่สีส้มอีก 63 พื้นที่
มลพิษทางอากาศ เป็นอันตรายคุกคามสุขภาพอย่างมาก องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามีผู้ต้องเสียชีวิตเนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านคนในแต่ละปี
ในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบประมาณ 600,000 คน เมื่อคุณภาพอากาศ เลวลง อัตราการไปห้องฉุกเฉินและการเข้าอยู่ โรงพยาบาลจะสูงขึ้น เพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบขึ้น เป็นเหตุให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืด และอื่นๆ
ในทางการแพทย์พบว่า ฝุ่นพิษขนาดเล็กมีอันตรายคุกคามต่อหัวใจ ต่อปอดและทางเดินหายใจ รวมถึงอันตรายคุกคามต่อสมองด้วย
กลุ่มที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงอันตราย ได้แก่ เด็ก ยิ่งอายุน้อยเท่าใด ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น หญิงมีครรภ์ ผู้สูงวัย และผู้ที่เป็น โรคปอดหรือโรคหัวใจ
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ.2563 และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 3 มาตรการ
แต่ยังน่าสงสัยว่าแผนงานที่วางไว้จะบรรลุ เป้าหมายจริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลก็แก้ปัญหาแบบวันต่อวัน กำลังคนและเครื่องมืออุปกรณ์มีความพร้อมขนาดไหน
ช่วงหน้าหนาวอากาศแห้งและเมื่อถึงหน้าแล้งปัญหาไฟป่าจะปะทุขึ้นมา นั่นหมายความว่าปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กและหมอกควันจะกลับมาอีกครั้งในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคเหนือ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมการรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะปัญหานี้มิใช่เพิ่งเกิด แต่เป็นอันตรายที่ส่งผลต่อสุขภาพทุกปี