รีเซต

ปตท.พาเยือน วังจันทร์วัลเลย์ อภิมหาโครงการเมืองอัจฉริยะ

ปตท.พาเยือน วังจันทร์วัลเลย์ อภิมหาโครงการเมืองอัจฉริยะ
ข่าวสด
15 พฤศจิกายน 2563 ( 00:01 )
359
ปตท.พาเยือน วังจันทร์วัลเลย์ อภิมหาโครงการเมืองอัจฉริยะ

ปตท.พาเยือน วังจันทร์วัลเลย์ - จากโครงการปลูกป่าในพื้นที่เกษตรให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านป่าไม้และระบบนิเวศ สู่การ ปลูกคน ในเมืองอัจฉริยะ วังจันทร์ วัลเลย์

 

ฐานที่ตั้ง EECi

 

 

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำคณะสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ต.ป่ายุบ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ห่างจากกรุงเทพมหานคร 160 กิโลเมตร ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง 170 กิโลเมตร

 

ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ 130 กิโลเมตร ห่างจากท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา 90 กิโลเมตร และอยู่ใกล้ทางหลวงพิเศษสายใหม่ในอนาคต

 

เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ เป็นฐานสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีไอ (EECi) อยู่ในแผนการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม รวมทั้งยกระดับขีดความสามารถการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมให้แก่ทุกภาคส่วนของประเทศ

 

ห้องปฏิบัติการ

 

เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ.2561-2580 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) เสริมสร้างให้ประเทศไทยสามารถสร้างห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ในทุกภาคส่วน กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิต

 

นายอรรถพล ฤกษ์วิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ขณะนี้โครงการมีความคืบหน้าในการก่อสร้างประมาณ 95% แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2564 เพื่อรองรับการเปิดให้บริการแก่พันธมิตรและผู้สนใจในช่วงไตรมาส 3/2564

 

นายอรรถพล ฤกษ์วิบูลย์

 

การพัฒนาพื้นที่ดำเนินการในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform รองรับงานวิจัยและนวัตกรรมแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ พื้นที่เพื่อการศึกษา : สร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยในพื้นที่ ซึ่งมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์

 

พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม : เป็นศูนย์วิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (Smart Innovation Platform) เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร

 

พื้นที่อำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ : จะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยและสันทนาการ รองรับความเป็นอยู่ของนักวิจัยและครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ทำงานในพื้นที่วังจันทร์ วัลเลย์ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ โรงแรมและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและนันทนาการ โดยพื้นที่นี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

ด้าน นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร ปตท. ระบุว่าปัจจุบันวังจันทร์วัลเลย์ ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศ

 

นางอรวดี โพธิสาโร

 

และเป็นพื้นที่ได้รับการส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจและสังคม

 

นับเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งในการ ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจากการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อไป ด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ และแผนพัฒนาระบบอัจฉริยะครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะประเทศไทย (Smart City Thailand) ประกอบด้วย

 

การพัฒนาเมืองในมิติของสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) เน้นการบริการจัดการสภาวะแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ถูกสุขลักษณะ มุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยกำหนดพื้นที่สีเขียวและพื้นที่เปิดรวม 60% ของพื้นที่ทั้งหมด ระบบจัดการขยะ และระบบตรวจสอบคุณภาพอากาศและคุณภาพน้ำทิ้ง

 

การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน (Smart Energy) ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยติดตั้งโซลาร์ ฟาร์ม และโซลาร์รูฟท็อป มีการบริหารจัดการพลังงานด้วยโครงข่ายสมาร์ต กริด ที่เชื่อมต่อกับอาคารประหยัดพลังงานภายในพื้นที่โครงการ เพื่อลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงจัดให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในพื้นที่ รองรับการใช้รถยนต์อีวีภายในพื้นที่

 

ศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ

 

นอกจากนั้น ปตท.เริ่มศึกษาแนวทางลงทุนอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในรถอีวี รวมถึงให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี ศึกษาระบบเก็บสำรองพลังงานและแนวโน้มตลาด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน ทำให้ ปตท.ยังสนใจที่จะเข้าร่วมผลิตรถอีวีด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้

 

การใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ (Smart Economy) เน้นเพิ่มประสิทธิภาพ ความเชื่อมโยง โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ทรู เอไอเอส และดีแทค พัฒนาเครือข่าย 5G และ Wifi-6 ครอบคลุมทั้งพื้นที่ เพื่อความสะดวกสบายและส่งเสริมการดำเนินการทดลองและทดสอบนวัตกรรม อาทิ อากาศยานไร้คนขับ

 

การกำกับดูแลการให้บริการภาครัฐให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลเพื่อความโปร่งใสและมีส่วนรวม (Smart Governance) มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนต่างๆ ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว รวมทั้งมีการให้บริการโมบาย แอพพลิเคชั่น

 

ระบบจราจรและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จัดให้มีที่จอดรถยนต์อัจฉริยะ และให้บริการรถประจำทางไฟฟ้าเชื่อมต่อกับทางเดินและทางจักรยาน

 

การพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะและสิ่งแวดล้อม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม (Smart People) ภายในโครงการมีสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ เช่น สถาบันวิทยสิริเมธี โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนนานาชาติ มีการพัฒนาระบบห้องสมุดและการเรียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และศูนย์ฝึกอบรม

 

อาคารสำนักวิชาวิทยาศาสตร์

 

การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Smart Living) เน้นความปลอดภัยและบริการที่เพียบพร้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้มีสุขภาพที่ดี มีระบบการให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ

 

ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างเจรจาซื้อกิจการโรงงานผลิตยาในประเทศแถบเอเชีย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2564 รวมทั้งเตรียมเดินหน้าลงทุนในธุรกิจใหม่ (นิว เอ็นเนอจี) จากปัจจุบันที่ร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตยารักษามะเร็ง กับองค์การเภสัชกรรมและพันธมิตรอื่นๆ

 

ครอบคลุมธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เช่น การขนส่งโลจิสติกส์ สุขภาพ-อนามัย ดิจิตอลแพลตฟอร์ม สมาร์ตแพลตฟอร์ม เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังมีศูนย์ข้อมูลส่วนกลาง และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะที่วางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาคารศูนย์ฯ เพิ่งเปิดอย่างเป็นทางการต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา

 

ปี 2564 ปตท.วางแผนใช้งบประมาณลงทุนเบื้องต้นมากกว่าระดับปกติที่มีการลงทุนปีละประมาณ 80,000 ล้านบาท เนื่องจากมีแผนลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อหาโอกาสในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง และมีแนวโน้มเติบโต เช่น การเข้าสู่ธุรกิจวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นางอรวดีกล่าว

 

ผู้ที่สนใจลงทุนในพื้นที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สูงสุด 13 ปี ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ ภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา 17% ซึ่งต่ำที่สุดในเอเชีย ได้สมาร์ตวีซ่าสำหรับผู้เชี่ยวชาญและครอบครัว พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบในการทำนวัตกรรม มีศูนย์บริการด้านการลงทุนแบบเบ็ดเสร็จในที่เดียวอำนวยความสะดวก

 

เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์พร้อมแล้ว ที่จะเป็นต้นแบบพื้นที่แห่งการพัฒนาระบบอัจฉริยะเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

พรพิมล แย้มประชา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง