มังกรเปิดตัวเทคโนโลยีระดับสูงรอบด้านสำรวจธารน้ำแข็งทิเบต โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ในช่วงหลายปีหลัง จีนได้แสดงให้โลกได้เห็นถึงความก้าวหน้าผ่านนวัตกรรมในหลายด้านมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่ด้านอวกาศ อาทิ การปล่อยจรวด การสร้างสถานีอวกาศ และการสำรวจดวงดาวที่ไกลโพ้น รวมทั้งการใช้เลเซอร์วัดระยะทางระหว่างโลกกับดวงจันทร์ และอื่นๆ อีกมากมาย
การสนับสนุนส่งเสริมในเชิงนโยบายชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อรัฐบาลจีนประกาศยกระดับภาคการผลิตด้วย “New-Quality Productive Force” ที่นำมาสานต่อนโยบาย “Made in China 2025” ซึ่งหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ก็ได้แก่ อุตสาหกรรมอวกาศเชิงพาณิชย์
ขณะเดียวกัน จีนก็ยังพยายามบูรณาการเทคโนโลยีดังกล่าวเข้ากับเทคโนโลยีการสำรวจพื้นผิวโลก และใต้ท้องทะเล เพื่อเพิ่มความแม่นยำและขยายประโยชน์ในวงกว้าง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ได้แก่ การสำรวจธารน้ำแข็งในทิเบตด้วยเทคโนโลยีแบบบูรณาการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่ใช่ข่าวที่คนไทยสนใจมากนัก แต่ถือเป็นข่าวใหญ่ที่เมืองจีน และอาจช่วยทำให้โลกใบนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้นในระยะยาว ...
“ทิเบต” ตั้งอยู่บริเวณ “ตูดไก่” ด้านซีกตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หรือทางตอนเหนือของเทือกเขาหิมาลัย (Himalayas) โดยมีชื่อเต็มว่า “เขตปกครองตนเองซีจ้าง” ด้วยความสูงลิ่วของพื้นที่ทำให้ทิเบตได้รับสมญานามว่าเป็น “หลังคาของโลก” (Roof of the World)
ขณะเดียวกัน ทิเบตมีขนาดในเชิงภูมิศาสตร์ใหญ่กว่าไทยมากกว่า 2 เท่าตัว พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงที่ปกคลุมด้วยธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่หนาวเหน็บ และนี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลมีจำนวนประชากรรวมไม่ถึง 4 ล้านคน
แต่ปัจจุบัน ธารน้ำแข็งดังกล่าวกำลังกลายเป็นพื้นที่วิจัยขนาดใหญ่ที่จีนให้ความสำคัญ และอาจเป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์โดยรวมของโลก
อย่างไรก็ดี ด้วยระดับความสูง อุณหภูมิต่ำ และพื้นที่ที่กว้างใหญ่ รวมทั้งห่างไกลจากแหล่งชุมชน การใช้มนุษย์เดินทางพร้อมอาหารและเครื่องมืออุปกรณ์ไปสำรวจพื้นที่ที่กว้างใหญ่อย่างต่อเนื่องยาวนานจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งในประเด็นความปลอดภัยและการจัดการกับความท้าทายดังกล่าว
ประการสำคัญ แม้ว่าทีมวิจัยจะฟันฝ่ากับความลำบากในการขนเครื่องมือและอุปกรณ์สำรวจขึ้นไปบนเทือกเขาที่มีอากาศเบาบางได้ แต่การสำรวจจากพื้นผิวโลกเพียงมิติเดียวก็อาจทำให้ข้อมูลที่ได้รับขาดความสมบูรณ์
นอกจากนี้ อุณหภูมิที่เย็นจัดก็อาจทำให้เครื่องมืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นไม่สามารถทำงานได้หรือทำงานได้อย่างแม่นยำ เหตุการณ์คล้ายคลึงกันอาจเกิดขึ้นกับโทรศัพท์มือถือเวลาเราไปเยือนบางพื้นที่ของจีนในช่วงฤดูหนาว เช่น เฮยหลงเจียง มองโกเลียใน และซินเจียง
ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวและสภาพอากาศโลกที่รุนแรงและแปรปรวนสุดขั้ว รวมทั้งการต่อยอดจากผลลัพธ์ที่ได้รับ รัฐบาลจีนจึงให้ความสำคัญกับการสำรวจธารน้ำแข็งดังกล่าวอย่างจริงจังและมีประเด็นที่น่าสนใจในหลายส่วน
ประการแรก นี่ไม่ใช่การสำรวจธารน้ำแข็งทั่วไป แต่เป็นธารน้ำแข็งในพื้นที่ราบสูงที่มีชื่อเรียกทางเทคนิคว่าเป็น “ธารน้ำแข็งในทะเล” (Marine Glaciers) หรือบางครั้งเรียกกันว่า “ธารน้ำแข็งอบอุ่น” (Temperate or Warm Glaciers)
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า “ธารน้ำแข็งในทะเล” คืออะไร? คำตอบคือหมายถึง น้ำแข็งตามธรรมชาติขนาดใหญ่ที่อยู่มานานนับพันปีบนผิวของขั้วโลกหรือพื้นที่เทือกเขาสูง โดยมีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ อาทิ มีระดับอุณหภูมิที่สูงกว่าน้ำแข็งทั่วไป ความสามารถแข็งตัวและละลายอย่างรวดเร็วท่ามกลางอากาศที่แปรปรวนและภูมิประเทศที่ซับซ้อน และมีรูปแบบการเคลื่อนตัวไปตามพื้นดินได้อย่างชัดเจน
ประการที่ 2 การสำรวจครั้งนี้ได้บูรณาการเทคโนโลยีอวกาศ-อากาศ-ทะเลเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรกของจีน ข้อมูลจากการเปิดเผยของหัวหน้าทีมวิจัยจากศูนย์สำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้านธรณีฟิสิกส์ทางอากาศและระยะไกลแห่งชาติจีน (The Natural Resources Airborne Geophysical and Remote Sensing Center of China (AGRS) ระบุว่า ทีมงานใช้เฮลิคอปเตอร์ระดับต่ำ (Low Altitude) ที่ติดตั้งอุปกรณ์รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชิ้นใน 2 ด้านของลำตัวในการสำรวจเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นเรดาร์เจาะน้ำแข็งทางอากาศผ่านการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูง (High-Frequency Electromagnetic Waves) ทำให้สามารถระบุความหนาของธารน้ำแข็งและวิเคราะห์โครงสร้างภายในของธารน้ำแข็งที่แตกต่างกันได้
เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวยังมีเครื่องวัดความโน้มถ่วงในอากาศที่มีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของเครื่องมือต่างประเทศ ทำให้มีความสะดวกในการใช้งาน แต่ยังคงรักษาความแม่นยำระดับโลกเอาไว้ได้ ทำให้สามารถวัดความหนาของน้ำแข็งที่แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยได้อย่างสะดวกและแม่นยำ
เครื่องมือสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ถูกใช้ในการสำรวจธารน้ำแข็งในครั้งนี้ก็ได้แก่ ดาวเทียมสำรวจระยะไกลที่เรียกในชื่อภาษาจีนว่า “เกาเฟิน” (Gaofen) จำนวน 2 ดวงได้ถูกนำไปใช้ในการสแกนและถ่ายภาพธารน้ำแข็งที่เกี่ยวข้อง
เมื่อนำไปประกอบกับข้อมูลการตรวจสอบจากภาคอากาศและพื้นดิน ก็ทำให้ได้รับข้อมูลที่มีความครอบคลุมที่กว้างขวางและรายละเอียดที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถกำหนดขอบเขตธารน้ำแข็ง การเปลี่ยนแปลงระดับความสูง และการเคลื่อนที่ของพื้นผิวได้อย่างรวดเร็ว
ประการถัดมา การสำรวจธารน้ำแข็งในครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่สุดหฤโหดและกว้างขวางมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยจุดสำรวจแห่งแรกสำหรับการสำรวจทางอากาศในครั้งนี้ก็ได้แก่ ธารน้ำแข็งเหรินหลงปา (Renlongba Glacier) ในเมืองคามโต (Qamdo) หรือที่เรียกในภาษาจีนว่า “ฉางตู้” (Changdu) ด้านซีกตะวันออกของทิเบต ที่มีความสูงมากกว่า 4,700 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ในแผนงานสำรวจที่ถูกเปิดเผยออกมาระบุว่า หลังการสำรวจเทือเขาเหรินหลงปา เฮลิคอปเตอร์จะเดินทางไปธารน้ำแข็งอื่นที่คาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ราว 1,000 ตารางกิโลเมตรในด้านซีกตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบตในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งจะนำไปประมวลและสรุปผลได้ภายใน 3-4 เดือนหลังจากนั้น
ประการสุดท้าย การสำรวจธารน้ำแข็งดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่กว้างไกลเพื่อความยั่งยืน โดยมุ่งเป้าเพื่อตรวจสอบรูปแบบการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งในทะเล
การผนวกข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูงเข้ากับข้อมูลภูมิประเทศ ทำให้ทีมวิจัยสามารถสร้างแบบจำลองธารน้ำแข็ง 3 มิติที่ครอบคลุมในด้านอวกาศ-อากาศ-พื้นดินได้โดยละเอียด ซึ่งช่วยให้สามารถศึกษาการเคลื่อนที่ของธารน้ำแข็ง จำลองภาพ และสำรวจใต้ผิวน้ำแข็ง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้รับจะช่วยในการจัดทำแผนที่ของธารน้ำแข็งในหลายมิติ อาทิ การกระจายตัว ความหนา และการเปลี่ยนแปลง และโดยที่ธารน้ำแข็งในทะเลเป็นแหล่งน้ำจืดในรูปของแข็งที่มีค่ายิ่งสำหรับมวลมนุษยชาติ ข้อมูลที่ได้ยังสามารถนำไปคำนวณปริมาณน้ำแข็งสำรองจากธารน้ำแข็งที่มีอยู่ วัฏจักรน้ำโลก และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ยกตัวอย่างเช่น การละลายของธารน้ำแข็งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพอากาศ และระดับน้ำทะเล เหมือนที่เราได้ยินข่าวปรากฎการณ์โลกร้อนที่ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลและการเปลี่ยนแปลงของพืชพันธุ์เพิ่มขึ้น และนำไปสู่ความผันผวนของสภาพอากาศโลกที่รุนแรงมากขึ้น
ความรุดหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีแบบบูรณาการและการขยายการสำรวจออกไปในวงกว้าง จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและการควบคุมสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น และช่วยให้เรารู้จักโลกใบนี้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ในระยะยาว ...