รายงานพิเศษ : เปิดมาตรการรัฐสู้‘น้ำมันแพง’ เอกชนกังวลกระทบเศรษฐกิจ
รายงานพิเศษ
เปิดมาตรการรัฐสู้‘น้ำมันแพง’ เอกชนกังวลกระทบเศรษฐกิจ
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มผ่อนคลาย เห็นได้จากรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันจากทั่วโลกขององค์การอนามัยโลก (ดับบลิวเอชโอ) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 อยู่ที่ 257,172 ราย ลดลงกว่า 60% จาก 655,298 รายในเดือนก่อนหน้า
จำนวนผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเพิ่มขึ้นสู่ระดับมากกว่า 40%
จึงสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
แต่สิ่งที่ตามมาคือความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น หลังผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางในหลายประเทศ
สัญญาณชัดเจนและแรงขึ้น เมื่อราคาน้ำมันดิบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาน้ำมันดิบตลาดเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 78.93 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2564
ส่วนราคาน้ำมันดิบตลาดเบรนต์อยู่ที่ 82.56 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 ปี ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 80.70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ณ วันที่ 6 ต.ค.2564
กอปรกับประเทศสมาชิกผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) บางส่วนยังคงประสบปัญหาการผลิตไม่เพียงพอ เนื่องจากปิดซ่อมบำรุงและการลงทุนที่จำกัดจากผลกระทบของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันกำลังการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐยังตึงตัว เนื่องจากสหรัฐประสบเหตุพายุเฮอริเคนพัดถล่ม
สะท้อนราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเพิ่มขึ้นเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ทั่วโลกและไทยประสบปัญหาโควิด-19 เป็นปีแรก ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวเฉลี่ยที่ระดับ 40 กว่าเหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
เทียบกับปี 2562 ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตโควิด-19 ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 40-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เดือนก.ย.เพียงเดือนเดียวราคาน้ำมันในประเทศปรับขึ้นต่อเนื่องถึง 6 ครั้ง
ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว หรือบี 10 ที่เป็นน้ำมันพื้นฐาน ณ วันที่ 30 ก.ย.2564 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 3.20 บาท/ลิตร นับจากวันที่ 26 พ.ค.2564 อยู่ที่ 25.09 บาท/ลิตร
ราคาน้ำมันดีเซล บี 7 มาอยู่ที่ 31.29 บาท/ลิตร จาก 28.09 บาท/ลิตร ราคาน้ำมันดีเซล บี 20 มาอยู่ที่ 28.04 บาท/ลิตร จาก 24.84 บาท/ลิตร
ส่วนราคาน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ก็เพิ่มขึ้น 3.20 บาท/ลิตร โดยแก๊สโซฮอล์ 95 มาอยู่ที่ 31.15 บาท/ลิตร จาก 27.95 บาท/ลิตร
แก๊สโซฮอล์ 91 มาอยู่ที่ 30.88 บาท/ลิตร จาก 27.68 บาท/ลิตร
อี 20 มาอยู่ที่ 29.64 บาท/ลิตร จาก 26.44 บาท/ลิตร
นำไปสู่การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564 ที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธาน
แถลงมติเห็นชอบออกมาตรการระยะสั้นปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วลงเหลือ 6% หรือบี 6 เป็นน้ำมันดีเซลที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันในราคา 28.29 บาท/ลิตร เป็นการชั่วคราว แทนบี 10 และ บี 7 ที่ผสมไบโอดีเซลอยู่ในสัดส่วน 10% และ 7% ตั้งแต่วันที่ 11 ต.ค.-31 ต.ค.2564 คู่กับน้ำมันดีเซลบี 20 ที่ยังคงจำหน่ายตามเดิม
นอกจากนี้ยังเห็นชอบลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในส่วนของบี 7 ลงเหลือ 1 สตางค์/ลิตร จากเดิมเรียกเก็บอยู่ที่ 1 บาท/ลิตร เพื่อให้ราคาบี 7 ลดเหลือต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร จากปัจจุบันปรับขึ้นไปอยู่ที่ 31.29 บาท/ลิตร
พร้อมให้ปรับลดค่าการตลาดบี 10 และบี 7 เหลือ 1.40 บาท/ลิตร จากเดิมเฉลี่ย 1.80 บาท/ลิตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 ต.ค.-31 ต.ค.2564
เพื่อดูแลราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศโดยเฉพาะราคาบี 10 ซึ่งเป็นน้ำมันพื้นฐาน ไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นเกินเพดานที่กำหนดไว้ 30 บาท/ลิตร
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยังขยับขึ้นอีก เตรียมใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาดูแลให้ราคาบี 10 คงอยู่ที่ประมาณ 28 บาท/ลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนต.ค.นี้ ด้วยสถานะการเงินของกองทุนในส่วนของบัญชีน้ำมันที่มีเงินอยู่ประมาณ 11,000 ล้านบาท
“หากมีความจำเป็นต้องหาเงินมาดูแลเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินกองทุน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังเปิดช่องให้กองทุนสามารถกู้สถาบันการเงินโดยมีกระทรวงการคลังค้ำประกันมาดำเนินการได้ หรือสามารถขอใช้วงเงินช่วยเหลือพ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อช่วยเหลือตามมาตรการโควิด-19 เข้ามาบรรเทาความช่วยเหลือของประชาชนแทน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) กล่าวว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ เนื่องจากไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบปริมาณสูงกว่า 80% ปตท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบตลาดโลกอย่างใกล้ชิด
ด้านภาคเอกชนและผู้ประกอบการ โดย นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงขึ้นถึงระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ทั้งต้นทุนการผลิตและการขนส่งสินค้า
ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณสูงในการอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ที่จะส่งผ่านไปยังราคาสินค้าในที่สุด
ปัญหาที่ภาคเอกชนเป็นห่วง คือค่าสาธารณูปโภคที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับอุดหนุนส่วนนี้เพิ่มเติมทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมาก
“แม้เศรษฐกิจไทยจะมีปัจจัยบวกจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดี แต่ผลพวงของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเท่าตัวจากระดับ 30-40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มาแตะที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สะท้อนว่ามูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นยังไม่เท่ากับมูลค่าการนำเข้าน้ำมันราคาสูง ทำให้รัฐบาลมีรายได้ลดลง เพราะต้องใช้เงินเข้ามาอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศมากขึ้น”
ทั้งนี้ หากภาครัฐไม่มีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือจุดนี้เลย ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะรุนแรงมากกว่านี้ เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ค่าน้ำ ค่าไฟ ราคาสินค้าจะแพงขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของประชาชน ซึ่งส่งผลกระทบค่อนข้างมากในวงกว้างแน่นอน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่าผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยนั้นกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานเช่น น้ำมันสำเร็จรูป โพลีเอสเตอร์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางล้อ
จึงเห็นด้วยกับการที่กระทรวงพลังงาน ใช้กลไกกองทุนน้ำมันรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชนผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ โดยต้องดำเนินการต่อเนื่องไปถึงสิ้นปี หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
เพราะหากปล่อยให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ประชาชนไม่อยากเดินทาง ภาคบริการปิดให้บริการ ภาคการผลิตมีต้นทุนสูงขึ้น ราคาสินค้าในประเทศก็อาจปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้ว
เพราะทั้งการผลิต และต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศและทำให้ประเทศเสียโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไปอย่างน่าเสียดาย
ปิดท้ายที่นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รมว.พาณิชย์กำชับให้เข้าไปติดตามดูแลว่า ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนทำให้ต้นทุนของหมวดสินค้าต่างๆ เพียงเล็กน้อยคือแค่ 0.0007%-0.3733% หรือไม่ถึง 1% ถือว่าน้อยมากๆ และไม่ได้กระทบต่อต้นทุนของราคาสินค้า
ขณะนี้ก็ยังไม่มีผู้ผลิตสินค้ารายใดขอปรับขึ้นราคา และกรมไม่อนุญาตให้ปรับขึ้นราคา ทั้งนี้หากพบผู้ค้าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29
มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ