นักวิเคราะห์เชื่อ กรณี "เอเวอร์แกรนด์" จะไม่ส่งผลกระทบทั่วโลกเหมือนวิกฤต "เลห์แมน บราเธอร์ส"
เอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 21 กันยายนนี้ระบุว่า แม้จะมีการให้ความเห็นกันมากว่า กรณีวิกฤตหนี้ของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ยักษ์อสังหาฯของจีน อาจกลายเป็นเหมือนกรณีของธนาคาร เลห์แมน บราเธอร์ส ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการเงินไปทั่วโลก หลังวาณิชธนกิจรายนี้ล้มละลายในเดือนกันยายน ปี 2008 แต่นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า จะไม่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากทั้งสองกรณีมีความแตกต่างกันอยู่หลายอย่างมาก
เลห์แมนฯ เป็นธนาคารวาณิชธนกิจขนาดใหญ่ในวอลสตรีท ถือเป็น 1 ใน “บิ๊กไฟว์” ของสหรัฐอเมริกาและของโลก เมื่อถูกปล่อยให้ล้มละลายเพราะภาวะขาดทุนมหาศาลในการปล่อยกู้ ซับ-ไพรม์ นั้น ส่งผลให้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้นในระบบธนาคารและตลาดเงินตลาดทุนไปทั่ว ในขณะที่ทำให้เกิดคนตกงานเฉียบพลันหลายล้านคน
นักวิเคราะห์หลายคนรวมทั้ง แลร์รี ออง จากสำนักวิจัย ซิโนอินไซเดอร์ ระบุว่า กรณีของ เอเวอร์แกรนด์ หนี้เกือบทั้งหมดจำกัดอยู่แค่ในบัญชีของบริษัท ต่างกับกรณีเลห์แมน ที่มีการนำหนี้ไปรวมกันทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นหลักทรัพย์เสนอขายออกไปด้วย ทำให้ปัญหาของเลห์แมนเชื่อมโยงซับซ้อนกับสถาบันการเงินต่างประเทศเป็นจำนวนมาก
แลร์รี ออง เชื่อว่าผลกระทบในทางลบจะวนลูปอยู่ภายในประเทศจีนมากกว่า มีเพียงแต่ผลกระทบด้านจิตวิทยาเท่านั้นที่อาจลุกลามออกไปในหลายๆ ส่วนที่เหลือของโลกได้
ในขณะที่ เอสแอนด์พี บริษัทชั้นนำของโลกในการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 1 ใน 3 บริษัท ยังคงแสดงความเชื่อมั่นว่า ทางการจีนมีแนวโน้มเข้ามาเกี่ยวข้องในกรณีนี้ ถ้าหากรัฐบาลเชื่อว่า จะเกิดการลุกลามกระทบต่อเนื่องออกไปเป็นโดมิโน ทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เหลืออื่นๆ ล้มตามไปด้วย จนอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ
“แต่การล้มเหลวของเอเวอร์แกรนด์เพียงลำพัง ไม่น่าจะยังผลให้เกิดสภาพเช่นที่้ว่านั้นขึ้น” รายงานของเอสแอนด์พีในกรณีนี้ระบุ