รีเซต

สถานการณ์ 'เอเวอร์แกรนด์' คลุมเครือหนัก คาดอีกหลายสัปดาห์กว่าจะรู้ผลลงเอย เฟดชี้ผลกระทบจำกัดอยู่แต่เฉพาะในจีน

สถานการณ์ 'เอเวอร์แกรนด์' คลุมเครือหนัก คาดอีกหลายสัปดาห์กว่าจะรู้ผลลงเอย เฟดชี้ผลกระทบจำกัดอยู่แต่เฉพาะในจีน
มติชน
23 กันยายน 2564 ( 15:02 )
48

รอยเตอร์ รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์วิกฤตหนี้ก้อนมหึมาของกลุ่มบริษัท เอเวอร์แกรนด์ ยักษ์อสังหาริมทรัพย์ของจีน เมื่อวันที่ 23 กันยายนนี้ว่า นายสวี่ เจียยิ่น หรือ ฮุย กา หยาน ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท ได้ทำจดหมายถึงพนักงานของบริษัทอีกครั้งเมื่อตอนดึกของวันที่ 22 กันยายน เรียกร้องให้ บริษัทให้ความสำคัญกับนักลงทุนรายย่อยในจีนที่แห่กันมาลงทุนด้วยการซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนของเอเวอร์แกรนด์นับล้านราย ให้สามารถไถ่ถอนเงินลงทุนของตนเองออกไปให้ได้มากที่สุด ท่ามกลางข้อกังขาที่ยังคงเกิดขึ้นว่า เอเวอร์แกรนด์ จะสามารถชำระดอกเบี้ยตราสารหนี้ออฟชอร์ ที่ครบกำหนดในวันนี้และในสัปดาห์หน้าได้หรือไม่

 

 

จดหมายของนายสวี่ มีขึ้นหลังจากที่ เอเวอร์แกรนด์ ประกาศเมื่อวันที่ 22 กันยายนว่า สามารถแก้ปัญหา การชำระดอกเบี้ยสำหรับพันธบัตรสกุลหยวน ที่ออกจำหน่ายภายในประเทศได้แล้ว ซึ่งส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัท ขยับสูงขึ้นถึง 23 เปอร์เซ็นต์ในการซื้อขายเมื่อวันที่ 23 กันยายน ดึงเอาหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนเพิ่มขึ้นยกแผง และถือเป็นการปรับตัวสูงขึ้นในสัดส่วนสูงที่สุดภายในวันเดียวนับตั้งแต่เอเวอร์แกรนด์เข้าตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงเมื่อปี 2009 อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของเอเวอร์แกรนด์ ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยลดลงมามากถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา

 

 

บริษัทเอเวอร์แกรนด์ ถูกจับตามองจากทั่วโลกตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากยอมรับว่า บริษัทเป็นหนี้มหาศาลถึงอย่างน้อย 305,000 ล้านดอลลาร์ จนกลัวกันว่า จะส่งผลให้ถึงกับล้มละลาย เพราะผิดนัดชำระหนี้ และก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตสินเชื่้อขึ้นในระบบการเงินจีน ซึ่งอาจลุกลามออกไปสู่ระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกได้

 

 

ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีกำหนดต้องชำระดอกเบี้ยพันธบัตรออฟชอร์สกุลเงินดอลลาร์มูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ เป็นเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 23 กันยายนนี้ กับอีก 47.5 ล้านดอลลาร์ ภายในสัปดาห์หน้า โดยที่จดหมายของนาย สวี่ ประธานบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ไม่ได้เอ่ยถึงพันธบัตรออฟชอร์เหล่านี้ไว้เลย

 

 

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความพยายามของนายสวี่ สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันทางการเมืองต่อบริษัท ที่ต้องการให้แก้ปัญหานักลงทุนรายย่อยนับล้านภายในประเทศก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มนักลงทุนเหล่านี้กลายเป็นปัญหาของรัฐบาลจีน นาย เอซีน หู นักวิเคราะห์เครดิตของธนาคารโอซีบีซี ระบุว่า หากแนวทางแก้ไขปัญหาออกมาในรูปของการปรับโครงสร้างหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ใหม่ ก็น่าเชื่อว่า ผู้ที่ถือครองผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนภายในประเทศของเอเวอร์แกรนด์ จะได้รับความสำคัญเป็นลำดับแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้น ส่วนนักลงทุนจากต่างประเทศ คาดว่ายากที่จะได้รับการจ่ายเงินคืน เพราะมีอำนาจต่อรองต่ำกว่า

 

 

นาย ออสการ์ ชอย ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเพื่อการลงทุน ออสการ์แอนด์พาร์ทเนอร์ แคปิตอล เชื่อว่า เอเวอร์แกรนด์ เป็นกังวลกับการก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดทางสังคมขึ้นในจีน จากการที่ไม่สามารถส่งมอบบ้านหรืออสังหาฯที่สร้างเสร็จได้ทันตามเวลา, ไม่สามารถจ่ายค่าจ้างแรงงานก่อสร้าง เป็นต้นมากกว่าอย่างอื่น โดยนักลงทุนรายย่อยจะมีความสำคัญรองลงมา และอาจจะขาดทุนจากการลงทุนของตนมากขึ้น โดยเมื่อแก้ปัญหาเหล่านั้นได้แล้วเท่านั้น จึงจะหันมาต่อรองกับบรรดาเจ้าหนี้อื่นๆ

 

 

นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งเชื่อว่า กรณีเอเวอร์แกรนด์ อาจก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตสภาพคล่องขึ้นทั้งในระบบการเงินของจีนและในต่างประเทศ ทำนองเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อธนาคาร เลห์แมน บราเธอร์ส ของสหรัฐอเมริกาล้มละลายในปี 2008 โดยเกิดความเคลื่อนไหวที่เน้นให้เห็นถึงความพยายามในการลดความเสี่ยงจากการลุกลามของปัญหานี้ขึ้นเมื่อ ไชนีส เอสเตทส์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในบริษัทเอเวอร์แกรนด์ ประกาศเมื่อ 22 กันยายนที่ผ่านมาว่า ได้ขายหุ้น มูลค่า 32 ล้านดอลลาร์ของเอเวอร์แกรนด์ที่บริษัทถือครองอยู่ไปแล้ว และเตรียมจะถอนตัวออกจากการถือหุ้นในเอเวอร์แกรนด์ทั้งหมดอีกด้วย

 

 

นักวิเคราะห์บางคนระบุว่า สถานการณ์ของเอเวอร์แกรนด์ยังคลุมเครืออย่างหนัก โดยบรรดานักลงทุนอาจต้องรออีกนานหลายสัปดาห์กว่าจะรู้ผลลงเอยชัดเจนว่า จะมีการแก้ไขสถานการณ์ของเอเวอร์แกรนด์อย่างไร

 

 

พอล คริสโตเฟอร์ หัวหน้าทีมยุทธศาสตร์โลกของสถาบัน เวลส์ ฟาร์โก อินเวสต์เมนต์ เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ ทั้งในกรณีที่ เอเวอร์แกรนด์ อาจปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมดของตนเอง โดยที่บริษัทอาจคงดำเนินกิจการอยู่ต่อไป หรือไม่ก็เข้าสู่กระบวนการวิควิเดชัน หรือกระบวนการเลิกกิจการโดยการนำเอาทรัพย์สินทั้งหมดออกขายเพื่อชำระบัญชี โดยทั้งสองกรณี นักลงทุนในผลิตภัณฑ์การลงทุนของบริษัทจะต้องแบกรับภาระขาดทุนจำนวนหนึ่ง

 

 

“อย่างไรก็ตาม ในกรณีการเข้าสู่กระบวนการเลิกกิจการ นักลงทุนทั้งที่เป็นชาวจีนและนักลงทุนต่างชาติ อาจเชื่อว่า กรณีนี้อาจส่งผลกระทบลุกลามออกไปนอกประเทศจีนได้” นายคริสโตเฟอร์ระบุ

 

 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายเจอโรม เพาเวลล์ ประธานกองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า กรณีเอเวอร์แกรนด์น่าจะส่งผลกระทบจำกัดเฉพาะแต่ในจีน โดยไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับการลงทุนระหว่างประเทศ มากเท่ากับกรณีของเลห์แมน และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทธุรกิจในสหรัฐอเมริกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง